ก.พลังงานรับการอนุญาโตฯ กรณีรื้อ “แท่นเอราวัณ” เสี่ยงผลิตก๊าซต่ำกว่าแผนปี 65
“สราวุธ” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงยอมรับ การที่ ครม.เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ในกรณีรื้อถอนแท่นเอราวัณนั้น เสี่ยงผลิตก๊าซได้ต่ำกว่าแผนปี 65 ที่วางไว้ ด้านปตท. ให้ความเชื่อมั่น ย้ำจะหาวิธีการเพื่อบริหารการนำเข้าก๊าซให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า “ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้มีการรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หลังจากที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัทแม่คือ เชฟรอน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในประเด็นปัญหาการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณที่จะหมดสัญญาสัมปทานเดือนเมษายน 2565 ซึ่งยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงในการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและจะกระทบการผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”
“รัฐได้เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินการผลิตต่อหลังหมดอายุคือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.จะต้องเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการผลิตให้ต่อเนื่องไม่มีผลกระทบ ซึ่งเป้าหมายเดิมนั้นรายใหม่ต้องได้รับความร่วมมือกับรายเดิมเพื่อเริ่มเข้าพื้นที่ได้ตั้งแต่กลางปี 63 แต่พอมีปัญหานี้ยอมรับการผลิตของทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกชไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่ปี 65 ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม มีก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซที่อาจจะหายไป” นายสราวุธกล่าวเพิ่มเติม
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่า “ปตท.สผ.ในฐานะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตในแหล่งเอราวัณจะเข้าพื้นที่และสามารถผลิตก๊าซได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปตท.ในฐานะดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ได้ร่วมวางแผนกับกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมพร้อมด้วยการพิจารณาเรียกก๊าซทั้งในประเทศเพิ่มและจัดหาแอลเอ็นจี (LNG) นำเข้าทั้งสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน/ปี และสัญญาระยะสั้นเพิ่มเติม โดยมีสถานีรับ-จ่ายทั้ง “มาบตาพุด” และ “หนองแฟบ” รองรับ ในขณะเดียวกัน จะบริหารการนำเข้าก๊าซเพื่อให้ราคากระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด ซึ่งการที่ในระบบ Pool Gas มีทั้งสัญญาผูกพันราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน มีสัญญาระยะยาวก็จะเห็นได้ว่าช่วยลดความเสี่ยงด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า หากต้องพึ่งพิงแอลเอ็นจี (LNG) ตลาดจรที่จะเห็นได้ว่าปีนี้ราคาพุ่งถึง 32 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ราคา Pool Gas อยู่ที่ประมาณ 7 เหรียญ/ล้านบีทียู”
ทั้งนี้ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตในแหล่งเอราวัณเดิม ปตท.สผ.ได้ตั้งเป้าหมายจะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มอีกจำนวน 8 แท่น กลางปี 2564 และจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐรับโอนมา ตามสัดส่วนเฉพาะที่ใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น ในขณะที่กฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงานประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ภายใต้พรบ.ปิโตรเลียม กำหนดให้เซฟรอนวางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐไม่ได้รับโอนมาอีก 49 แท่นด้วย โดยในการฟ้องยื่นอนุญาโตตุลาการทางฝ่ายรัฐบาลของไทยได้เตรียมวงเงินนงบประมาณดำเนินการไว้ราว 450 ล้านบาท
ที่มา https://today.line.me/th/v2/article/1zGzKM
https://mgronline.com/business/detail/9640000011252