กลไกการระงับข้อพิพาทในข้อตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร
การระงับข้อพิพาทหรือ dispute resolution, dispute settlement นั้นเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทซึ่งมีได้หลากหลายวิธี เช่น การระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการศาล การไกล่เกลี่ย หรือกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ในการระงับข้อพิพาทภายในประเทศนั้น รัฐสภาของรัฐนั้นสามารถออกกฎหมายซึ่งศาลจะเป็นผู้ตีความ ใช้ และบังคับใช้กฎหมายในรัฐของตน อย่างไรก็ตามการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐนั้นจะมีความซับซ้อนมากกว่า ทั้งนี้เพราะรัฐนั้นเป็นอธิปไตย ดังนั้นการนำคำพิพากษาที่ออกในรัฐหนึ่งไปบังคับใช้ต่อรัฐอื่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้นรัฐจึงเลือกที่จะสร้างกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐในลักษณะของสนธิสัญญา (treaty) เพื่อให้สามารถใช้ ตีความ และบังคับใช้ระหว่างรัฐภาคีได้ โดยสนธิสัญญานั้นสามารถตั้งกลไกระงับข้อพิพาท เช่น การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือการนำข้อพิพาทขึ้นเป็นความต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Court of Justice – ICJ
การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษซึ่งรวมถึงเวลส์ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือที่เรียกกันว่า Brexit นั้น ได้สิ้นสุดระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับข้อพิพาทระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรและฝ่ายต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป ซึ่งการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษนี้เป็นการยุติเขตอำนาจศาลโดยตรงของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (the Court of Justice of the European Union – CJEU) ที่มีต่อสหราชอาณาจักร นอกเหนือไปจากนี้ หลังจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรจะไม่มีคณะผู้พิพากษาอยู่ใน CJEU อีกต่อไป และไม่สามารถลงคะแนนเสียงหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีของศาลได้อีกต่อไป นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลสหราชอาณาจักรในด้านกฎหมายของสหภาพยุโรปจะไม่เกี่ยวข้องกับระบบตุลาการของ EU27 อีกต่อไป สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจึงมีความจำเป็นต้องตกลงกันในเรื่องของการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ
จากสถิติในปี 2019 นั้น สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ในปี 2019 การส่งออกของสหราชอาณาจักรไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่า 294 พันล้านปอนด์ (43% ของการส่งออกในสหราชอาณาจักรทั้งหมด) การนำเข้าของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปอยู่ที่ 374 พันล้านปอนด์ (52% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหราชอาณาจักร) ในด้านการบริการนั้นคิดเป็น 42% ของการส่งออกของสหราชอาณาจักรไปยังสหภาพยุโรปในปี 2019 บริการทางการเงินและบริการทางธุรกิจอื่น ซึ่งรวมถึงกฎหมาย การบัญชี การโฆษณา การวิจัยและพัฒนา สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และบริการทางวิชาชีพและทางเทคนิคอื่น ๆ เป็นหมวดหมู่ที่สำคัญของการบริการที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
ในช่วงก่อนระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน Brexit นั้น ได้มีข้อตกลงทั้งหมดสองฉบับที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ได้แก่ ข้อตกลงการถอนตัว หรือ Withdrawal Agreement (WA) ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังจากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 มกราคม 2020 และข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร (EU-UK Trade and Cooperation Agreement – TCA ) มีผลบังคับใช้หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน Brexit เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ข้อตกลงทั้งสองฉบับกำหนดกรอบการทำงานเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการและกลไกในการแก้ไขข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักร
ภายใต้ TCA นั้นได้มีการจัดตั้งสภาการความร่วมมือ (Partnership Council ) สหราชอาณาจักร-สหภาพยุโรป เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของข้อตกลงในระดับการเมือง โดยกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ สภาความร่วมมือนี้จะมีรัฐมนตรีรัฐบาลสหราชอาณาจักรและคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นประธาน การตัดสินใจจะกระทำโดยความยินยอมร่วมกันและจะมีผลผูกพันทั้งสองฝ่าย สภาความร่วมมือจะประชุมกันอย่างน้อยปีละครั้ง พบกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถอ้างถึงปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการหรือการตีความ TCA และข้อตกลงเพิ่มเติมไปยังสภาความร่วมมือซึ่งจะมีอำนาจในการตัดสินใจและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศนี้
