ข้อพิพาททางกฎหมาย คืออะไร? แตกต่างจากข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมายอย่างไร?
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น วิธีการในการระงับความขัดแย้งนั้นมีหลายวิธี ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นการระงับข้อพิพาททางกฎหมายและทางการเมือง แต่ทั้งสองวิธีนั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? บทความนี้ THAC จะพาทุกคนมาหาคำตอบว่า ข้อพิพาททางกฎหมาย คืออะไร? แตกต่างจากข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมายอย่างไร? พร้อมยกตัวอย่างคดีดังที่ใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางกฎหมาย
ข้อพิพาททางกฎหมาย คืออะไร
ข้อพิพาททางกฎหมาย คือ ข้อพิพาทระหว่างประเทศที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงต้องมีการใช้การระงับข้อพิพาททางกฎหมายเข้าระงับโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย ผ่านการอนุญาโตตุลาการและการตัดสินของศาล โดยอาจมีอีกชื่อเรียกว่าข้อพิพาททางศาล ซึ่งการอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยสมัครใจจากคู่พิพาท ทำการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการขึ้นมาเพื่อทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว ในขณะที่ศาลจะให้คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมให้ระงับข้อพิพาททางกฎหมายอย่างการอนุญาโตตุลาการหรือขึ้นศาล ก็อาจจะกลายเป็นข้อพิพาททางการเมืองหรือข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมายในการระงับข้อพิพาท
ข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมาย
ข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมาย คือ ข้อเท็จจริงซึ่งเหมาะที่จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยทางการเมือง เช่น การทูตแบบทวิภาคีซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาทโดยรัฐฝ่ายต่างๆ ที่พิพาทกัน หรือการเข้าร่วมโดยบุคคลที่สามเพื่ออำนวยความสะดวกในการระงับข้อพิพาทอย่างการใช้สื่อกลาง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การประนอมข้อพิพาท และการสืบสวน ซึ่งวิธีการระงับข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมายจะเป็นการเปิดโอกาสให้คู่พิพาทได้เจรจา พูดคุย ไกล่เกลี่ยความต้องการของแต่ละฝ่าย โดยไม่มีการมอบคำวินิจฉัยหรือตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากการอนุญาโตตุลาการหรือขึ้นศาลอีกด้วย
ค่าโง่คลองด่าน: ปมโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
หนึ่งในโครงการทุจริตดังของไทยที่มีการระงับข้อพิพาททางกฎหมายทั้งการขึ้นศาลและการอนุญาโตตุลาการร่วมกัน โดยโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 แรกเริ่มมีการยื่นขอเสนอในการจัดการและบำบัดน้ำเสียจากแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษของจังหวัดสมุทรปราการและฟื้นฟูคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะดำเนินการทั้งสองฝั่งแม่น้ำในบริเวณพื้นที่บางปูใหม่และคลองบางปลากด ภายใต้วงเงินงบประมาณ 13,612 ล้านบาทและมีการว่างจ้างรับเหมาแบบเหมารวม (Turn key) ซึ่งเอกชนจะดำเนินการทุกอย่างเบ็ดเสร็จทั้งจัดหาที่ดิน ออกแบบ และก่อสร้าง อีกทั้งการคัดเลือกผู้รับเหมามีการกำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องมีประสบการณ์ในการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อน อย่างไรก็ตามระหว่างที่กำลังประกวดราคาอยู่นั้น ก็ได้มีการอนุมัติวงเงินโครงการเพิ่มเป็น 22,955 ล้านบาทและมีการแก้ไขเงื่อนไขเป็นพื้นที่บริเวณเดียว ซึ่งกลายมาเป็นบริเวณตำบลคลองด่านขึ้น ประจวบเหมาะกับมีการปั่นราคาที่ดินคลองด่านขึ้นจากหลักหมื่นไปสู่หลักล้าน
โดยบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและชนะการประมูลคือ NVPSKG ที่เป็นกิจการค้าร่วม ซึ่งมีเพียงบริษัท N หรือ นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษที่มีประสบการณ์ในการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเพียงเท่านั้น รวมถึงบริษัทอื่นๆ นั้นยังมีความสัมพันธ์กับบุคคลในรัฐบาลระหว่างนั้น แต่ก่อนที่ทางกิจการค้าร่วม NVPSKG จะลงนามทำสัญญากับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บริษัทนอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ขอถอนตัวออกไป จนทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของกิจการค้าร่วม
จากข้อสงสัยทั้งในด้านการเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่คลองด่านและคุณสมบัติของกิจการค้าร่วม นำมาสู่การยื่นคำร้องให้หน่วยงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันขึ้น ซึ่งในปี 2546 ได้ตรวจพบความผิดปกติขึ้นหลายประการ จึงได้ระงับการดำเนินโครงการและการชำระเงินที่มียอดชำระและการดำเนินการไปมากกว่า 95% หรือสองหมื่นล้านบาท กล่าวได้ว่าการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาลปรากฏว่ารัฐบาลชนะคดี ซึ่งการระงับการดำเนินการของ NVPSKG นำมาสู้การยื่นคำร้องให้อนุญาโตตุลาการเข้ามาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติขึ้นในประเด็นข้อพิพาทการถูกยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งจากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการทำให้กรมควบคุมมลพิษต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เหลือและถูกสั่งปรับเป็นเงิน 9,600 ล้านบาท จนเป็นที่มาของชื่อค่าโง่คลองด่าน เพราะประเทศไทยเสียเงินไปมากกว่า 30,000 ล้านบาท โดยไม่ได้อะไรเลย
จะเห็นได้ว่าการระงับข้อพิพาททางกฎหมายด้วยการขึ้นศาลและการอนุญาโตตุลาการนั้นมีคำตัดสินออกมาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองคำตัดสินต่างมีผลผูกพันทางกฎหมายและสามารถยุติความขัดแย้งได้นั่นเอง ซึ่งใครที่สนใจการระงับข้อพิพาททางกฎหมายด้วยการอนุญาโตตุลาการ หรือการระงับข้อพิพาททางเลือก สามารถติดต่อได้ที่ THAC
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
อ้างอิง
https://www.chorsaard.or.th/content/12604/โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมีการทุจริตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน-และศาลได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง