การคัดเลือกอนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการนั้นคือบุคคลภายนอกที่ได้รับการแต่งตั้งจากคู่พิพาทให้ทำการตัดสินข้อพิพาท ซึ่งบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการนั้นควรมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงความเชี่ยวชาญในกรณีพิพาท หน้าที่ของอนุญาโตตุลาการนั้นคล้ายกับผู้พิพากษา กล่าวคือ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายและตัดสินทำคำชี้ขาด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนในการทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ แต่ประสบการณ์ของอนุญาโตตุลาการก็เป็นสิ่งที่สำคัญ บทความนี้จะเป็นการแนะนำข้อที่ควรคำนึงถึงในการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการเพื่อเข้ามาทำการชี้ขาดข้อพิพาท
1. เลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความรู้ทางกฎหมายและมีความเชี่ยวชาญ
เนื่องมาจากการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นต้องมีการระบุเหตุผลของคำชี้ขาดนั้น นอกเหนือไปจากนั้น สัญญาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศนั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความรู้ทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
นอกเหนือไปจากนี้ การที่อนุญาโตตุลาการมีความเชี่ยวชาญในเรื่องพิพาทก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น กรณีพิพาททางวิศวกรรมหรืออุตสาหกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาตินั้นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจและหลีกเลี่ยงความผิดพลาด จึงควรเลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่พิพาทด้วย
2. เลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความสามารถในการจัดการ Caseload
การเลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความสามารถในการจัดการ Caseload ได้นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึง ทั้งนี้เนื่องมาจากอนุญาโตตุลาการที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความนิยมนั้นย่อมเป็นที่ต้องการของคู่พิพาท และบางท่านนั้นอาจมีตารางเวลาที่ต้องนัดล่วงหน้าเป็นเดือน ดังนั้นการเลือกอนุญาโตตุลาการที่มี Caseload อยู่ในมือมากนั้นอาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางด้านเวลาและอาจเกิดความล่าช้า ดังนั้นจึงอาจจะส่งผลเสียต่อคู่พิพาทที่ต้องการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปโดยไว ดังนั้นการเลือกอนุญาโตตุลาการที่สามารถจัดการ Caseload ได้อย่างรวดเร็วก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาประกอบการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นข้อพิพาทที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญนั้น การที่จำเป็นต้องเลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่าการเลือกอนุญาโตตุลาการที่สามารถแก้ไขข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
3. เลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นกลาง
ทั้งนี้เนื่องจากอนุญาโตตุลาการนั้นจะต้องมีความป็นอิสระจากคู่พิพาท โดยกฎอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้นได้วางหลักเอาไว้ว่าอนุญาโตตุลาการไม่ควรมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ทางครอบครัวหรือทางสังคมกับคู่พิพาท และไม่สามารถได้รับหรือสูญเสียผลประโยชน์ที่เป็นสาระสำคัญจากผลของการตัดสินข้อพิพาทได้
4. พิจารณาสัญชาติของอนุญาโตตุลาการ
ข้อพิพาทในคดีอนุญาโตตุลาการที่มีคู่สัญญาต่างสัญชาติกัน สถาบันอนุญาโตตุลาการ (เช่นศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของดูไบหรือ DIFC-LCIA) มักจะกำหนดว่าอนุญาโตตุลาการหรือประธานศาล แต่เพียงผู้เดียวไม่สามารถมีสัญชาติเดียวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ คู่สัญญาได้รับอนุญาตให้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่นได้ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังกฎนี้คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอคติที่เกิดขึ้นจริงหรือรับรู้ได้ในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งสามคนจากคู่พิพาทนั้นอาจมีสัญชาติเดียวกับคู่พิพาทที่แต่งตั้ง การเลือกอนุญาโตตุลาการที่มีสัญชาติเดียวกันมักเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการอย่างน้อยหนึ่งคนขององค์คณะจะมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมแนวปฏิบัติทางธุรกิจและประเพณีของคู่พิพาท
5. เลือกอนุญาโตตุลาการที่จัดการผู้คนได้ดี
เนื่องจากอนุญาโตตุลาการนั้นต้องสื่อสารและติดต่อกับผู้คนมากมาย ดังนั้นทักษะในการสื่อสารนั้นจึงเป็นคุณสมบัติที่ควรคำนึงถึง นอกเหนือไปจากนี้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในปัจจุบันครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายและข้อมูลที่หลากหลายยิ่งขึ้น การมีหลายฝ่ายและหลายสัญชาติทำให้งานยุ่งยากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคู่ความและประธานควรจะสามารถจัดการคนได้ดี
ที่มา :
https://www.sidley.com/~/media/publications/texas-lawyer_selecting-the-arbitrator.pdf
https://www.tamimi.com/law-update-articles/four-factors-to-consider-when-selecting-an-arbitrator/