การบังคับตามวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ
จากบทความก่อนที่กล่าวถึงเรื่อง อำนาจในการออกวิธีการชั่วคราวของคณะอนุญาโตตุลาการ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการบังคับตามวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ [บทความโดย นายณัฐวัต ศิริประสมทรัพย์]
ปัญหา
หากพิจารณาจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 แล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติใดที่กล่าวถึงการบังคับของวิธีการคุ้มครองชั่วคราว อาจกล่าวได้ว่า การที่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการบังคับวิธีการชั่วคราวนั้น เป็นเพราะมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ นั้น มีความประสงค์ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาในเรื่องของวิธีการชั่วคราว และเมื่อศาลเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งให้มีวิธีการชั่วคราวแล้ว การบังคับก็ย่อมเป็นไปดั่งการบังคับตามคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการบัญญัติถึงเรื่องการบังคับตามคำสั่งวิธีการชั่วคราว ซึ่งในความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น เป็นการตอกย้ำว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจในการออกวิธีการชั่วคราว
และสืบเนื่องมาจากการที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มิได้มีการกล่าวถึงเรื่องการบังคับตามวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการเอาไว้ แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการจะได้มีการออกวิธีการชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจของข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการใดก็ตามแต่ หรือออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ การที่จะนำวิธีการชั่วคราวดังกล่าวมาบังคับใช้ในประเทศไทยนั้นก็ไม่อาจเป็นไปได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ
การที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในเรื่องนี้ อาจส่งผลให้ผู้จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและต้องการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศหรือมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น ตัดสินใจที่จะใช้หรือลงทุนในประเทศใกล้เคียงที่มีกฎหมายรับรองในเรื่องนี้
ประเด็นที่น่าพิจารณา
มีการตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้น มีสภาพเหมือนคำชี้ขาด (Award) หรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีลักษณะเหมือนอย่างคำชี้ขาดแล้ว ก็จะสามารถบังคับได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (New York Convention) หรือตามกฎหมายไทยก็จะเป็นไปตามมาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ในเรื่องนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป
ในความเห็นแรก เห็นว่า คำสั่งวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ใช่คำชี้ขาด (Award) โดยในคำพิพากษาของศาลฎีกาแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ตัดสินว่า คำสั่งวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่าคำชี้ขาดตามอนุสัญญานิวยอร์กหรือตามความหมายของคำว่าคำชี้ขาดที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการของประเทศออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลที่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะต้องมีลักษณะที่เป็นที่สุด ตัดสินทุกข้อพิพาทที่ได้ยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้ตัดสิน ซึ่งคำสั่งเรื่องวิธีการชั่วคราวนั้นอาจถูกยกเลิก เลื่อนออกไป เปลี่ยนแปลง หรือพิจารณาใหม่โดยคณะอนุญาโตตุลาการที่เป็นผู้ออกคำสั่งวิธีการชั่วคราวนั้นได้ จึงไม่ใช่คำชี้ขาดที่จะบังคับได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการของประเทศออสเตรเลีย[1]
ในทางกลับกันมีความเห็นที่ว่า คำสั่งวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกันกับคำชี้ขาด ศาลแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย ในคดี PolydefKis Corp v. Trancontinental Feriliser Co. ได้ตัดสินว่า วิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสหราชอาณาจักรนั้นเป็นคำชี้ขาดเพราะได้มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดของคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้ว และได้กำหนดสิ่งที่คู่ความฝ่ายหนึ่งต้องการตามคำขอแล้ว[2] อีกทั้ง ยังมีในกรณีที่มาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้นได้ถูกบังคับตาม New York Convention ด้วยเหตุที่ว่า มาตรการที่ออกมานั้น คณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดไว้ว่ามาตรการดังกล่าวนั้นเป็นคำชี้ขาดบางส่วน (Partial Award) จึงขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดได้[3][4]
ทางมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาความไม่แน่นอนในกรณีดังกล่าวอาจลดทอนลงไปได้ด้วยการบัญญัติกฎหมายในเรื่องนี้ให้ชัดเจน
แนวทางการกำหนดกฎหมาย
จากการที่ทาง ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้จัดทำการสัมมนาเฉพาะกลุ่มเรื่องการแก้ไขมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าจะเป็นอนุญาโตตุลาการ อัยการ ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทนายความ และผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ได้มีการเสนอความเห็นขึ้นมาในที่ประชุมว่า กฎหมายในเรื่องของมาตรการชั่วคราวที่เห็นควรนำปรับใช้แก้ไขกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ของประเทศไทยนั้น ควรนำกฎหมายแม่แบบ (Model Law) ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ UNCITRAL (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration)
ในกฎหมาย Model Law ดังกล่าวได้มีการวางหลักในเรื่องการยอมรับและบังคับมาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการไว้ในมาตรา 17 H. โดยระบุว่า (1) มาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการต้องถูกรับรองว่ามีผลผูกพันและบังคับได้โดยศาลที่มีเขตอำนาจ ไม่ว่ามาตรการชั่วคราวนั้นจะถูกออกในประเทศใดก็ตาม (2) คู่พิพาทฝ่ายที่กำลังเรียกร้องต่อศาลขอให้รับรองและบังคับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว หรือที่ศาลได้รับรองและบังคับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้แล้ว ต้องแจ้งให้ศาลทราบโดยทันทีในกรณีที่มีการแก้ไข เพิกถอน หรือหยุดพักมาตรการชั่วคราวนั้น (3) ณ ศาลที่คู่ความได้ยื่นให้รับรองหรือบังคับมาตรการชั่วคราวนั้น ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ร้องขอนั้นวางหลักทรัพย์ในกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการยังมิได้ทำการชี้ขาดในเรื่องของการวางหลักทรัพย์หรือในกรณีที่มีความจำเป็นในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกคดี[5]
