ข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในคดีที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อมพ.ศ. 2560
เพื่่อให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดและเป็นธรรมแก่คู่พิพาททุกฝ่ายและเพื่อเป็นการพัฒนาข้อบังคับว่าด้วยการอนุุญาโตตุุลาการให้มีระยะเวลาในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่สั้นลงและค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เหมาะสมกับจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ข้อพิพาทที่เรียกเงินหรือค่าเสียหายเป็นจำนวนไม่สูงมากให้สามารถใช้การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการได้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (5) แห่ง พระราชบัญญัติ สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 คณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ ในคดีที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อม พ.ศ. 2560”
ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ในข้อบังคับนี้
- (1) “คำชี้ขาด” หมายความว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดใดๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นสาระสำคัญของข้อพิพาทและให้รวมถึงคำวินิจฉัยชี้ขาดบางประเด็นด้วย
- (2) “สถาบัน” หมายความว่า สถาบันอนุญาโตตุลาการตาม พระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550
- (3) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการ คณะอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วย คณะกรรมการคณะอนุญาโตตุลาการ
- (4) “นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคล ที่ผู้อำนวยการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน
หมวด 1
บททั่วไป
ข้อ 4[1] ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่การอนุญาโตตุลาการที่คู่พิพาทตกลงกันให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการโดยการจัดการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และมีทุุน ทรัพย์ตามข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องแย้งรวมกันไม่เกินกว่า 35 ล้านบาท ถ้าทุนทรัพย์เกินกว่าจำนวนดังกล่าว ให้ใช้ข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเริ่มดำเนินการ ทางอนุญาโตตุลาการบังคับแก่การอนุญาโตตุลาการนั้น
ข้อ 5 เพื่อประโยชน์แห่งข้อบังคับนี้ คำเสนอข้อพิพาทคำคัดค้าน คำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง การติดต่อหรือคำขอใดๆให้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อ
ข้อ 6 เพื่อประโยชน์แห่งการคำนวณระยะเวลาตามข้อบังคับนี้ วัน หมายความว่าเวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือเวลาทำการปกติของกิจการนั้น ในการนับระยะเวลา มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา
ข้อ 7 การยื่นคำคู่ความ การติดต่อ คำขอ หรือเอกสารใดๆ ให้ยื่นต่อนายทะเบียนโดยทางไปรษณีย์ หรืออาจส่งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด บรรดาคำเสนอข้อพิพาท คำคัดค้าน คำคัดค้าน แก้ข้อเรียกร้องแย้ง คำขอเริ่มต้นคดี คำตอบรับและคำขออื่นๆ นั้นให้คู่พิพาทมีหน้าที่จัดการนำส่ง เว้นแต่ข้อบังคับนี้จะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
การส่งตามวรรคสอง ให้ถือว่าผู้รับได้รับเอกสารนั้นแล้ว เมื่อได้ส่งไปถึง
- (1) ผู้รับโดยตรง
- (2) ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้รับ ผู้แทน หรือทนายความของผู้รับ
- (3) ที่อยู่ที่กำหนดไว้เพื่อการรับส่งเอกสาร
- (4) ที่อยู่ตามที่ผู้ส่งและผู้รับตกลงกัน
- (5) ที่อยู่ตามที่ผู้รับและผู้ส่งเคยรับส่งเอกสารกันมาก่อน
ถ้าได้เสาะหาตามสมควรแล้ว แต่ไม่สามารถหาตัวผู้รับ หรือที่อยู่ข้างต้นได้ ให้ส่งไปยังถิ่นที่อยู่ หรือสำนักทำการงานแห่งสุดท้ายเท่าที่พอจะรู้ได้ของผู้รับเมื่อได้ส่งเอกสารตามวรรคสามและวรรคสีแล้ว ให้ถือว่าผู้รับได้รับเอกสารในวันที่ส่งเอกสารนั้น
ข้อ 8 เมื่อเห็นสมควร คณะอนุญาโตตุลาการหรือนายทะเบียนอาจย่นหรือขยายระยะเวลาใดๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ได้ เว้นแต่ข้อบังคับนี้จะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
การขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ขยายได้ไม่เกิน 15 วัน
หมวด 2
การเริ่มต้นกระบวนพิจารณา
ส่วนที่ 1
คำเสนอข้อพิพาท
ข้อ 9 ให้คู่พิพาทที่จะเริ่มดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ (“ผู้เรียกร้อง”) ยื่นคำเสนอ ข้อพิพาทของตนต่อนายทะเบียน
คำเสนอข้อพิพาทต้องมีรายการต่อไปนี้
- (1) คำขอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ
- (2) ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสารและที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย รวมทั้งผู้แทนของคู่พิพาท (ถ้ามี)
- (3) สัญญาอนุญาโตตุลาการหรือข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือสำเนาแห่งเอกสารนั้น
- (4) รายละเอียดสัญญาหลักและสำเนาแห่งสัญญานั้น
- (5) กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณา
- (7) คำบรรยายอันเกี่ยวกับลักษณะแห่งข้อพิพาท ได้แก่ข้อเท็จจริงทั้งปวงอันเป็นมวลเหตุ แห่งข้อเรียกร้อง ข้อกฎหมายหรือข้ออ้างทั้งหลายที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์หรือจำนวนเงินที่ขอบังคับ
ข้อ 10 เมื่อนายทะเบียนตรวจคำเสนอข้อพิพาท เห็นว่าคำเสนอข้อพิพาทมีรายการครบถ้วนและมีผู้เรียกร้องได้ชำระค่าธรรมเนียมเริ่มต้นแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับคำเสนอข้อพิพาทนั้นไว้
กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการให้เริ่มต้นขึ้นในวันที่นายทะเบียนรับคำเสนอข้อพิพาทนั้นและให้นายทะเบียนแจ้งวันเริ่มต้นกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ
ข้อ 11 ให้ผู้เรียกร้องส่งสำเนาคำเสนอข้อพิพาทไปยัง คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง (“ผู้คัดค้าน”) โดยเร็วและเมื่อส่งแล้วให้แจ้งนายทะเบียนทราบโดยเร็วถึงวันและวิธีการในการส่งคำเสนอ ข้อพิพาทนั้น
ส่วนที่ 2
คำคัดค้าน
ข้อ 12 เมื่อได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาทแล้ว ให้ผู้คัดค้านทำคำคัดค้านส่งไปยังผู้เรียกร้องภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ ได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาท
คำคัดค้านต้องมีรายการต่อไปนี้
- (1) ความเห็นคัดค้านคำเสนอข้อพิพาท ซึ่งต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงข้อต่อสู้หรือข้อเถียงทั้งปวง รวมทั้งเหตุแห่งข้อต่อสู้หรือข้อเถียงนั้น
- (2) คำบรรยายอันเกี่ยวกับลักษณะแห่งข้อเรียกร้องแย้ง ได้แก่ข้อเท็จจริงทั้งปวงอันเป็นมูลเหตุแห่งข้อเรียกร้อง ข้อกฎหมายหรือข้ออ้างทั้งหลายที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์หรือจำนวนเงินที่ขอบังคับ
ข้อ 13 เมื่อส่งคำคัดค้านไปยังผู้เรียกร้องแล้ว ให้ผู้คัดค้านส่งสำเนาคำคัดค้านนั้นต่อนายทะเบียน พร้อมทั้งให้แจ้งนายทะเบียนทราบโดยเร็วถึงวันและวิธีการในการส่งคำคัดค้านนั้น
ข้อ 14 ในกรณีที่มีข้อเรียกร้องแย้ง ผู้เรียกร้องอาจทำคำคัดค้านส่งไปยังผู้คัดค้านภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านนั้นได้และผู้เรียกร้องส่งสำเนาคำคัดค้านนั้นต่อนายทะเบียน พร้อมทั้งให้แจ้งนายทะเบียนทราบโดยเร็วถึงวันและวิธีการในการส่งคำคัดค้านนั้น
ข้อ 15 ถ้าผู้คัดค้านหรือผู้เรียกร้องมิได้ยื่นคำคัดค้านหรือคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้งภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือยื่นแล้วแต่ไม่ครบถ้วนให้นายทะเบียนดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป
หมวด 3
คณะอนุญาโตตุลาการ
ข้อ 16 ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอนุญาโตตุลาการคนเดียว
ข้อ 17 ให้นายทะเบียนตั้งคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่เริ่มกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ
ข้อ 18 อนุญาโตตุลาการจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตน ต่อคู่พิพาทและนายทะเบียนอนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ
คู่พิพาทที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อนายทะเบียนพร้อมส่งสำเนาหนังสือคัดค้านนั้นไปยังคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งและอนุญาโตตุลาการที่ถูกคัดค้านภายในระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการตั้งอนุญาโตตุลาการหรือนับแต่วันที่คู่พิพาทได้ทราบถึงหรือควรได้ทราบถึงเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ แต่ต้องไม่ช้ากว่าวันทำคำชี้ขาด
ให้กรรมการจำนวนสามคนจากคณะกรรมการวินิจฉัยการคัดค้านนั้นโดยเร็วถ้าอนุญาโตตุลาการถอนตัวหรือคณะกรรมการเห็นด้วยกับคำคัดค้านนั้นให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้นายทะเบียนตั้งคณะอนุญาโตตุลาการแทนมิฉะนั้นให้คณะกรรมการมีคำสั่งยกการคัดค้านนั้น
ข้อ 19 เมื่อมีการตั้งอนุญาโตตุลาการแทนคณะอนุญาโตตุลาการอาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นต่อไปหรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดก็ได้
หมวด 4
วิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ
ข้อ 20 ให้นายทะเบียนนัดคู่พิพาททุกฝ่ายและคณะอนุญาโตตุลาการโดยเร็วเพื่อกำหนดวิธีพิจารณาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยให้กำหนดกรอบระยะเวลาและจัดทำบันทึกแนวทางการพิจารณาคดีไว้
ในกรณีที่คู่พิพาทต้องการแก้ไขเพิ่มเติมคำเสนอข้อพิพาทหรือคำคัดค้าน ให้เป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะกำหนดระยะเวลาที่คู่พิพาทสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้
ข้อ 21 การพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการ
- (1) ให้กระทำเป็นการลับ
- (2)[2] ให้ราชอาณาจักรไทยเป็นสถานที่ทำอนุญาโตตุลาการเว้นแต่คู่พิพาทจะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
- (3) ให้ใช้ภาษาไทยในการดำเนินกระบวนพิจารณา เว้นแต่คณะอนุญาโตตุลการเมื่อได้หารือกับคู่พิพาทแล้ว กำหนดให้ใช้ภาษาอื่นในการดำเนินกระบวนพิจารณา
- (4) นำกฎหมายที่คู่พิพาทตกลงกันมาใช้บังคับแก่ คดีในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้ ให้คณะอนุญาโตตุลาการนำกฎหมายตามที่เห็นถูกต้องสมควรมาใช้บังคับ
ข้อ 22 ให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัยคดีจากพยานเอกสาร เมื่อเห็นสมควร คณะอนุญาโตตุลาการอาจสืบพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญหรือฟังคำแถลงด้วยวาจาหรือคำแถลงเป็นหนังสืออย่างใดๆ อันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือขอบเขตอำนาจของ คณะอนุญาโตตุลาการก็ได้
ข้อ 23 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตน รวมถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่ ขอบเขตหรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องยกขึ้นว่ากล่าวไม่ช้ากว่าวันยื่นคำคัดค้านหรือคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง
ให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งไว้ใน คำชี้ขาด
ข้อ 24 เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการสืบพยานทั้งหมดเป็นที่น่าพอใจแล้ว ให้มีคำสั่งสิ้นสุดกระบวนการพิจารณา
หมวด 5
คำชี้ขาด
ข้อ 25 คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือซื่อ คณะอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการอาจแสดงเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยย่อในคำชี้ขาดก็ได้ เมื่อทำคำชี้ขาดเสร็จแล้ว ให้คณะอนุญาโตตุลาการส่งคำชี้ขาดนั้นให้นายทะเบียนเพื่อส่งสำเนาคำชี้ขาดที่ได้รับรองความถูกต้องให้แก่คู่พิพาทโดยเร็วเมื่อได้รับชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายครบถ้วน
คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ถือว่ามีขึ้นในวันที่ คณะอนุญาโตตุลาการได้ลงนาม ในคำชี้ขาดนั้น
ข้อ 26 หากคู่พิพาทตกลงระงับข้อพิพาทได้ก่อนที่ คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการอาจมีคำสั่งให้ยุติกระบวนพิจารณาหรืออาจทำคำชี้ขาดตามยอมเมื่อคู่พิพาทมีคำขอก็ได้
คำชี้ขาดตามยอมไม่จำต้องระบุเหตุผลไว้
ข้อ 27[3] คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องออกคำชี้ขาดภายใน ระยะเวลา 120 วัน นับแต่วันที่ คณะอนุญาโตตุลาการนัดประชุมคู่พิพาทครั้งแรกเพื่อกำหนดวิธีพิจารณา ในกรณีจำเป็น คณะอนุญาโตตุลาการ อาจขยายระยะเวลาการทำคำชี้ขาดได้อีกไม่เกิน 60 วัน แต่ต้องแจ้งเหตุผลให้นายทะเบียนทราบด้วย
