การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามกฎของสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งต่าง ๆ (1)
การอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนการที่คู่สัญญาในข้อพิพาทเสนอข้อโต้แย้งและหลักฐานต่อผู้ที่ทำหน้าที่ชี้ขาดหรือระงับข้อพิพาทซึ่งเรียกว่าอนุญาโตตุลาการ กระบวนการนี้เป็นแบบส่วนตัวและอาจเป็นความลับภายใต้ข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย การอนุญาโตตุลาการนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากกว่ากระบวนการศาลและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขข้อพิพาททั้งในและต่างประเทศ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สิ้นสุดและมีผลผูกพัน
การเลือกใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศนั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมากเนื่องจากช่วยทำให้การระงับข้อพิพาททางธุรกรรมข้ามพรมแดนนั้นสามารถระงับได้อย่างเป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งมีความเป็นกลางและเป็นไปตามกฎหมายที่คู่พิพาทเลือก คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้นมีผลผูกพันและบังคับใช้ได้ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและการบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภยใต้ชื่อ “อนุสัญญานิวยอร์ก”) ซึ่งรัฐซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญานิวยอร์กมีพันธกรณีในการต้องยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดที่ทำขึ้นในรัฐภาคีอื่นของอนุสัญญาด้วยเช่นกัน ทำให้คำชี้ขาดนั้นสามารถบังคับใช้ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากกว่าคำพิพากษาของศาลนั่นเอง
บทความนี้จะเป็นการสรุปคร่าว ๆ ถึงกระบวนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการต่าง ๆ ได้แก่ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน สภาหอการค้านานาชาติ ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสิงคโปร์ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท[LG1] การค้าระหว่างประเทศฮ่องกงและสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้าสตอกโฮล์ม
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน – London Court of International Arbitration (LCIA)
กระบวนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของ LCIA นั้นจะเป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ ซึ่งสำหรับ LCIA นั้นมีได้สามวิธี ได้แก่
- แต่งตั้งโดย LCIA: หากคู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น LCIA จะทำการเลือกอนุญาโตตุลาการที่เหมาะสมเพื่อระงับข้อพิพาท คู่พิพาทยังสามารถขอให้ LCIA คัดเลือกอนุญาโตตุลาการสามคน
ซึ่งซึ่งจะทำงานร่วมกันเพื่อระงับข้อพิพาท[1] - แต่งตั้งโดยคู่พิพาท: คู่พิพาทสามารถตกลงร่วมกันเพื่อเลือกอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียวหรือสามารถตกลงกันให้แต่ละฝ่ายเลือกอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนและให้ LCIA เป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการคนที่สาม หรือให้อนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายเลือกเป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการคนที่สามก็ได้[2]
- แต่งตั้งโดยอนุญาโตตุลาการ: ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเลือกอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคนนั้น คู่พิพาทอาจตกลงกันว่าอนุญาโตตุลาการทั้งสองคนเป็นผู้คัดเลือกอนุญาโตตุลาการคนที่สามทำหน้าที่เป็นประธานก็ได้[3]
LCIA นั้นมีการเก็บฐานข้อมูลอนุญาโตตุลาการซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลของอนุญาโตตุลาการ เช่น ทักษะทางภาษา ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม LCIA จะเลือกอนุญาโตตุลาการจากภายนอกฐานข้อมูลหากว่าอนุญาโตตุลาการรายนั้นเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ และแม้ว่าคู่พิพาทจะไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลอนุญาโตตุลาการของ LCIA ได้ แต่หากคู่พิพาทเห็นพ้องกัน LCIA ยินดีที่จะให้รายชื่ออนุญาโตตุลาการที่มีศักยภาพเหมาะสมกับกรณีพิพาทนั้น ๆ
อย่างไรก็ตามคู่พิพาทตกลงที่จะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการด้วยตนเองที่อยู่นอกเหนือจากฐานข้อมูลของ LCIA ก็ได้ แต่ LCIA จะไม่แต่งตั้งบุคคลลนั้นเป็นอนุญาโตตุลาการ หากว่าบุคคลนั้นไม่เป็นกลางและไม่เป็นอิสระจากคู่สัญญา ไม่มีประสบการณ์ที่จำเป็นทั้งในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือในประเด็นของข้อพิพาท หรือไม่มีเวลาเพียงพอ
สภาหอการค้านานาชาติ – International Chamber of Commerce (ICC)
ในส่วนของ ICC นั้นข้อพิพาทสามารถชี้ขาดได้โดยอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียวหรือสามคน[4]
ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เกี่ยวกับจำนวนอนุญาโตตุลาการ ICC จะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพียงหนึ่งคน หากแต่เมื่อปรากฏต่อศาลว่าข้อพิพาทนั้นได้รับรองไว้ว่าต้องชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการสามคน เช่นนี้ผู้ร้องจะเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการภายใน 15 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากICC และผู้ถูกร้องต้องเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการภายใน 15 วันเช่นกัน ซึ่งหากมีฝ่ายใดไม่เสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ ICC จะเป็นคนแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ[5]
1.อนุญาโตตุลาการคนเดียว
ในกรณีที่คู่พิพาทตกลงกันว่าข้อพิพาทนั้นจะได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการเพียงรายเดียว โดยคู่ พิพาทนั้นต้องเสนอรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายใน 30 วันหลังจากที่ได้มีการยื่นคำขอเริ่มต้นคดีอนุญาโตตุลาการ (Request for Arbitration) หรือตามที่สำนักเลขาธิการได้กำหนดเวลาเพิ่มเติมไว้ อนุญาโตตุลาการอาจจะได้รับการแต่งตั้งโดยICCก็ได้[6]
2. อนุญาโตตุลาการสามคน
ในกรณีที่คู่พิพาทได้ตกลงว่าข้อพิพาทจะได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการสามคน แต่ละฝ่ายจะต้องเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการของฝ่ายตนไว้ในคำร้อง (Request) และคำตอบรับ (Answer) หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เสนอชื่ออนุญาโตตุลาการก็ให้ ICC เป็นคนแต่งตั้ง[7]
ในการยืนยันการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น ICC จะพิจารณาจากภูมิลำเนาและความสัมพันธ์อื่น ๆ ที่อนุญาโตตุลาการมีต่อคู่พิพาท รวมไปถึงความสามารถและความพร้อมของอนุญาโตตุลาการด้วย[8]
- [1] LCIA Rules 2020 Article 5.8
- [2] LCIA Rules 2020 Article 5.10
- [3] LCIA Rules 2020 Article 5.10
- [4] ICC Rules 2021 Articles 12.1
- [5] ICC Rules 2021 Articles 12.2
- [6] ICC Rules 2021 Articles 12.3
- [7] ICC Rules 2021 Articles 12.4
- [8] ICC Rules 2021 Articles 13.1