กลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน
สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ The Association of Southeast Asian Nations ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “อาเซียน (ASEAN)” นั้นเป็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์เพื่อจัดตั้งเวทีความร่วมมือและเพื่อประสานผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งประกอบไปด้วย บรูไนดารุสซาลาม, พม่า, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ลาว, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม
กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ Charter of the Association of Southeast Asian Nations ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) หรือธรรมนูญอาเซียน นั้นมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ซึ่งผลของกฎบัตรอาเซียนนี้ทำให้อาเซียนมีสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์และมีลักษณะที่เปรียบเสมือนกับรัฐธรรมนูญของอาเซียนและทำให้อาเซียนมีลักษณะเป็นนิติบุคคลในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล หรือ Intergovernmental Organization ทั้งนี้ กฎบัตรอาเซียนตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่แทรกแซงกิจการภายใน รวมไปถึงการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
ในส่วนของการระงับข้อพิพาทในภูมิภาคอาเซียนนั้น ได้ถูกระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียนหมวด 8 ว่าด้วยการระงับข้อพิพาท ซึ่งข้อ 22 นั้นได้วางหลักเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททั่วไปว่า 1. รัฐสมาชิกต้องพยายามที่จะระงับข้อพิพาททั้งปวงอย่างสันติให้ทันท่วงทีโดยผ่านการสนทนา (dialogue) การปรึกษาหารือ (Consultation) และการเจรจา (Negotiation)[1] ทั้งนี้ ภายใต้ข้อ 23 ของกฎบัตรอาเซียนได้วางหลักให้รัฐสมาชิกที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทอาจจะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ที่จะใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ โดยอาจร้องขอให้ประธานอาเซียน หรือเลขาธิการอาเซียน[2]ทำหน้าที่ในการประนีประนอม และการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน[3] นอกเหนือไปจากนี้ข้อ 24 นั้นได้วางหลักเกี่ยวกับกลไกการระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะของอาเซียนโดยมีระบบและขั้นตอนการดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในตราสารนั้น ๆ อยู่แล้ว และหากไม่มีการจัดหาไว้โดยเฉพาะในตราสารใด ๆ ข้อ 25 นั้นได้มีการวางหลักให้มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวมไปถึงการอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้กฎบัตรนี้ และตราสารอาเซียนอื่น ๆ[4] ซึ่งเป็นการนำมาซึ่งการจัดทำพิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท ซึ่งปรากฏอยู่ในตราสารสามฉบับหลัก ได้แก่
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
1.กลไกการระงับข้อพิพาทตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ. 1976 (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC 1976)
ก่อนการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนนั้น อาเซียนได้มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางด้านเศรษฐกิจไว้รองรับแล้ว ซึ่งได้แก่สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ค.ศ. 1976 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TAC โดยที่ TAC นี้มีหลักห้ามมิให้รัฐสมาชิกคุกคามหรือใช้กำลังต่อกันและกัน และวางหลักให้รัฐสมาชิกระงับข้อพิพาทโดยการเจรจาตกลงกัน ซึ่งหากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ รัฐสมาชิกคู่กรณีอาจร่วมกันยื่นขอให้คณะมนตรีของสภาสูงหรือ High Council พิจารณาหรือเสนอแนวทางที่เหมาะสมเพื่อระงับข้อพิพาท โดยคณะมนตรีของ High Council อาจเสนอตัวที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ (good offices) ประนีประนอม (mediation) ไต่สวน (inquiry) หรือไกล่เกลี่ย (conciliation) ได้