ข้อตกลง TCA ได้มีการกำหนดข้อตกลงพิเศษในด้านต่าง ๆ เช่น การค้าสินค้าและบริการ การค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การบินและการขนส่งทางถนน พลังงาน การประมง ประกันสังคม การประสานงาน การบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือด้านตุลาการในคดีอาญา ความร่วมมือเฉพาะเรื่อง และการมีส่วนร่วมในโครงการสหภาพแรงงาน ได้รับการสนับสนุนโดยบทบัญญัติที่สร้างความมั่นใจในการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของทั้งสองฝ่าย และถึงแม้ว่าข้อตกลง TCA จะมีความแตกต่างจากเมื่อครั้งที่สหราชอาณาจักรยังเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือมีมากกว่าข้อตกลงการค้าเสรีแบบดั้งเดิมและเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการรักษามิตรภาพและความร่วมมือที่มีมายาวนานทั้งสองฝ่าย
ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือได้ลงนามเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2020 มีผลบังคับใช้ชั่วคราว ณ วันที่ 1 มกราคม 2021 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2021
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
กลไกระงับข้อพิพาทภายใต้ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ – Trade and Cooperation Agreement
กลไกการระงับข้อพิพาทนั้นได้มีการกำหนดไว้ในPart 6 ของ TCA โดยรวมถึงการนำกรณีพิพาทขึ้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการอิสระ (independent arbitration tribunal) ซึ่งประกอบด้วยผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสหราชอาณาจักร ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสหภาพยุโรป และประธานคณะอนุญาโตตุลาการที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งกลไลการระงับข้อพิพาทในส่วนที่ 6 นี้จะถูกนำไปใช้ในกรณีพิพาทส่วนใหญ่ของPart 2 ใน TCA ซึ่งครอบคลุมการค้า การขนส่ง การประมงและการจัดการอื่น ๆ รวมถึงข้อพิพาทใน Part 5 ซึ่งครอบคลุมการเข้าร่วมในโครงการของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี การระงับข้อพิพาทในPart 6นี้จะไม่ครอบคลุมถึงการระงับข้อพิพาทใน Part 3 ซึ่งครอบคลุมการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านตุลาการในเรื่องอาชญากรรม ซึ่งมีกลไกเฉพาะของตนเอง และส่วนที่ 4 ครอบคลุมถึงความร่วมมือเฉพาะเรื่อง นอกเหนือไปจากนี้ยังไม่ครอบคลุมในส่วนของ Part 2 ซึ่งมีรูปแบบและข้อยกเว้นต่าง ๆ ในการระงับข้อพิพาททางการค้าบางกรณี
TCA เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศและการตีความจะอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่กฎหมายภายในของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่ง (กฎหมายของสหภาพยุโรปหรือกฎหมายของสหราชอาณาจักร) และสำหรับศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (CJEU) นั้นจะไม่มีบทบาทในบทบัญญัติการระงับข้อพิพาท บทบัญญัติของ TCA จะได้รับการตีความตามกฎหมายระหว่างประเทศสาธารณะ (public international law) รวมถึงอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยสนธิสัญญา 1969 (Vienna Convention on the Law on Treaties 1969)
ใน Part 3 ของ TCA นั้นมีขั้นตอนการระงับข้อพิพาทที่แยกต่างหากจาก Part อื่น ๆ ซึ่งใน Part 3 นี้ใช้เฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านตุลาการในเรื่องอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะ สหราชอาณาจักรฝ่ายหนึ่ง กับสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านตุลาการระหว่างประเทศสมาชิกและสหภาพยุโรป หน่วยงาน สำนักงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ฝ่ายหนึ่ง และสหราชอาณาจักรอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการป้องกัน การสอบสวน กาจับกุมและการดำเนินคดีความผิดทางอาญาและการป้องกันและต่อต้านการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย
นอกเหนือไปจากนี้ หนึ่งในเป้าหมายหลักของ TCA คือการบรรลุการรักษาความสมดุลของสภาพอากาศภายในปี 2050 ด้วยวัตถุประสงค์นี้ TCA จึงได้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงบทบัญญัติการไม่ถดถอย (non-regression provision) กลไกการปรับสมดุลและกลไกระงับข้อพิพาทด้วย ซึ่งตาม TCA นี้จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของ TCA ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายใดละเมิด อาจนำไปสู่การระงับ TCA ได้ ซึ่งสามารถบอกเป็นนัยได้ว่าภาคีทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งในกรณีที่เกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง TCA ได้กำหนดมาตรการป้องกัน (Safeguard Measure) ซึ่งคู่พิพาทสามารถนำไปใช้ได้เพียงฝ่ายเดียว (unilaterally) หลังจากการปรึกษาหารือ (consultations) เบื้องต้นระหว่างทั้งสองฝ่าย ในกรณีที่มาตรการ safeguard ที่ใช้นั้นเกิดความไม่สมดุล นอกเหนือไปจากนี้ หากมีปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวกับ safeguard คู่พิพาทอาจเลือกใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการได้
- การปรึกษาหารือ (Consultations)
- การปรึกษาหารือ “โดยสุจริต” ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเมื่อฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งละเมิดข้อตกลง จัดขึ้นในสภาความร่วมมือหรือคณะกรรมการที่เหมาะสม
- ระยะเวลาให้คำปรึกษา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ คู่กรณีสามารถตกลงที่จะขยายเวลาได้
- อนุญาโตตุลาการ (Arbitration)
- คณะอนุญาโตตุลาการ: อนุญาโตตุลาการสามคน
- จัดตั้งขึ้นภายใน 10 วันนับจากวันที่ร้องขอ
- ให้คำวินิจฉัย ( binding ruling) มีผลผูกพันภายใน 130 วัน (160 วันหากขอขยายระยะเวลา) และกำหนดมาตราชั่วคราว (Interim measure) ภายใน 100 วัน (130 วันหากขอขยายระยะเวลา) ซึ่งจะกลายเป็นวินิจฉัยไม่มีฝ่ายใดขอให้ตรวจสอบ
- หากมีการตกลงดำเนินการอย่างเร่งด่วน ระยะเวลาที่ใช้จะลดลงครึ่งหนึ่ง
- การตีความเป็นไปตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
อนุญาโตตุลาการจะประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการอิสระสามคน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะนั่งเป็นประธาน อนุญาโตตุลาการแต่ละคนต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการค้าระหว่างประเทศ (รวมถึงเรื่องเฉพาะที่อยู่ภายใต้ TCA) และประธานต้องมีประสบการณ์ในกระบวนการระงับข้อพิพาท TCA ยังระบุด้วยว่าอนุญาโตตุลาการทุกคนต้อง “มีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการระดับสูงในประเทศของตนหรือเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ”
- วิธีแก้ไขสำหรับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด
- ฝ่ายผู้ถูกร้องมีเวลา 30 วันในการกำหนดมาตรการปฏิบัติตาม (compliance measures)
- หากผู้ถูกร้องไม่ปฏิบัติตาม ผู้ร้องสามารถขอค่าชดเชยหรือระงับภาระผูกพันภายใต้ TCA ได้ ซึ่งอาจรวมถึงการตอบโต้ข้ามการค้า การบิน การขนส่งทางบก และการประมง หากสถานการณ์รุนแรงเพียงพอ และการระงับบทบัญญัติในเรื่องเดียวกันนั้นจะประสบผลสำเร็จ
- ศาลสามารถตัดสินว่าระดับการระงับเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ และขั้นตอนใดๆ ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนด
- การระงับจะถูกยกเลิกหากปฏิบัติตามข้อกำหนดแล้ว
มาตรการตอบโต้
ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล (tribunal ruling) ฝ่ายที่ร้องเรียนสามารถใช้มาตรการตอบโต้ที่เกี่ยวกับการระงับภาระผูกพันชั่วคราว (suspension of obligations) ภายใต้ข้อตกลงนี้ ซึ่งในบางกรณีนั้นการระงับภาระผูกพันชั่วคราวสามารถใช้ได้ฉพาะในชื่อหรือหัวเรื่องเดียวกันกับ TCA เท่านั้น (same title or heading of the TCA) ในกรณีที่การละเมิดนั้นเกิดขึ้นภายใต้ Part 2 ของ TCA ซึ่งได้แก่ การค้า การบิน การขนส่งทางบก และการประมง นั้นอาจจะมีมาตรการตอบโต้ระหว่างหัวข้อ (cross-retaliation) ได้หากสถานการณ์นั้นมีความรุนแรงและระงับข้อพิพาทภายใต้หัวข้อนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบโต้ระหว่างหัวข้อนั้นควรอยู่ในระดับเดียวกันกับความเสียหายที่เกิดจากการละเมิด ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องสามารถให้ศาลพิจารณาได้ว่าการระงับชั่วคราวนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการระงับชั่วคราวนี้จะถูกยกเลิกหากว่าได้มีการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแล้ว
ที่มา :
https://commonslibrary.parliament.uk/governing-the-new-uk-eu-relationship-and-resolving-disputes/
https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-9139/CBP-9139.pdf
https://www.jurist.org/commentary/2021/01/elliot-winter-eu-uk-trade/
https://www.epc.eu/content/PDF/2020/9_Trade_and_settling.pdf
https://www.ons.gov.uk/economy/nationalaccounts/balanceofpayments/bulletins/uktrade/june2021
https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-7851/CBP-7851.pdf