การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจ: หมายความว่าอย่างไรกันแน่น และจะช่วยการดำเนินธุรกิจได้อย่างไร
ในการดำเนินธุรกิจนั้น ย่อมรวมถึงความเสี่ยงที่จะเผชิญความขัดแย้งที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น อาจเป็นปัญหาเรื่องสัญญา ความขัดแย้งกับพนักงาน หรือปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างคุณกับคู่ค้า/ หุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนานของคุณ ไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจะมาในลักษณะใด สิ่งสำคัญที่สุดนั่นก็คือ การยุติความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมต่อธุรกิจเพื่อเป็นการบริหารจัดการความขัดแย้งนั้นๆ หรือป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งอื่น ๆ
แต่คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญนั้น เมื่อการพิจารณาคดีในศาลไม่ได้เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง แล้วมีวิธีใดที่คุณจะสามารถระงับข้อพิพาทที่ประหยัดและรวดเร็วกว่านี้หรือไม่ คำตอบคือ มี และข้อดีของวิธีที่ว่านี้มีดียิ่งกว่าเรื่องของราคาที่เข้าถึงได้และความรวดเร็วด้วย
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจ: การระงับข้อพิพาททางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจ
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจคืออะไร
การประนอมข้อพิพาทเป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เหมาะสำหรับการระงับข้อพิพาทในทางลับและหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องในศาล คำว่า การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจ ใช้อธิบายประเภทของการประนอมข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางธุรกิจ การประนอมข้อพิพาทยังใช้สำหรับการระงับข้อพิพาทประเภทอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลในครอบครัว หรือเรื่องการประกันภัย ในการประนอมข้อพิพาททางธุรกิจนั้น คู่พิพาทที่เกี่ยวข้องอาจเป็นบริษัท 2 บริษัท หรือ บริษัทกับบุคคล หรือ บริษัทกับหน่วยงานสาธารณะ (หน่วยงานของรัฐ)
THAC’S NEWS & ARTICLES
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจดำเนินการอย่างไร
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจเป็นไปตามมาตรฐานและปฏิบัติตามขั้นตอนเดียวกันกับการประนอมข้อพิพาท เป็นวิธีตามความสมัครใจที่จะเข้าระงับข้อพิพาทโดยคู่กรณีตกลงเลือกจะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการประนอมข้อพิพาท
คู่กรณียังมีอิสระที่จะตกลงแต่งตั้งผู้ประนอมข้อพิพาทที่เหมาะสม ซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาท ผู้ประนอมข้อพิพาทจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้คู่กรณีในการหาข้อตกลงยุติข้อพิพาท ทั้งนี้ การประนอมข้อพิพาทจะดำเนินกระบวนการพิจารณาในทางลับซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาการในการพิจารณากันอยู่ที่ระหว่างสี่ถึงหกชั่วโมง หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเรื่อง ตามสถิติแล้ว การพิจารณาคดีเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะบรรลุข้อตกลงได้ อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นก็สามารถกำหนดนัดพิจารณาคดีเพิ่มเติมได้ โดยผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ คือสัญญาตามข้อที่ได้ตกลงซึ่งมีการลงนามโดยทุกฝ่าย
จะหาผู้ประนอมข้อพิพาทที่เหมาะสมได้อย่างไร
ข้อพิพาททางธุรกิจมักเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทางเทคนิค ดังนั้น จึงแนะนำเป็นอย่างยิ่ง ให้รับความช่วยเหลือจากผู้ประนอมข้อพิพาทที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการดำเนินกระบวนการ โดยคู่กรณีสามารถเลือกผู้ประนอมข้อพิพาทที่เหมาะสมกับความต้องการได้อย่างง่ายดายจากรายชื่อผู้ประนอมข้อพิพาทที่ได้รับการรับรองจากศูนย์ระงับข้อพิพาทที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เช่น Thailand Arbitration Center (THAC)
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจ กับ อนุญาโตตุลาการ: แตกต่างกันตรงไหน
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจและอนุญาโตตุลาการจัดอยู่ในประเภทของวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก (ADR) และทั้งสองอย่างต่างก็เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของบุคคลภายนอกที่เป็นกลางต่อคู่กรณี
ในอนุญาโตตุลาการ บุคคลภายนอกนี้เรียกว่า“ อนุญาโตตุลาการ” ซึ่งมีอำนาจออกคำตัดสิน (คำชี้ขาด) ที่มีผลผูกพันกับคู่กรณีทั้งหมด ในการประนอมข้อพิพาททางธุรกิจ บุคคลภายนอกนี้ คือ ผู้ประนอมข้อพิพาท ซึ่งมีหน้าที่เพียงการอำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี เพื่อให้บรรลุข้อตกลง แต่ไม่สามารถตัดสินใจหรือให้ข้อเสนอแนะใด ๆได้ ปกติแล้ว คู่กรณีมักจะพยายามประนอมข้อพิพาทกัน ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจ กับ การฟ้องร้อง: เหตุใดการประนอมข้อพิพาทจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่าการประนอมข้อพิพาททางธุรกิจถือเป็นวิธีการที่ดีกว่าในการระงับข้อพิพาทเมื่อเทียบกับการดำเนินคดี การประนอมข้อพิพาททางธุรกิจเป็นกระบวนการที่ถูกกว่าและประหยัดเวลากว่า เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความซึ่งจะยิ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปอีก นอกจากนี้คู่กรณียังมีอิสระที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อรักษาทั้งธุรกิจและความสัมพันธ์ของทุกฝ่าย นอกจากนี้คู่กรณียังสามารถเลือกผู้ประนอมข้อพิพาทได้ ในขณะที่การดำเนินคดีในศาลนั้น ผู้พิพากษาที่มีอำนาจ ในการพิจารณาคดีจะถูกกำหนดไว้แล้วโดยผลของกฎหมาย ส่วนการเลือกผู้ประนอมข้อพิพาทนั้น คู่กรณีสามารถตกลงกันได้ว่าผู้ประนอมข้อพิพาทควรมีทักษะหรือคุณสมบัติใดบ้าง แต่ในทางตรงกันข้าม การดำเนินคดีในศาลนั้น ไม่จำเป็นว่าผู้พิพากษาในคดีจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาท สุดท้าย คือ ในการประนอมข้อพิพาท คู่กรณีสามารถกำหนดจำนวนครั้งการเข้าพบ ในขณะที่การดำเนินคดีในศาลนั้น
ผู้พิพากษาจะเป็นผู้กำหนดจำนวนนัดพิจารณาคดี