กฎว่าด้วยความโปร่งใสในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐและนักลงทุน: Transparency Rules
การระงับข้อพิพาททางเลือกโดยการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากความยืดหยุ่นและความสะดวกรวดเร็วรวมไปถึงความสามารถในการรักษาความลับระหว่างคู่ค้า โดยคู่พิพาทนั้นตกลงที่จะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นสัญญาที่คู่พิพาทตกลงร่วมกันให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้สัญญาอนุญาโตตุลาการอาจเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาหลัก หรือเป็นสัญญา อนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ได้
โดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นจะมีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ โดยอาจจะเป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือเป็นคณะบุคคลก็ได้ โดยอนุญาโตตุลาการนั้นมีหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทและมีหน้าที่ทำคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดนี้สามารถนำไปบังคับในต่างประเทศได้ ตราบใดที่ประเทศนั้นเป็นภาคีของอนุสัญญานิวยอร์ก
ทั้งนี้เนื่องจากการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการนั้นมีสาระสำคัญคือ การรักษาความลับโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะชน ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อมูลทางธุรกิจนั้นมักเป็นข้อมูลที่เป็นความลับและมีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ ดังนั้น หากมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
Transparency Rules หรือกฎว่าด้วยความโปร่งใส
ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL ARBITRATION RULES) นั้นเป็นที่นิยมในการนำมาระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศและในปี 2013 United Nations Commission on International Trade Law (UNCITRAL) ได้บังคับใช้กฎว่าด้วยความโปร่งใสในการลงทุนตามสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการของรัฐหรือ UNCITRAL Rules on Transparency in Treaty-based Investor–State Arbitration (“Transparency Rules”) ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2014
กฎว่าด้วยความโปร่งใสนี้เป็นชุดของกฎระเบียบขั้นตอนที่นำไปใช้ในการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐและนักลงทุนตามสนธิสัญญา (หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือ investor-State dispute settlements “ISDS”) และเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้
จุดประสงค์หลักของ Transparency Rules คือเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้แก่รัฐและประชาชนของรัฐที่ได้รับการลงทุนและนักลงทุนชาวต่างชาติ ทั้งนี้เนื่องมาจากการลงทุนในระดับชาตินั้นมักเป็นที่ได้รับความสนใจของสาธารณชน เพราะเหตุผลทางด้านภาษีรวมไปถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกฎว่าด้วยความโปร่งใสนี้เปิดโอกาสให้สาธารณะสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ ทั้งนี้ประชาชนและนักลงทุนสามารถเข้าถึงและสามารถตรวจสอบการทำงานดังกล่าวได้
กฎว่าด้วยความโปร่งใสนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2014 โดยมีผลบังคับใช้สำหรับสัญญาที่คู่สัญญาและผู้ลงทุนทำขี้นหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2014 ในส่วนของสัญญาที่ได้ขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2014 นั้น กฎว่าด้วยความโปร่งใสนี้สามารถบังคับได้หากคู่สัญญาหรือคู่พิพาทตกลงกันนำหลักว่าด้วยความโปร่งใสมาใช้บังคับกับสัญญาของตน แต่อย่างไรก็ตาม คู่สัญญานั้นไม่สามารถปฏิเสธการใช้กฎว่าด้วยความโปร่งใสได้อย่างเด็ดขาดหากได้มีการระบุไว้ในสัญญา ยกเว้นเสียแต่ว่าสนธิสัญญาว่าด้วยการลงทุนจะอนุญาตให้ทำเช่นนั้น ทั้งนี้ คู่สัญญาของ ISDS นั้นสามารถตัดสินใจที่จะใช้กฎว่าด้วยความโปร่งใสนี้ได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสนธิสัญญาการลงทุนนั้นก็ตาม
นอกเหนือไปจากนี้ บุคคลที่สาม หรือ amicus curiae และคู่สัญญาที่ไม่ได้อยู่ในสนธิสสัญญาสามารถยื่นเรื่องภายใต้กฎว่าด้วยความโปร่งใสได้ตามที่กฎเกณฑ์ระบุไว้ในสนธิสัญญา
สิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะภายใต้ Transparency Rules
ภายใต้ Transparency Rules นี้ ข้อมูลและเอกสารในกระบวนการอนุญาโตตุลาการจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะโดยที่ยังอยู่ภายใต้การคุ้มครองและหลักการปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับ อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนของคำขอเริ่มต้นคดีหรือ notice of arbitration นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดเผยชื่อของคู่พิพาท ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงสนธิสัญญาที่พิพาทอีกด้วย
นอกเหนือไปจากนี้ เมื่อมีการเผยแพร่นั้น สิ่งที่จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะนั้นจะประกอบไปด้วย notice of arbitration, คำตอบรับต่อ notice of arbitration รวมไปถึงคำร้อง (statement of claim) , คำโต้แย้ง ( statement of defence) , ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมหรือการส่งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายที่โต้แย้ง, ตารางชี้แจงเอกสารทั้งหมดหากได้มีการจัดทำไว้โดยคู่สัญญา การยื่นคำร้องโดยบุคคลที่สามหรือบุคคลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญา สำเนาการพิจารณา คำสั่ง การตัดสินใจและคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ดี รายงานของผู้เชี่ยวชาญและคำเบิกความของพยานนั้นจะมีการเผยแพร่ได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องขอซึ่งต้องได้รับการรักษาความลับ
การพิจารณานั้นจะเปิดต่อสารณะชนภายใต้การรักษความลับหรือการไม่มีกระทบต่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ จะต้องมีการปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับ อีกทั้งยังต้องแน่ใจว่าคำร้องต่าง ๆ นั้นจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการและส่งผลเสียต่อคู่พิพาทอย่างไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม กฎว่าด้วยความโปร่งใสนี้จะไม่ใช่กับอนุญาโตตุลาการทางการพาณิชย์ทั่วไป แต่จะใช้กับกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐและนักลงทุนตามสนธิสัญญาตาม ISDS เท่านั้น
ที่มา:
- https://www.kwm.com/en/au/knowledge/insights/how-far-should-transparency-in-international-commercial-arbitration-go-20180412
- https://www.iisd.org/projects/transparency-and-uncitral-arbitration-rules
- https://uncitral.un.org/en/texts/arbitration/transparency/faqs
- https://www.ashurst.com/en/news-and-insights/insights/icca-transparency-in-investment-arbitration-australia-180412/
- http://dspace.bu.ac.th/bitstream/123456789/1653/1/Hataichanok.Chob.pdf