ข้อสังเกตและประเด็นทางกฎหมายข้อพิพาทกรณีโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กรณีศึกษาคำพิพากษาศาลปกครอง
คดีพิพาทระหว่างกรมควบคุมมลพิษและกิจการร่วมค้าNVPSKG ซึ่งประกอบไปด้วย 6 บริษัทร่วมทุนได้แก่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธงเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด, และ บริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ซึ่งคดีพิพาทเกิดจากกิจการร่วมการค้าNVPSKGได้เข้าทำสัญญาเข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้ากับกรมควบคุมมลพิษเพื่อรับจ้างออกแบบร่วมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมถึงงานเดินระบบและบำรุงรักษาระบบบัดบัดน้ำเสียในโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมากิจการร่วมค้าNVPSKG ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานยุติธรรม เพื่อใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาท
ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องให้แก่กิจการร่วมค้าNVPSKG พร้อมดอกเบี้ย และคืนหนังสือค้ำประกัน พร้อมค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียม จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้กิจการร่วมค้าNVPSKG ข้อเรียกร้องนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง ต่อมากิจการร่วมค้าNVPSKGได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนกรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยกรมควบคุมมลพิษชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่กิจการร่วมค้าNVPSKG และให้ยกคำร้องของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการพร้อมคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งในศาลชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดด้วย
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นคำชี้ขาดที่ศาลเพิกถอนได้หรือไม่ ซึ่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดในกรณีดังต่อไปนี้
(1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า
(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
(ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว
(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น
(ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้ว ศาลอาจเพิกถอนเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือข้อตกลงนั้นก็ได้ หรือ
(จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นองค์ประกอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้
(2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า
(ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือ
(ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า กิจการร่วมค้าNVPSKGได้ส่งมอบงานตามสัญญาแก่ผู้กรมควบคุมมลพิษ เมื่อมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่างวดงานดังกล่าวให้แก่กิจการร่วมค้าNVPSKG กรมควบคุมมลพิษจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดใช้ค่างวดงานตามสัญญาให้แก่กิจการร่วมค้าNVPSKG ตามนัยของสัญญาจ้าง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินคำขอของคู่พิพาทตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนตามมาตรา 40 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น
คดีนี้ กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 28 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีที่เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ โดยกล่าวอ้างว่าในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองในคดีศาลปกครองสูงสุด ได้มีการดำเนินคดีทางอาญาที่เกี่ยวพันกับคดีนี้หลายคดี ได้แก่ คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีของศาลแขวงดุสิต และคดีของศาลอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลอาญามีเอกสารและพยานหลักฐานที่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ได้แก่ พยานบุคคลและพยานเอกสารตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน อันปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงความเชื่อมโยงความทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกันเพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้าNVPSKG ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน และสืบเนื่องจากผลของคำพิพากษาศาลอาญา สำนักงาน ป.ป.ง. จึงมีหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษแจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมอายัดเงินจำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าNVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้ชั่วคราว นอกจากนั้น ยังปรากฏความไม่ชอบของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่มีสาเหตุจากการขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการฝ่ายเอกชน ทั้งหมดนี้เป็นพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคดีของศาลปกครองเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังขอให้ศาลรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะในส่วนของกรมควบคุมมลพิษไว้พิจารณา แต่ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในส่วนของกระทรวงการคลัง โดยศาลเห็นว่ากระทรวงการคลังไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาพิพาท และไม่ปรากฏเหตุอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าจะได้รับผลกระทบจากผลแห่งคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยโดยตรง จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีซึ่งจะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ และวินิจฉัยว่า การที่ข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงกระทำการขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาโครงการ ขั้นตอนการจัดหาที่ดิน ขั้นตอนการประกวดราคา ทั้งมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจนมีการลงนามในสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ผลของการกระทำดังกล่าวเป็นไปในทางที่ทำให้ราชการเสียหาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ดังนั้น การที่กรมควบคุมมลพิษโดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นได้เข้าทำสัญญาแทน จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำการแทนกรมควบคุมมลพิษ เมื่อสัญญาเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษ ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และไม่จำต้องวินิจฉัยข้อพิพาทในประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กระทรวงการคลังยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า กระทรวงการคลังเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
กิจการร่วมค้าNVPSKGยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า พยานหลักฐานที่กรมควบคุมมลพิษอ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ตามมาตรา 75(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานเอกสาร ในคดีของศาลอาญานั้นมีที่มาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านทราบถึงการมีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการและในศาลปกครองครั้งก่อน เป็นเอกสารราชการที่ผู้คัดค้านทำถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ตลอดจนเอกชนและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ที่จัดทำขึ้นก่อนวันทำสัญญาโครงการจึงไม่อาจถือเป็นข้อเท็จจริงใหม่ได้
ในส่วนของกระทรวงการคลัง ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อกระทรวงการคลังมิได้เป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีอันมีฐานะเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครอง ตลอดจนมิใช่คู่สัญญา ตามสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและตะวันตกและไม่อยู่ในบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีในคดีเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะมีผลทำให้เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด กระทรวงการคลังจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรมควบคุมมลพิษได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลปกครองมาแต่แรกในชั้นการพิจารณาคดีครั้งก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลแขวงดุสิต ที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้าNVPSKG ที่ 1 กับพวกรวม 19 คนเป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการ ย่อมแสดงว่ากรมควบคุมมลพิษต้องมีพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าสัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่ก่อนแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป ส่วนคดีของศาลอาญาตามคำพิพากษา ที่กรมควบคุมมลพิษอ้างเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน และอ้างว่าศาลอาญามีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษเป็นการกระทำโดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนคู่สัญญา ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ประกอบการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นการที่ศาลนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงในสำนวน คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ส่วนข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษและการเอื้อประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่กิจการร่วมค้าNVPSKGจะยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 และพยานหลักฐานที่ศาลอาญาได้รับไว้นั้นส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อจัดให้มีการทำสัญญาซึ่งก็เป็นเอกสารที่มีขึ้นก่อนเริ่มต้นกระบวนการอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้นในคดีก่อนเช่นกัน ดังนั้น พยานหลักฐานอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาของศาลอาญาที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนทั้งสิ้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ส่วนหนังสือ ที่สำนักงาน ป.ป.ง. ส่งถึงกรมควบคุมมลพิษที่แจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าNVPSKGไว้ชั่วคราว นั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงการรับฟังข้อเท็จจริงและผลของคำพิพากษาศาลอาญา เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด
ส่วนที่อ้างในความไม่ชอบของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอันมีสาเหตุมาจากการขาดคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ นั้น ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายเสถียรเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือ กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อนุมัติให้แก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง และแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการในคดีนี้แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นคนละมูลเหตุพิพาทกับคดีนี้และมิใช่คู่กรณีเดียวกัน จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ ที่จะต้องเปิดเผยตามข้อ 12 ของประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ และไม่ทำให้คุณสมบัติความเป็นกลางต้องเสียไป ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษเป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนและกรมควบคุมมลพิษได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และมิใช่กรณีที่คู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมาโดยมิใช่ความผิดของผู้นั้นตามมาตรา 75 วรรคสอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และข้อเท็จจริงที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นและประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
แหล่งที่มา
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด,คดีหมายเลขดำที่ อ.285-286/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.487-488/2557, คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (อุทธรณ์คำพิพากษา)
คำแถลงการณ์ศาลปกครองสูงสุด, คดีหมายเลขดำที่ อ.285-286/2556, คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ข่าวศาลปกครอง, ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง
ข่าวศาลปกครอง, สรุปคำพิพากษาคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน (คดีคลองด่าน)