นอกจากเรื่องของการบังคับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กับการบังคับก็คือเรื่องของการปฏิเสธไม่รับรองและบังคับด้วย ตามกฎหมาย Model Law นั้น ในมาตรา 17 I. ระบุเรื่องของการปฏิเสธการรับรองการและการบังคับมาตรการชั่วคราวเอาไว้ว่า การรับรองหรือบังคับมาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการอาจถูกปฏิเสธได้ในเฉพาะบางกรณี เช่น เป็นที่ปรากฏต่อศาลว่าการบังคับรับรองมาตรการชั่วคราวดังกล่าวนั้นจะเป็นขัดต่อนโยบายสาธารณะ เป็นต้น[6]
ซึ่งถ้าหากมีการเพิ่มเติมในแก้ไขในส่วนของการบังคับตามมาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ ก็ควรนำสองมาตรานี้ของกฎหมายแม่แบบมาปรับใช้เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่เทียบเท่ากับระดับสากล
ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อมาตรฐานของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยมีมาตรฐานเทียบเท่ากับระดับสากลในปัจจุบันแล้ว จะส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น มั่นใจที่จะใช้การอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยมากขึ้น
สรุป
เรื่องมาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนทั้งในเรื่องของอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการและผลของมาตรการที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ และพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการได้กำหนดให้ศาลเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ทั้งในความเห็นของผู้เขียนเองและความเห็นของผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนากลุ่มย่อยฯ ก็ต่างเห็นว่า ควรให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะในบางกรณีที่คู่ความมีความจำเป็นต้องร้องขอให้มีมาตรการชั่วคราว การใช้วิธีการทางศาลในบางครั้งใช้เวลาพิจารณาพอสมควรเนื่องด้วยจำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลและขั้นตอนในการพิจารณา ฉะนั้นแล้ว การแก้ไขทั้งในส่วนของอำนาจและการบังคับมาตรการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ย่อมเป็นการช่วยอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาทและช่วยแบ่งเบาภาระของศาล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเดียวกันกับสากล
[1] Resort Condominiums International Inc v. Ray Bolwell and Resort Condominiums, Pty Ltd, Case no. 389, 29 Oct 1993, Queensland Supreme Court, Available at https://www.queenslandjudgments.com.au/caselaw/qsc/1993/351
[2] Prasad, Aman, Enforceability of Interim Measures ordered by Arbitral Tribunals: The Issue and Possible Remedies in International Commercial Arbitration (April 30, 2020). Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3589286 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.3589286
[3] Margaret L. Moses, The Principles and Practice of International Commercial Arbitration, Third Edition (Cambridge), Page 117.
[5] Article 17 H. Recognition and enforcement
(1) An interim measure issued by an arbitral tribunal shall be recognized as binding and, unless otherwise provided by the arbitral tribunal, enforced upon application to the competent court, irrespective of the country in which it was issued, subject to the provision of article 17 I.
(2) The party who is seeking or has obtained recognition or enforcement of an interim measure shall promptly inform the court of any termination, suspension or modification of that interim measure.
(3) The court of the State where recognition or enforcement is sought may, if it considers it proper, order the requesting party to provide appropriate security if the arbitral tribunal has not already made a determination with respect to security or where such a decision is necessary to protect the rights of third parties.
[6] Article 17 I. Ground for refusing recognition or enforcement
(1) Recognition or enforcement of an interim measure may be refused only:
(a) At the request of the party against whom it is invoked if the court is satisfied that:
(i) Such refusal is warranted on the grounds set forth in article 36(1)(a)(i), (ii), (iii) or (iv); or
(ii) The arbitral tribunal’s decision with respect to the provision of security in connection with the interim measure issued by the arbitral tribunal has not been complied with; or
(iii) The interim measure has been terminated or suspended by the arbitral tribunal or, where so empowered by the court of the State in which the arbitration takes place or under the law of which that interim measure was granted; or
(b) If the court finds that:
(i) The interim measure is incompatible with the powers conferred upon the court unless the court decides to reformulate the interim measure to the extent necessary to adapt it to its own powers and procedures for the purposes of enforcing that interim measure and without modifying its substance; or
(ii) Any of the grounds set forth in article 36(1)(b)(i) or (ii), apply to the recognition and enforcement of the interim measure.
(2) Any determination made by the court on any ground in paragraph (1) of this article shall be effective only for the purposes of the application to recognize and enforce the interim measure. The court where recognition or enforcement is sought shall not, in making that determination, undertake a review of the substance of the interim measure.