ข้อจำกัดของความยินยอมในข้อตกลงอนุญาโตตุลาการหลายฝ่าย
กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นเริ่มจากการที่คู่พิพาททั้งสองฝ่ายยินยอมให้ดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมทางเงินหรือทางธุรกิจนั้นในหลายครั้งอาจมีความสลับซับซ้อนและประกอบไปด้วยคู่ความหลายฝ่าย ในการอนุญาโตตุลาการนั้น joinder คือการเข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการของบุคคลที่สามกับคู่พิพาทเดิมโดยผ่านกระบวนการร้องขอตามขั้นตอน บุคคลที่สามนั้นจะต้องผูกพันกับสัญญาอนุญาโตตุลาการที่พิพาทไม่ว่าจะมีการลงนามหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ กฎอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการบางแห่งเช่นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน (London Court of International Arbitration “LCIA”) 2014 มาตรา 22.1 (vii)[1] นั้นได้มีการวางหลักสำหรับ “การบังคับผูกมัดบุคคลที่สาม” (Forced joinder) ซึ่งให้อำนาจแก่คณะอนุญาโตตุลาการในการสั่งให้บุคคลที่สามเข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยมีเงื่อนไขว่าคู่พิพาทเดิมนั้นฝายหนึ่งยินยอมให้เข้าร่วมกระบวนการ แม้ว่าคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านกระบวนการก็ตาม
อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมกระบวนอนุญาโตตุลาการในฐานะ Joinder แล้ว ในทางอนุญาโตตุลาการนั้นยังมีการรวมคดีพิจารณา (Consolidation) ซึ่งหมายถึงการรวมกรณีพิพาทที่มีความเกี่ยวข้องกันเพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้งนี้การรวมคดีนั้นขึ้นอยู่กับกฎของสถาบันอนุญาโตตุลาการแต่ละแห่ง และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
CJD v CJE [2021] SGHC 61 Case[2]
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา ศาลสูงแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore High Court) ได้มีคำตัดสินเกี่ยวกับ Forced joinder ซึ่งเน้นเกี่ยวกับความยินยอมของเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องและการตีความที่เหมาะสมและขอบเขตของมาตรา 22.1 (vii) LCIA Rules 2014
ในกรณีพิพาทนี้ CJD, CJE, CJF และคู่สัญญาอื่น ๆ อีกสามฝ่ายได้ทำการตกลงร่วมทุนกันในปี 2014 และได้มีข้อสัญญายินยอมให้ข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในสิงคโปร์ตามกฎของ LCIA
ต่อมาได้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่าง CJD และ CJE อันเนื่องมาจากการผิดสัญญา หลังจากนั้นเมื่อมีการดำเนินกระบวนอนุญาโตตุลาการ CJD ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ CJF เข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการด้วย
ศาลได้มีคำตัดสินเกี่ยวกับคดีนี้ว่า แม้ว่าการผูกมัดนี้หมายถึงการที่บุคคลที่สามยินยอมที่จะเข้าร่วมในกระบวนการอนุญาโตตุลาการแม้ว่าจะมีคำคัดค้านจากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม หากแต่การเข้าร่วมกระบวนการนี้ไม่ได้หมายความว่าบุคคลทีสามนั้นจะสามารถเข้าร่วมกระบวนการได้ตามความต้องการของตน หากแต่การเข้าร่วมนั้นต้องเป็นไปตามกฎอนุญาโตตุลาการของสถาบันต่าง ๆ เช่น มาตรา 22.1 (vii) LCIA Rules 2014 ซึ่งอยู่ภายใต้การตัดสินของศาลสูงแห่งชาติสิงคโปร์
การ Forced Joinder นั้นเป็นมาตรการที่มีผลกระทบรุนแรง ดังนั้นข้อตกลงหรือกฎอนุญาโตตุลาการนั้นต้องเขียนให้มีคำชัดเจนและไม่คลุมเครือ รวมไปถึงต้องมีการให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการในการยินยอม ให้มีForced Joinder และจำเป็นที่จะต้องมีความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการเข้าร่วมจากบุคคลที่สามนั้นด้วย
นอกเหนือไปจากนี้ ศาลได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การลงนามภายในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นยังไม่เพียงพอในตัวของมันเอง หากแต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลที่สามในการเข้าร่วมกระบวนอนุญาโตตุลาการที่มีคู่พิพาทหลายฝ่ายนั้นด้วย
ในคำพิพากษานี้ ศาลได้ยกเลิกคำร้องภายใต้มาตรา 10(3)(b) ของกฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration Act “IAA”) เพื่อเพิกถอนคำสั่งเข้าร่วมกระบวนการของบุคคลที่สามถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคู่สัญญาในสัญญาอนุญาโตตุลาการก็ตาม ทั้งนี้เนื่องมาจากการไม่ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลที่สาม ทั้งนี้ตามกฎของ LCIA 2014 มาตรา 22.1 (vii) นั้น การจะเข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการในฐานะ Forced Joinder นั้น จำเป็นที่จะต้องมีความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร โดยความยินยอมนั้นอาจเกิดจาก
- บุคคลที่สามนั้นให้ความยินยอมเข้าร่วมเป็นลายลักษณ์อักษรหลังจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นได้เริ่มต้นแล้ว
- บุคคลที่สามนั้นได้มีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ
- ทั้งข้อ 1. และ 2. รวมกัน
ในกรณีนี้ แม้ว่า CJF นั้นจะได้มีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่การยินยอมจะเข้าร่วมเป็นคู่พิพาท Forced Joinder นั้นต้องมีการยินยอมโดยชัดแจงและชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่เพียงการลงนามในสัญญาที่มีคู่สัญญาหลายฝ่ายเท่านั้น
ความสำคัญของคำพิพากษา
ถึงแม้ว่าคู่พิพาทนั้นมีอิสระในการเข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามจากคำพิพากษาของศาลแล้ว การจะเข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการในฐานะ Forced Joinder นั้นต้องมีความยินยอมที่ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น เมื่อมีการทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทควรคำนึงถึงกฎของสถาบันอนุญาโตตุลาการที่จะใช้บังคับ การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมปราศจากความคลุมเครือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการเข้าร่วมเป็น Forced Joinder นั่นเอง
ที่มา:
- https://globalarbitrationnews.com/the-limits-of-consent-in-multi-party-arbitration-agreements/
- https://www.international-arbitration-attorney.com/wp-content/uploads/arbitrationlawcepmlp_car13_5_612306438.pdf
- https://helda.helsinki.fi/bitstream/handle/10138/44922/klaslaitinenprogradu.pdf?sequence=2
- https://www.expertguides.com/articles/managing-multiplicity-in-multi-party-and-multi-contract-arbitrations/arikllsh
- https://www.reedsmith.com/en/perspectives/2021/04/joinder-of-third-parties-to-lcia-arbitrations-the-case-of-cjd-v-cje-and
- https://www.supremecourt.gov.sg/docs/default-source/module-document/judgement/-2021-sghc-61-pdf.pdf
- https://www.wilmerhale.com/en/insights/blogs/international-arbitration-legal-developments/20210412-singapore-high-court-requires-third-partys-express-written-consent
- [1] ปัจจุบัน LCIA Rules ที่มีผลบังคับใช้อยู่คือปี 2020 หากอ้างอิงจากกฎปี 2020 จะตรงกับมาตรา 22.1 (x)
- [2] ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.supremecourt.gov.sg/docs/default-source/module-document/judgement/-2021-sghc-61-pdf.pdf