2.กลไกการระงับข้อพิพาทตามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ค.ศ. 2004 (ASEAN Protocol on the Enhanced Dispute Settlement Mechanism: EDSM 2004)
พิธีสาร EDSM จัดทำขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อทดแทนพิธีสารว่าด้วยกระระงับข้อพิพาท TAC ซึ่งพิธีสาร EDSM เป็นสนธิสัญญาในการระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ มีขอบเขตครอบคลุมถึงความตกลงด้านเศรษฐกิจของอาเซียนและความตกลงที่ปรากฏในบัญชีแนบท้ายพิธีสาร ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถฟ้องร้องโดยใช้กระบวนการดังกล่าวได้หากเห็นว่าสิทธิของตนถูกกระทบ เช่น ประเทศสมาชิกอื่นมาตรการที่จัด[5]ต่อความตกลงฯที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของพิธีสาร เช่น สมาชิกเห็นว่าผลประโยชน์ของตรอาจถูกละเมิดหรือทำให้เสียหาย อันเนื่องมาจากการกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิกอื่น เป็นต้น
พิธีสาร EDSM มีแม่แบบมาจากระบวนการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจขององค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) โดยอาเซียนนั้นได้ลอกแบบมาจาก DSU (Understanding on Rules and Procedure Governing the Settlement of Disputes) ซึ่งมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) และองค์กรอุทธรณ์ ( Appellate Body) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกหาทางระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยวิธีอื่น ๆ ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีระงับของคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็น การใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ(Good Offices) การประนีประนอม (Conciliation) และการไกล่เกลี่ย (Mediation) ทั้งนี้เพราะเมื่อคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์มีข้อตัดสินออกมาแล้ว ประเทศสมาชิกก็ต้องปฎิบัติตามข้อตัดสินนั้น
ทั้งนี้ EDSM นั้นมีความแตกต่างจากกฎหมายแม่แบบของ WTO หลายประการ เช่น เรื่องของกรอบเวลาปฏิบัติงานของผู้พิจารณา EDSM นั้นมีกรอบระยะกำหนดไว้โดยชัดเจน กล่าวคือ ไม่เกิน 445 วัน โดยมีหลักการและกระบวนการโดยสรุป ดังนี้
- ประเทศสมาชิกยื่นขอหารือกับประเทศคู่พิพาทเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกผู้ยื่นคําร้อง ต้อง ระบุถึงมาตรการที่เป็นเหตุของข้อพิพาทและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายที่ถูกขอหารือจะต้องตอบคําขอภายใน 10 วันและจัดให้มีการหรือภายใน30 วันหลังจากได้รับคําขอหากไม่มีการหารือภายใน30 วันหรือมีการหารือแล้วไม่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ภายใน 60 วัน ขั้นต่อไปประเทศที่ยื่นขอหารือสามารถขอให้ตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพื่อ พิจารณาตัดสินข้อพิพาทได้
- ประเทศสมาชิกที่แพ้คดีจะต้องปฏิบัติตามคําตัดสินของคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์ทันที หรือภายใน 60 วัน หรือภายในระยะเวลายาวกว่านั้น ตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกัน หากไม่สามารถทําได้จะต้องเจรจากับประเทศ สมาชิกที่ชนะคดีเพื่อให้การชดเชยที่เหมาะสม หากไม่สามารถตกลงกันได้ ประเทศสมาชิกที่ชนะคดีอาจขอให้ที่ประชุม SEOM อนุญาตให้ระงับการให้ข้อลดหย่อนหรืองดเว้นการให้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการตอบโต้ประเทศสมาชิกที่แพ้คดี
- หากประเทศสมาชิกที่แพ้คดีเห็นว่า ระดับการตอบโต้ไม่เหมาะสม หรือตนได้ปฏิบัติตามคํา
ตัดสินแล้ว ก็มีสิทธิขอให้อนุญาโตตุลาการ (คณะผู้พิจารณาในคดีเดิม) พิจารณาประเด็น
ดังกล่าวได้ โดยจะต้องทําคําตัดสินเรื่อง ดังกล่าวภายใน 60 วัน
ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่เคยมีการฟ้องร้องกันภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทนี้เลย ทั้งนี้อาจเพราะไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของการบังคับใช้พิธีสารดังกล่าว และแม้ว่าจะเคยมีกรณีพิพาทระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียในเรื่องของการห้ามนำเข้าพลาสติกเรซิน แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่สามารถดำเนินการกันเองได้ จึงต้องพึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO แทน
