การอนุญาโตตุลาการหลายฝ่าย
หลักการที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการโดยความยินยอมของคู่พิพาทนั้นเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ในกรณีที่มีข้อพิพาทสองฝ่าย ผู้ร้องและผู้ถูกร้องจะมีการจัดทำสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างกันเพื่อนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้นมีผลผูกพันคู่พิพาท แต่ในกรณีที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายหรือหลายสัญญา คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้นอาจะมีความไม่สอดคล้องกันได้
ธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศจำนวนมากนั้นเกี่ยวข้องกับสัญญาที่ซับซ้อนมากขึ้นระหว่างฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายต่าง ๆ สัญญาที่ต่างกันเหล่านี้แต่ละฉบับจะมีกลไกการระงับข้อพิพาทเฉพาะซึ่งอาจแตกต่างไปจากสัญญาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาควบรวมกิจการหรือ M&A ที่มีมูลค่าสูงและโครงสร้างโครงการอาจซับซ้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลที่แตกต่างกัน ซึ่งระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกันหลายฉบับ ดังนั้นเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย คู่กรณีสามารถหาทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาททั้งหมดในกระบวนพิจารณาทางกฎหมายในคดีเดียวกัน แทนที่จะใช้ในกระบวนการที่แตกต่างกันมากมายแต่เกี่ยวข้องกัน การดำเนินการนี้สามารถทำได้ค่อนข้างง่ายในกระบวนการพิจารณาคดีโดยศาล อย่างไรก็ตามการดำเนินการนี้ในกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนั้นทำได้ยากกว่า เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องได้รับความยินยอมโดยสิ้นเชิง ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อรองรับอนุญาโตตุลาการที่มีคู่พิพาทเพียงสองฝ่าย แต่เนื่องจากข้อพิพาทระหว่างหลายฝ่ายเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอนุญาโตตุลาการจะประสบปัญหาในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีคู่พิพาทหลายฝ่าย ปัญหาดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในอนุญาโตตุลาการประเภทใดก็ได้ แต่มักพบได้บ่อยในคดีการเดินเรือ การก่อสร้างและการขายสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่หากเกิดข้อพิพาทขึ้นจะมีผลกระทบต่อสัญญามากกว่าหนึ่งฉบับ ในสัญญาลูกโซ่ เช่น ในการขายและการขายสินค้าซ้ำ หรือการเช่าเหมาลำเรือและการเช่าช่วงเหมาลำของเรือ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในระบบทำการเรียกร้องกับคู่สัญญาของตน ฝ่ายหลังจะพยายามส่งต่อความรับผิดชอบซึ่งอาจเป็นซัพพลายเออร์ในกรณีขายสินค้าหรือผู้เช่าเหมาลำในกรณีเช่าเหมาลำ ในทำนองเดียวกัน ข้อพิพาทระหว่างเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาหลักอาจส่งผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามนำผู้รับเหมาช่วงหรือสถาปนิกหรือวิศวกรโครงสร้างเข้าสู่ข้อพิพาทเพื่อส่งต่อความรับผิดหรือเพื่อดำเนินการระงับข้อพิพาททางเลือก ทั้งนี้ระบบอนุญาโตตุลาการนั้นไม่เหมาะที่จะจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว หากมีการดำเนินการอนุญาโตตุลาการแยกกันภายใต้สัญญาที่เกี่ยวข้องแต่ละฉบับ มีความเสี่ยงที่อนุญาโตตุลาการอาจแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการที่แตกต่างกันภายใต้สัญญาแต่ละฉบับ หรือหลักฐานหรือข้อโต้แย้งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสัญญา ส่งผลให้กระบวนอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินกระบวนการแยกกันอาจได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันตามแต่กฎหมายกฎหมาย ซึ่งในสถานการณ์ที่มีคู่พิพาทหลายฝ่าย โดยปกติแล้วคู่สัญญาจะต้องการคำวินิจฉัยเดียวในประเด็นทั่วไป ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันในสัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ด้วยวิธีนี้ความรับผิดสามารถส่งต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ และสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากฝ่ายที่มีการสูญเสียทั้งหมดซึ่งได้ทำสัญญาภายใต้สัญญาสองฉบับ ในทำนองเดียวกัน คำชี้ขาดที่สอดคล้องกันสามารถทำได้โดยที่ผู้ร้องมีทางเลือกในการเยียวยาทางเลือกสองทางกับผู้ถูกร้องที่แตกต่างกัน หรือในกรณีที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกันด้วยเหตุผลอื่น ดังนั้นสถาบันอนุญาโตตุลาการจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับการรวมและการรวมไว้ในกฎอนุญาโตตุลาการเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ข้อดีและข้อเสียของการอนุญาโตตุลาการหลายฝ่าย
