“การบินไทย” เตรียมรื้อโครงสร้าง เดินหน้าองค์กรเป็นเอกชนเต็มรูปแบบ
การบินไทย เตรียมประกาศรื้อโครงสร้างองค์กร สวัสดิการ พร้อมเคาะจำนวนพนักงานสัญญาจ้างใหม่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นเครื่องหมาย NC ห้ามซื้อขาย หุ้นการบินไทย ตั้งแต่ 8 มี.ค. 64
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (9 มีนาคม 2564 ) ฝ่ายบริหาร เตรียมประกาศโครงสร้างองค์กร สิทธิประโยชน์และสวัสดิการใหม่ ก่อนจะเปิดให้พนักงานเข้าลงนามสัญญาจ้างใหม่ หรือที่เรียกว่าการแปรสภาพการจ้างงาน ซึ่งมีกำหนดเปิดรับระหว่างวันที่ 11-19 มีนาคม 2564 เนื่องจากการบินไทยได้ปรับเปลี่ยนจากองค์กรรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรเอกชนเต็มรูปแบบ และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงองค์กร
โดยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่สำคัญก่อน อาทิ เรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงาน สวัสดิการ และจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับโครงสร้างองค์กรใหม่ อาจจะมีการควบรวมหรือแยกหน่วยงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
“เมื่อมีการประกาศโครงสร้างใหม่ออกมา พนักงานจะมีเวลาตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือเสียสละให้น้องอยู่ต่อ หากว่าหน่วยงานที่อยู่เดิมนั้น ต้องการลดพนักงาน หรือหากว่าพนักงานมีความถนัดหลายด้าน อาจจะสมัครเข้าไปในแผนกใหม่ก็ได้โดยเป้าหมายลดพนักงานจากปัจจุบัน 1.9 หมื่นคน เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน โดยจะแบ่งสัดส่วนพนักงานออกเป็น เอาท์ซอร์ส (Outsource) 20.93% พนักงานในระดับ 1-7 หรือ Staff ในสัดส่วน 42.83% นักบินและลูกเรือ 28.72% พนักงานระดับ 8 -10 หรือระดับหัวหน้างาน 7.30%พนักงานระดับ 11-12 หรือระดับฝ่ายบริหารผู้จัดการ 0.17% พนักงานระดับ 12-13 หรือรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 0.04% และกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ 0.01%” การบินไทยเปิดเผยเพิ่มเติม
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการ แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า “การบินไทยยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบินซึ่งจะทำให้การบินไทยสามารถ ลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 30-50% และจะเริ่มทำกำไรในปี 2567” ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ฝ่ายบริหารได้ประกาศโครงสร้างเงินเดือนใหม่ทุกระดับให้เป็นเกณฑ์เดียวกันจากเดิมแบ่งเป็น 1.พนักงานที่เข้าทำงานก่อนปี 2548 บริษัทได้จ่ายภาษีให้ และ 2.พนักงานที่เข้าทำงานหลัง ม.ค.2548 เป็นต้นไป ต้องเป็นผู้เสียภาษีเอง ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม และยากต่อการบริหาร
อย่างไรก็ตามยังคงมีเสียงคัดค้านจากสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของการบินไทยว่า “ทางสหภาพฯ ยังคงยืนยันว่าจะคัดค้านข้อกำหนดให้พนักงานทุกคนลาออกและ เข้าเซ็นสัญญาจ้างใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นการบังคับพนักงานให้ไม่มีทางเลือก และได้ยื่นคัดค้านต่อกระทรวงแรงงาน โดยในวันที่ 9 มีนาคม 2564 นี้ พนักงานประนอม ข้อพิพาทแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้นัดหารือ ร่วมกับตัวแทนสหภาพฯ และคาดว่าจะมีตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าร่วมด้วย” ขณะที่ วานนี้ (8 มีนาคม 2564) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งดำเนินการกับบริษัท การบินไทย ( THAI ) กรณีส่วนผู้ถือหุ้น มีค่าน้อยกว่าศูนย์ หลังบริษัท จดทะเบียนดังกล่าวได้นำส่งงบการเงิน ประจำปี 2563 โดยส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ส่งผลให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อกำหนด ตลท.
ดังนั้นตลท. จึงขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-compliance) และยังคงเครื่องหมาย SP (Suspension) ห้ามซื้อหรือขาย หลักทรัพย์ของบริษัทต่อไป และให้ การบินไทย แจ้งว่านอกเหนือจากการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายแล้ว บริษัทจะมีทางเลือกอื่นใด อีกหรือไม่พร้อมทั้งให้การบินไทย กำหนดเวลาดำเนินการตามแนวทางที่เลือกฟื้นฟูกิจการ หรือทางเลือกอื่นใด (ถ้ามี) และเผยแพร่ ให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้ทราบภายในวันที่ 7 เมษายน 2564 อย่าไรก็ตามนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 ซึ่งกำหนดเป็น 3 ระยะ โดยแต่ละระยะมีเวลา 1 ปี (NC ระยะที่ 1, NC ระยะที่ 2 และ NC ระยะที่ 3) เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว หากบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ ตลท. จะเสนอคณะกรรมการตลท. เพื่อพิจารณา เพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท ต่อไป ติดตามความคืบหน้าและข่าวสารอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.thac.or.th