ต่อมาในช่วงที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2019 นั้น ประเทศไทยได้ผลักดันการดำเนินการในประเด็นสำคัญภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จนได้ข้อสรุป คือ การลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง โดยได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมีความชัดเจนมากขึ้น และยังมียังมีการเพิ่มเติมบัญชีรายชื่อความตกลงด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ของอาเซียน เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น และยังได้มีการเพิ่มเติมหลักการ “กระบวนการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกที่เป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” ได้แก่ประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชา ทั้งนี้ได้มีการแก้ไขสาระสำคัญ กล่าวคือ การทบทวนขอบเขตและเงื่อนไขในการฟ้องร้องให้ชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มเติมเรื่องความยืดหยุ่นในเรื่องระยะเวลากับคณะผู้พิจารณา รวมถึงการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกฝ่ายที่สาม (Third Parties) กล่าวคือ ผู้ที่อยากเข้ามาร่วม สามารถร้องเข้ามาในชั้นคณะผู้พิจารณา (Panel) ได้แต่ต้องมีผลประโยชน์ที่สาคัญ (substantial interest) เกี่ยวกับข้อพิพาท อีกทั้งยังแก้ไขในส่วนของระยะเวลาการพิจารณาและการอนุญาโตตุลาการ รวมถึงการปรับปรุงภาคผนวกในพิธีสาร และการมีกลไกในการให้ความช่วยเหลือในด้านกฎหมายต่อประเทศสมาชิก ซึ่งพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ประเทศสมาชิกทั้งหมดได้แจ้งสานักเลขาธิการอาเซียนว่าได้เสร็จสิ้นกระบวนการภายในที่จาเป็นต่อการบังคับ ใช้พิธีสารฯ ฉบับนี้
3.กลไกการระงับข้อพิพาทตามพิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท ค.ศ. 2010 (Protocol to the ASEAN Charter on Dispute Settlement Mechanism: DSMP 2010)
พิธีสารฯ นี้จัดตั้งขึ้นการประชุมสุดยอดอาเซียนหรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2010 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเนื้อหาหลักของพิธีสารฯ คือการระบุให้มีการระงับข้อพิพาทโดยสันติ ตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ของกฎบัตรอาเซียนอย่างละเอียด ซึ่งมาตรา 25 ของกฎบัตรอาเซียนได้ทำการวางหลักไว้ว่า ในกรณีที่มิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อ พิพาทที่เหมาะสม รวมถึงการอนุญาโตตุลาการ สําหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้กฎบัตรนี้และตราสารอาเซียนอื่น ๆ โดยวิธีการต่าง ๆ นั้นได้แก่ การใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม การไกล่เกลี่ย รวมถึงการ ใช้อนุญาโตตุลาการด้วยโดยรัฐคู่กรณีสามารถขอให้ประธานอาเซียนหรือเลขาธิการอาเซียนทำหน้าที่เป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ ประนีประนอม หรือไกล่เกลี่ยได้ และหากกลไกการระงับข้อพิพาทดังกล่าว ข้างต้นไม่สามารถบรรลุผลได้ รัฐคู่กรณีสามารถนาเรื่องเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ซึ่งเป็นกลไกการตัดสินใจข้อพิพาทสูงสุดของอาเซียนได้เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐคู่กรณีฝุายใดฝุายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคา ตัดสิน (Non-compliance) รัฐคู่กรณีอีกฝุายก็มีสิทธิยื่นเรื่องต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนให้พิจารณาได้เช่นกัน
DSMP ประกอบด้วยเอกสารแนบท้าย 6 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ ๑ กฎว่าด้วยการใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ (Rules of Good offices) เอกสารแนบท้ายฉบับนี้เป็นการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างประเทศคู่กรณี เช่น การช่วยโทรศัพท์ประสานงาน หรือการจัดหาสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจา เป็นต้น
ฉบับที่ ๒ กฎว่าด้วยการไกล่เกลี่ย (Rules of Meditation) เอกสารแนบท้ายฉบับนี้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และวิธีการไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจจะเป็นการหารือร่วมกับประเทศคู่กรณีทั้งสองโดยพร้อมกัน หรือหารือแยกกันในการช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้
ฉบับที่ ๓ กฎว่าด้วยการประนีประนอม (Rules of Conciliation) เอกสารแนบท้ายฉบับนี้กำหนดให้ประเทศคู่กรณีต้องจัดทำคำชี้แจงให้แก่ผู้ทำหน้าที่ประนีประนอม และกำหนดให้ผู้ทำหน้าที่ประนีประนอมซึ่งโดยปกติจะมีเพียง ๑ คน ดำเนินการจัดทำข้อเสนอสำหรับการระงับข้อพิพาท
ฉบับที่ ๔ กฎว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ (Rules of Arbitration) เอกสารแนบท้ายฉบับนี้กำหนดให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี รวมทั้งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนและที่มาของอนุญาโตตุลาการที่จะมาทำหน้าที่ รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ฉบับที่ ๕ กฎสำหรับการเสนอข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนตัดสิน (Rules for Reference of Unresolved Disputes to the ASEAN Summit) เอกสารแนบท้ายฉบับนี้กำหนดให้ประเทศคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) พิจารณาเพื่อตัดสิน โดยให้แจ้งผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน หรือ ACC ซึ่ง ACC ต้องจัดทำรายงานพร้อมเสนอเรื่องต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนภายใน ๙๐ วันภายหลังจากได้พยายามช่วยประเทศคู่กรณีหาทางออกแล้ว
ฉบับที่ ๖ กฎสำหรับการเสนอเรื่องการไม่ปฏิบัติตามให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนตัดสิน (Rules for Reference of Non-Compliance to the ASEAN Summit) อาจเสนอเรื่องให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนตัดสิน
ทั้งนี้ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกที่จะเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท DSPM นี้จะเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับข้องกับการเมือง ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม แต่จะไม่ครอบคลุมถึงข้อพิพาททางเศรษฐกิจ เนื่องจากข้อพิพาททางเศรษฐกิจนั้นมีกลไกการระงับข้อพิพาทตามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ EDSM ที่ได้กล่าวมาข้างต้นรับรองอยู่แล้ว
ที่มา:
- https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/ac/download/article/article_20200221104109.pdf
- https://api.dtn.go.th/files/v3/5cff75641ac9ee073b7be81f/download
- https://uat-api.dtn.go.th/files/v3/5cff75731ac9ee073b7befb9/download
- https://www.lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=363&Type=1
- http://agreement.asean.org/media/download/20200128121018.pdf
- https://www.dol.go.th/legal/Documents/4Protocol_to_the_ASEAN.pdf
- http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2557/b185197.pdf
- http://www.bangkokideaeasy.com/informations/57aec/files/dynamiccontent/file-26229.pdf
- https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S่ub_Jun/13win/win13%20jul_7_1.pdf
- https://www.dft.go.th/Portals/3/Users/017/17/17/15_Charter_THE_ASEAN_CHARTER.pdf
- https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S่ub_Jun/4seminar/s45%20jun_9_2.pdf
- http://www.lawgrad.ru.ac.th/AbstractsFile/6112017016/159764895440e7a779f0d5e730360641a42e120f9e_abstract.pdf
- [1] กฎบัตรอาเซียน หมวด 8 ข้อ 22.1
- [2] กฎบัตรอาเซียน หมวด 8 ข้อ 23.2
- [3] กฎบัตรอาเซียน หมวด 8 ข้อ 23.1
- [4] กฎบัตรอาเซียน หมวด 8 ข้อ 25
- [5] ที่มาจาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ https://uat-api.dtn.go.th/files/v3/5cff75731ac9ee073b7befb9/download