การระงับข้อพิพาทที่เกิดจากโครงการเดียวโดยอนุญาโตตุลาการที่ครอบคลุมนั้นมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงผลของคำชี้ขาดที่ไม่สอดคล้องกันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากการแยกพิจารณาซึ่งมีเหตุจากการใช้พยานหลักฐานหรือเอกสารต่างชุดกัน อีกทั้งค่าใช้จ่ายในกระบวนอนุญาโตตุลาการนี้จะน้อยกว่าในการดำเนินกระบวนอนุญาโตตุลาการแยกกันเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียในการดำเนินกระบวนอนุญาโตตุลาการเพียงร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น คู่พิพาทที่มีหลายฝ่ายนั้นอาจไม่เต็มใจเปิดเผยความลับหรือความสัมพันธ์ตามสัญญาของตนต่อคู่พิพาทรายอื่น ๆ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ องค์ความรู้ การตลาด อัตราทุน ข้อมูลทางการเงินซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนซึ่งคู่พิพาทอาจไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อคู่พิพาทหรือคู่สัญญารายอื่น
คู่สัญญาหลายฝ่ายในสัญญาฉบับเดียว
การมีคู่สัญญาหลายฝ่ายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในธุรกรรมทางธุรกิจการค้าที่อาจมีการร่วมทุนของคู่สัญญาหลายฝ่ายเพื่อระทุมหรือบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งอาจประกอบไปด้วย หุ้นส่วน พันธมิตร ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจภายใต้สัญญาเพียงฉบับเดียว ดังนั้นจะมีสัญญาอนุญาโตตุลาการเพียงฉบับเดียวในข้อตกลงร่วมทุนหรือ Joint Venture Agreement (JVA) ซึ่งสัญญาอนุญาโตตุลาการนี้จะควบคุมการระงับข้อพิพาทของคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญา JVA
อย่างไรก็ตาม ในสัญญา JVA นี้อาจเกิดปัญหาในเรื่องของการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากเป็น การพิจารณาคดีโดยศาลแล้ว ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากคู่พิพาทนั้นไม่สามารถเลือกผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีได้ แต่ในกรณีของกระบวนอนุญาโตตุลาการนั้นจะแตกต่างออกไป ทั้งนี้เนื่องจากคู่พิพาทมีอิสระในการเลือกอนุญาโตตุลาการที่จะทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาท โดยทั่วไปแล้ว ในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการสามคน คู่พิพาทนั้นจะเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการฝ่ายละคน และอนุญาโตตุลาการทั้งสองคนนั้นหรือสถาบันอนุญาโตตุลาการจะเป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการคนที่สามซึ่งจะเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คู่พิพาทนั้นมั่นใจได้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการนั้นมีความสมดุลในการทำงาน อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่มีคู่สัญญาหลายฝ่าย การที่จะให้คู่สัญญาทุกฝ่ายได้เสนอชื่ออนุญาโตตุลาการอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และถึงแม้ว่าจะเป็นกรณีที่กระบวนอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียวนั้นก็เป็นไปได้ยากมากเช่นกันที่จะให้ทุกฝ่ายตกลงร่วมกันเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งปัญหานี้อาจนำไปสู่การคัดค้านและเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการได้
ใน Siemens AG/BKMI v Ducto Construction Compan นั้น Ducto ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับ Siemens และ BKMI ภายใต้กฎอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศ (ICC) ในกรณีนี้ คู่พิพาทแต่ละฝ่ายต้องการเลือกอนุญาโตตุลาการของตนเอง คำขอนี้ไม่ได้รับการอนุญาตจาก ICC ซึ่งขอให้ผู้ถูกร้องทั้งสองร่วมกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งถูกร้องทั้งสองได้ทำการเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการร่วมกัน แต่ภายหลังได้คัดค้านคำชี้ขาดของ ICC โดยกล่าวอ้างไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับผู้ร้องในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ Cour de Cassation ในฝรั่งเศสเห็นด้วยกับผู้ถูกร้องโดยเพิกถอนคำชี้ขาดจากความไม่เท่าเทียมกันในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนี้
คู่สัญญาหลายฝ่ายและสัญญาหลายฉบับ
คู่สัญญาหลายฝ่ายและสัญญาหลายฉบับนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้มากในกรณีของธุรกิจโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งผู้จ้างมักจะทำสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาหลักซึ่งมักจะไปทำสัญญากับซัพพลายเออร์และผู้รับเหมาช่วงอีกหลายฉบับ เมื่อมองในแง่ของความรับผิดแล้ว สัญญาเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อกันและกัน ทั้งนี้เพราะสัญญาทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวพันกันในโครงการเดียว อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาตามสัญญาแต่ละฉบับอาจมีบทบัญญัติที่แตกต่างกันในเรื่องของการระงับข้อพิพาท การเลือกกฎหมายที่จะใช้ในการระงับข้อพิพาท เป็นต้น
ในสัญญาระหว่างประเทศนั้นมักจะมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคู่สัญญาจากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของรัฐหนึ่งกับผู้ถือหุ้นและผู้สนับสนุนต่าง ๆ ธนาคาร ผู้รับเหมา ซัพพลายเออร์ และผู้รับจ้างทั้งหมดสำหรับการก่อสร้างโครงการหนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีอนุญาโตตุลาการที่แตกต่างกันระหว่างคู่สัญญาฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดนั้นอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาเดียวกัน แต่เมื่อคู่พิพาทได้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่แยกกันนั้น อาจทำให้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้นมีความไม่สอดคล้องกันซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้คำชี้ขาดได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจแก้ไขได้โดยการเข้าสู่กระบวนอนุญาโตตุลาการเพียงกระบวนการเดียว เพื่อเพื่อรับประกันความสอดคล้องกันของคำชี้ขาด รวมไปถึงการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ใน Abu Dhabi Gas Liquefaction Co Ltd V Eastern Bechtel Corp ผู้ร้องในกรณีนี้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวในอ่าวอาหรับ ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการในอังกฤษกับผู้รับเหมาหลักภายใต้สัญญาก่อสร้างระหว่างประเทศสำหรับการก่อสร้างถังซึ่งชำรุด ผู้รับเหมาหลักปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าข้อบกพร่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับถังจะเป็นความผิดของผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น ผู้รับเหมาหลักจึงได้แยกอนุญาโตตุลาการต่อผู้รับเหมาช่วงต่างหาก
เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนศาลอุทธรณ์ของอังกฤษเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ผู้พิพากษาเห็นว่าควรจะรวมกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนการเดียวกันเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งหลีกเลี่ยงคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาได้กล่าวว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะรวมกระบวนการอนุญาโตตุลาการเข้าด้วยกันหากไม่ได้รับความยินยอมจากคู่พิพาทที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขปัญหา
1. Joinder Provisions
การเพิ่มคู่ความฝ่ายที่สามเข้ามากระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือ Joinder Provisions นั้นคู่พิพาทที่เข้ามาในภายหลังจะต้องผูกพันตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทไม่ว่าจะในฐานะผู้ลงนามหรือไม่ลงนามก็ตาม ในบางกรณี คู่สัญญาอาจเข้าร่วมได้แม้ว่าจะผูกพันตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการที่แตกต่างกันหากข้อตกลงนั้นสอดคล้องกับข้อตกลงอนุญาโตตุลาการที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทและข้อพิพาทที่เกิดจากข้อตกลงอนุญาโตตุลาการทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมเดียวกันหรือมีความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ฝ่ายที่เข้าร่วมใหม่เพิ่มเติมอาจเลือกที่จะเข้าร่วมกระบวนอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเองหรืออาจถูกบังคับให้เข้าร่วมโดยฝ่ายที่มีอยู่เพื่อโต้แย้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของคู่พิพาทที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม สถาบันอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่ต้องการความยินยอมจากบุคคลที่สามเพื่อเข้าร่วมกระบวนพิจารณาที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ICC จะไม่ให้มีบุคคลอื่นเข้าร่วมกระบวนการพิพาทหลังจากการยืนยันการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการใด ๆ เว้นแต่ทุกฝ่ายจะตกลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายที่เข้ามาในภายหลังนั้นจะถูกกีดกันจากโอกาสในการมีส่วนร่วมในการเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ
2. การรวมคดีโดยคำสั่งศาล ( Court-Ordered Consolidation)
วิธีหนึ่งที่จัดการปัญหาอนุญาโตตุลาการแบบหลายฝ่าย/หลายสัญญาคือให้ศาลระดับประเทศสั่งให้มี การรวมคดีอนุญาโตตุลาการที่เกี่ยวข้องกันเข้าเป็นคดีเดียว โดยคดีดังกล่าวต้องมีขอบเขตเดียวกันกับประเด็นทั่วไปของกฎหมายและข้อเท็จจริง
การรวมคดีเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและเหมาะสมในการแก้ไขข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ป้องกันความเสี่ยงที่จะได้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งกัน
การบังคับใช้อำนาจบังคับนี้ได้หรือไม่นั้นเป็นปัญหาด้านเขตอำนาจศาลของที่สถานที่นั่งพิจารณาอนุญาโตตุลาการ เขตอำนาจศาลบางแห่งได้ออกกฎหมายที่อนุญาตให้ศาลระดับประเทศรวบรวมอนุญาโตตุลาการได้ เช่น ผ่านพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการในประเทศเนเธอร์แลนด์ (Arbitration Act in the Netherlands) หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Code of Civil Procedure) แต่ในกรณีที่ไม่มีกฎเกณฑ์ดังกล่าวที่เอื้อต่อการรวมคดีจะต้องหาทางแก้ไขที่ต่างออกไป
https://www.ciarb.org/media/4220/2011-multi-party-arbitrations.pdf
https://scholarlycommons.law.case.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1679&context=jil
https://www.iadclaw.org/assets/1/7/9.1-_Lorcher-_Multi-Party_Arbitration.pdf