ข้อ 28 ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำชี้ขาดคู่พิพาทฝ่ายใดฝายหนึ่งอาจยื่นคำขอให้ คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินการดังต่อไปนี้
- (1) แก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ข้อผิดพลาดในการคำนวณตัวเลขหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นในคำชี้ขาด ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรอาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกได้ภายใน ระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ในกรณีที่เห็นสมควร คณะอนุญาโตตุลาการอาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงตาม (1) ให้ถูกได้ภายในระยะเวลา 15 วันนับแต่วันที่มีคำชี้ขาด
- (2) ตีความส่วนใดส่วนหนึ่งของคำชี้ขาด โดยคณะอนุญาโตตุลาการอาจตีความโดยทำเป็นหนังสือภายในระยะเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ การตีความนี้ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดการยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง คู่พิพาทฝ่ายที่ยื่นคำขอจะต้องส่งสำเนาคำขอนั้นให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งและนายทะเบียนทราบด้วยและถ้าคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านคำขอเช่นว่านั้นให้กระทำภายในระยะเวลา 7 วัน
- (3) ทำคำขาดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่ยังมิได้มีการวินิจฉัยไว้ในคำขาด โดยคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
หมวด 6
ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่าย
ข้อ 29 เมื่อได้ชำระค่าธรรมเนียมเริ่มต้นแล้ว ไม่ว่ากรณีใดๆ คู่พิพาทไม่อาจเรียกเงินคืนได้
ข้อ 30 การเก็บค่าธรรมเนียมเริ่มต้น ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน ภาคผนวก 1
ข้อ 31 ให้คู่พิพาทชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่ นายทะเบียนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการให้กระทำภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ
ข้อ 32 เมื่อเห็นสมควร นายทะเบียนอาจเรียกให้คู่พิพาทชำระเงินประกันค่าธรรมนียมอนุญาโตตุลาการเพิ่มเติมตามจำนวนที่เห็นสมควรได้
ข้อ 33 ถ้าทุนทรัพย์ตามข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องแย้งยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ให้นายทะเบียนเป็นผู้ประมาณการค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้นไปพลางก่อน โดยพิจารณาจากลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดีและถ้าพฤติกรณ์แห่คดีเปลี่ยนแปลงไปนายทะเบียนอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าธรรมนียมและค่าใช้จ่ายที่คู่พิพาทต้องชำระได้
ข้อ 34 ถ้าคู่พิพาทไม่วางเงินประกันตามที่นายทะเบียนกำหนด เมื่อได้หารือกับคณะอนุญาโตตุลาการและคู่พิพาททุกฝ่ายแล้วนายทะเบียนอาจขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งงดการพิจารณาคดีไว้และหากเห็นว่าคู่พิพาทจะไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือว่าเป็นการถอน ข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องแย้ง โดยไม่ตัดสิทธิที่จะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใหม่
คณะอนุญาโตตุลาการอาจงดการพิจารณาคดีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รับเงินประกันครบถ้วนก็ได้และเมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ คณะอนุญาโตตุลาการอาจออกคำชี้ขาดสำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระก็ได้
ในกรณีที่มีคำสั่งงดการพิจารณาคดี
- (1) คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจวางเงินประกันแทนคู่พิพาทฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องชำระก็ได้
- (2) มิให้นับระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการงดการพิจารณาคดีรวม เข้าไว้ในระยะวลาแห่งการทำคำชี้ขาดตามข้อ 27
ช้อ 35 คู่พิพาททุกฝ่ายต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่อสถาบัน
หมวด 7
ความลับของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ข้อ 36 คู่พิพาทฝ่ายใดฝายหนึ่งหรืออนุญาโตตุลาการคนใดคนหนึ่ง รวมถึงประธานกรรมการ นายทะเบียน เจ้าหน้าที่ พนักงานและลูกจ้าง จะเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ได้ เว้นแต่คู่พิพาททุกฝ้ายจะได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
สถาบันซึ่งรวมถึงประธานกรรมการ นายทะเบียน เจ้าหน้าที่พนักงาน ลูกจ้างและอนุญาโตตุลาการไม่ผูกมัดที่จะต้องทำคำแถลงใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่กระทำภายใต้ข้อบังคับนี้เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
คู่พิพาทจะต้องไม่อ้างอิงประธานกรรมการ นายทะเบียนเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างและอนุญาโตตุลาการเป็นพยานในกระบวนการทางกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ที่กระทำภายใต้ข้อบังคับนี้ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
หมวด 8
การยกเว้นความรับผิด
ข้อ 37 คณะกรรมการ ผู้อำนวยการสถาบัน นายทะเบียนเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง ตัวแทนหรือบุคคลใดก็ตามที่แต่งตั้งโดย สถาบัน รวมถึงคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้เชี่ยวชาญและเลขานุการคณะอนุญโตตุลาการ ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งต่อบุคคลใดๆ ในการกระทำหรือละเว้นไม่กระทำการในส่วน ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลากรภายใต้ ข้อบังคับนี้ เว้นแต่จะกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย
ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560
(ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ)
ประธานกรรมการสถาบันอนุญโตตุลาการ
ภาคผนวก 1
อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
ข้อ 1 ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น ให้เรียกเก็บจากผู้เรียกร้องในอัตรา 5,000 บาท เมื่อยื่นคำเสนอข้อพิพาท
ข้อ 2[4] ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ ได้แก่
ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าธรรมเนียมสถาบัน
ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ ให้คำนวณจากทุนทรัพย์ข้อเรียกร้องรวมกับทุนทรัพย์ ข้อเรียกร้องแย้ง
ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ สถาบันให้เป็นไปตามตารางนี้
ตารางค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ | |
จำนวนทุนทรัพย์ (บาท) | ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ |
ไม่เกิน 2,000,000 | 30,000 |
ตั้งแต่ 2,000,001 – 4,000,000 | 30,000 + 3% ของส่วนที่เกิน 2,000,000 |
ตั้งแต่ 4,000,001 – 8,000,000 | 90,000 +2%. ของส่วนที่เกิน 4,000,000 |
ตั้งแต่ 8,000,001 – 12,000,000 | 170,000 +1.75% ของส่วนที่เกิน 8,000,000 |
ตั้งแต่ 12,000,001 – 20,000,000 | 240,000 + 1.5% ของส่วนที่เกิน 12,000,000 |
ตั้งแต่ 20,000,001 – 35,000,000 | 360,000 + 1.25% ของส่วนที่เกิน 20,000,000 |
ข้อ 3 ค่าใช้จ่าย
- -ค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง คณะอนุญาโตตุลาการในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ตามความเหมาะสม
- -ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องอำนวยความสะดวกการบริหารจัดการและบริการสนับสนุนต่างๆ
- -ค่าใช้จ่ายในการนั่งพิจารณาคดีในแต่ละครั้ง โดยกำหนดให้แต่ละฝ่ายต้องชำระค่าห้องพิจารณาและค่าอุปกรณ์ฝ่ายละ 5,000 บาท ต่อวัน
- -ค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามความเหมาะสม
บรรณานุกรม
- [1] แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในคดีที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
- [2] แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในคดีที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 พยานเอกสาร
- [3] แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในคดีที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
- [4] แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการในคดีที่มีทุนทรัพย์ขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561