การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทกรณีการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยของบริษัท ปตท.สผ. และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย
กระทรวงพลังงานได้มีการขอเสนอเรื่องการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยได้ออกประกาศกระทรวงเพื่อเชิญชวนบริษัทที่สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยกำหนดให้ดำเนินการให้สิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของทั้ง 3 แปลงสำรวจในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตซึ่งมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆในการยื่นคำขอและพิจารณาการให้สิทธิและมีบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 2 บริษัทได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 และ บริษัทเชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัดในแปลงสำรวจหมายเลข G2/65 และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ลงมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมได้พิจารณาคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้พิจารณาในด้านคุณสมบัติและข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนของรัฐตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2515 ซึ่งสรุปได้ว่าผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้ง 2 บริษัทได้เสนอข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงินในการสำรวจปิโตรเลียมซึ่งมีระยะเวลา 6 ปี และผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐสูงกว่าเกณฑ์และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในแต่ละแปลงสำรวจตามประกาศของกระทรวงพลังงาน และการพิจารณาข้อผูกพันการสำรวจจากปริมาณงานที่ผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ละรายเสนอมีความสอดคล้องกับเหตุผลทางธรณีวิทยาของพื้นที่แต่ละแปลงสำรวจอีกทั้งปริมาณเงินที่เสนอมีความเหมะสมกับปริมาณงานที่จะดำเนินการ การให้สิทธินี้จะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการสำรวจเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาทและได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของการลงนามเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย นอกเหนือไปจากรายได้ของรัฐที่จะได้รับในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไร ทั้งนี้ยังสนองความมั่นคงทางด้านพลังงานโดยการส่งเสริมการจัดหาพลังงานจากแหล่งรายได้ภายในประเทศและลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งต่างประเทศรวมถึงส่งเสริมการจ้างงานและสร้างรายได้ภายในประเทศจากธุรกิจประกอบการปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีมติว่าสัญญาที่หน่วยงานรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ ถ้าส่วนราชการต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรี และสัญญามีข้อระบุให้ใช้อนุญาโตตุลาการโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ สัญญานั้นยังคงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย โดยที่ร่างสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจดังกล่าวอยู่ในกำหนดของกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 มีข้อกำหนดให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งกฎกระทรวงนั้นได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกรายทราบเป็นการทั่วไป และการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเป็นข้อกำหนดในสัมปทานปิโตรเลียมและสัญญาแบ่งปันผลผลิตมาโดยตลอดซึ่งถือเป็นกติกาสากลที่ยอมรับโดยผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต
ในการประชุมของคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องของกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีทำให้เกิดการตีความว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทและส่งผลให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงพันธกรณีตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกำหนดให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทและส่งผลให้ภาครัฐต้องขออนุมัติเป็นรายกรณีไปทำให้ใช้ระยะเวลานานมากขึ้นและเป็นการเพิ่มขึ้นตอนให้แก่หน่วยงานภาครัฐซึ่งทำให้เสียโอกาสในทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อการอนุญาโตตุลาการ และเป็นผลให้หน่วยงานภาครัฐที่ประสงค์จะระบุข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาที่ทำกับเอกชนต้องผ่านความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งพิจารณาเป็นเรื่องโดยไม่มีการวางหลักเกณฑ์กลางในการพิจารณา นอกจากนี้มติคณะรัฐมนตรียังเป็นอุปสรรคต่อการทำสัญญาของรัฐในการลงทุนในต่างประเทศเนื่องจากการทำความเข้าใจและปฏิบัติตามระบบกระบวนพิจารณาทางศาลของต่างประเทศที่รัฐเข้าไปลงทุน รวมถึงความแตกต่างกันของบทบัญญัติกฎหมายภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวประเทศไทยย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ดังนั้นกระบวนการอนุญาโตตุลาการจึงเป็นทางออกในการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
จากนั้นกระทรวงยุติธรรมได้จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสัญญาของรัฐที่มีการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ โดยมีสาระสำคัญคือในส่วนของการจัดทำสัญญากำหนดให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ยกร่างสัญญาที่มีการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบ ในส่วนบริหารสัญญากำหยดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการจัดทำแผนล่วงหน้าในการตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติตตามสัญญา ในส่วนวิธีปฏิบัติในชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีที่มีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการและหน่วยงานของรัฐตั้งอนุญาโตตุลาการจากบัญชีรายชื่อของกระทรวงยุติธรรม
ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับกระทรวงยุติรรมและเห็นชอบหลักการของระเบียบดังกล่าว ซึ่งหากในอนาคตกระทรวงยุติธรรมจะมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทำสัญญา การบริหารสัญญา และการตั้งอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทของสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน สำนักงานอัยการสูงสุดก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยให้แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่องการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ในส่วนของข้อ 1 จากเดิม สัญญาทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ ไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็น หรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป เป็น สัญญาที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีดังต่อไปนี้
- สัญญาที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
- สัญญาสัมปทานที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ให้สัมปทาน
หน่วยงานของรัฐไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็น หรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป
สำหรับสัญญาใดที่ส่วนราชการต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และสัญญามีข้อระบุให้ใช้อนุญาโตตุลาการโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ สัญญานั้นยังคงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย
แหล่งที่มา
มติการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65
มติการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องขอปรับปรุงข้อความและข้อเสนอของส่วนราชการต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65
มติการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กรกฎาคม 2552
มติการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (เรื่อง การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน)