กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐแบบใหม่ภายใต้ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป – อังกฤษ
หลังจากระยะเวลายาวนานกว่าสี่ปีนับแต่การลงคะแนน Brexit และเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงการสิ้นสุดข้อตกลงในการถอนตัวระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป วันที่ 24 ธันวาคม 2020 สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรได้บรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ (Trade and Cooperation Agreement (TCA)) ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว ณ วันที่ 1 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา[1] โดยที่ข้อตกลง TCA นี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐานสำหรับการเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีความทะเยอทะยานและสมดุล ทั้งนี้รวมไปถึงการเตรียมการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า การควบคุมด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมไปถึงการจัดซื้อจัดการสาธารณะด้วย
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ TCA จัดเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศและการตีความสนธิสัญญานี้จะอยู่ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น โดยไม่ใช่การตีความภายใต้กฎหมายภายในของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปหรือกฎหมายของสหราชอาณาจักร[2]
นอกเหนือไปจากนี้ กระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นก็เป็นส่วนที่ละเอียดอ่อนส่วนหนึ่งในการเจรจา TCA เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปหรือ Court of Justice of the EU หรือ CJEU นั้นจะสิ้นสุดลงและไม่มีบทบาทใด ๆ ในกระบวนการนี้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สหราชอาณาจักรยืนกราน
ภาพรวมของกลไกการระงับข้อพิพาท EU-UK ใหม่
สำหรับข้อกำหนดในการระงับพิพาทนั้นมีระบุไว้ในส่วนที่ 6 ของ TCA ทั้งนี้ควรศึกษาไปร่วมกับภาคผนวกซึ่งแยกออกมาต่างหากซึ่งเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจนี้ การระงับข้อพิพาทภายใต้ TCA นี้เป็นกลไกพิเศษซึ่งหมายความว่าศาลของทั้งสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะไม่มีเขตอำนาจในการระงับข้อพิพาทภายใต้ TCA ทั้งนี้ TCA นั้นได้ระบุขั้นตอนเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทภายใต้ TCA รวมไปถึงข้อตกลงเพิ่มเติมใด ๆ ได้แก่ 1. การให้คำปรึกษา (Consultation) และ 2. การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ตามมาด้วยขั้นตอนการปฎิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Phase) และขั้นตอนการตรวจสอบ (Review Phase)
ระยะที่ 1 การให้คำปรึกษา (Consultation)[3]
ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปซึ่งเป็น “คู่สัญญา” (Parties) ไม่ว่าจะเป็น”ผู้ร้อง”(Complaining Party) หรือ “ผู้ถูกร้อง” (Responding Party) มีความผูกพันที่จะต้องเข้ารับกระบวนการให้คำปรึกษาโดยความสุจริตโดยมีประสงค์เพื่อให้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยที่การให้คำปรึกษานี้จะได้ข้อสรุปภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ส่งคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้ถูกร้อง เว้นแต่ว่าคู่สัญญาจะได้ตกลงกันให้ดำเนินการให้คำปรึกษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากกรณีพิพาทเป็นเรื่องเร่งด่วน อาทิเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสินเค้าเน่าเสียง่ายหรือสินค้าตามฤดูกาล ระยะเวลาสรุปการให้คำปรึกษานี้จะลดลงเหลือเพียง 20 วัน และผู้ถูกร้องมีภาระที่จะต้องตอบรับภายในระยะเวลาไม่เกินกว่า 10 วันหลังจากวันที่ส่งคำร้อง
ทั้งนี้การปรึกษาหารือและข้อมูลทั้งหมดที่นำไปใช้ระหว่างนั้นเป็นความลับและไม่กระทบต่อสิทธิของคู่สัญญาในการดำเนินการใด ๆ ต่อไป
ระยะที่ 2. การอนุญาโตตุลาการ[4]
การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
- ฝ่ายของผู้ถูกร้องไม่ตอบรับภายในระยะเวลา 10 วันข้างต้น
- การให้คำปรึกษาไม่ได้จัดขึ้นภายใต้กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น
- การให้คำปรึกษานั้นได้ข้อสรุปแต่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายได้
- คู่สัญญาตกลงที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษา (Consultation) ดังนั้นในกรณีนี้คู่สัญญาสามารถเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ทันที
การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นเริ่มต้นโดยการทำคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรโดย
- ระบุถึงมาตรการที่เป็นปัญหา และ;
- อธิบายว่าเหตุใดมาตรการดังกล่าวถึงละเมิดกฎหมายหรือบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างไรในลักษณะที่เพียงพอที่จะร้องเรียนได้ตามกฎหมาย
คณะอนุญาโตตุลาการจะประกอบไปด้วยอนุญาโตตุลาการอิสระทั้งหมดสามคน[5] โดยที่หนึ่งในนั้นจะดำรงตำแหน่งประธาน ซึ่งบุคคลดังกล่าวที่จะเป็นประธานนั้นต้องมีประสบการณ์ในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วย นอกจากนี้ อนุญาโตตุลาการแต่ละคนต้องมีความเชี่ยวชาญด้วยกฎหมายและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องเฉพาะทางตามที่ได้ตามที่ระบุไว้ให้ TCA ด้วย[6] นอกเหนือไปจากนี้ TCA ยังได้ระบุไว้ว่า อนุญาโตตุลาการทุกคนจะต้อง “มีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการระดับสูงในประเทศของตนหรือเป็นผู้ที่เป็นคณะตุลาการที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ”[7][8]
ภายใต้ TCA นั้นคณะอนุญาโตตุลาการมีระยะเวลาในการดำเนินการออกคำชี้ขาดถึง 160 นับจากวันที่แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ[9] โดยคำชี้ขาดนั้นจะเป็นเอกฉันท์หรือมาจากเสียงข้างมากก็ได้[10]
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นมีผลผูกพัน[11]ต่อทั้งสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรด้วย ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะเปิดเผยคำชี้ขาดนั้นต่อสาธารณะภายใต้การคุ้มครองข้อมูลที่เป็นความลับ[12]
ที่มา:
https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/future-relationship-dispute-resolution
[1] ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ชั่วคราวจนกว่ารัฐสภายุโรปหรือ European Parliament จะให้ความยินยอม
[2] Part 1, Title II, Article COMPROV.13 และ Article COMPROV.16
[3] Part 6, Title 1, Chapter 2, Article INST.13
[4] Part 6, Title 1, Chapter 2, Article INST.14
[5] Part 6, Title 1, Chapter 2, Article INST.15(1)
[6] Part 6, Title 1, Chapter 2, Article INST.16(1)(a)
[7] possess the qualifications required for appointment to high judicial office in their respective countries or who are jurisconsults of recognised competence
[8] Part 6, Title 1, Chapter 2, Article INST.16(2)
[9] Part 6, Title 1, Chapter 2, Article INST.20(4)
[10] Part 6, Title 1, Chapter 4, Article INST.29(1)
[11] Part 6, Title 1, Chapter 4, Article INST.29(2)
[12] Part 6, Title 1, Chapter 4, Article INST.29(5)