ข้อสังเกตและประเด็นทางกฎหมายในข้อพิพาทคดีไอทีวี กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลปกครอง
คดีระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ร้องต่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สำนักงานปลัดสำหนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและบริษัทไอทีวีได้ทำสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2538 มีกำหนด 30 ปี ต่อมาบริษัทไอทีวีมีหนังสือถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีมาตการชดเชยความเสียหายเนื่องจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการให้สัมปทานกับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์โดยมีการโฆษณาได้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อพิจารณา แต่ต่อมาได้มีการปฏิเสธคำขอของบริษัทไอทีวี บริษัทไอทีวีจึงมีการเสนอในเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อให้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดเชยความเสียหายเป็นเงิน 20 ล้านบาท ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาและให้บริษัทไอทีวีสามารถออกอากาศช่วงเวลา 19.00-21.30 น. ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ และให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคำชี้ขาดที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ เป็นคำชี้ขาดที่เกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถงับได้โดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการและการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน จึงร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาด
ประเด็นวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองกลางได้ให้ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยไว้ 3 ประเด็น ได้แก่
- ผลบังคับใช้ของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามข้อ 15 ของสัญญา
ศาลได้วิเคราะห์และมีความเห็นว่า แม้ว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ได้วางหลักของสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้ว่าสัญญาหรือข้อตกลงมนสัญญาที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่กรณีปรากฏว่าในขณะที่ลงนามสัญญายังไม่มีการแบ่งแยกประเภทของสัญญาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางแพ่งหรือทางปกครอง ดังนั้นคู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ ซึ่งต่อมาพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ มาตรา 15 ได้รองรับให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองได้ และไม่มีกฎหมายใดที่ห้ามมิให้รัฐทำสัญญากับเอกชนโดยตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ ข้ออ้างของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถรับฟังได้
- กรอบเวลาการเสนอข้อพิพาทของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
ศาลพิเคราะห์และให้ความเห็นว่า เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทเป็นสัญญาซึ่งรัฐยอมให้เอกชนเข้ามาแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้านคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุโทรทัศน์โดยมีค่าตอบแทนให้รัฐเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารวิทยุโทรทัศน์ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งการฟ้องคดีจะต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแก่งการฟ้องคดี ดังนั้นการยื่นคำเสนอข้อพิพาทของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่ออนุญาโตตุลาการตั้งแต่ต้นเป็นเพียงขั้นตอนการเจรจาของคู่สัญญาโดยมิได้มีการตกลงในรายละเอียดให้เป็นที่ยุติ จึงอาจยังไม่ถือว่าเป็นเหตุที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมประชุมกันและบริษัทไอทีวีได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2545 ศาลเห็นว่าเป็นวันที่คู่พิพาทรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ การที่บริษัทไอทีวีได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 จึงเป็นการสิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 1 ปีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอ้างว่าบริษัทไอทีวีได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้
- ประเด็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลมีความเห็นว่าตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามข้อสัญญา คำชี้ขาดจะต้องระบุเหตุผลไว้โดยชัดแจ้งและจะมีคำชี้ขาดเกินชอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินคำขอของคู่พิพาทมิได้ เมื่อมีคำชี้ขาดแล้วคู่พิพาทที่ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้นได้
คำชี้ขาดที่ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาทนั้นบริษัทไอทีวีได้ทราบเงื่อนไขแล้วว่าโครงการนี้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ และได้มีการส่งหนังสือไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้เปิดเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญารวมถึงเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในสัญญาร่วมงาน กรณีนี้ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งคู่พิพาทยอมรับว่าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อสัญญาโดยไม่ได้ปฏิบัติตตามขั้นตอน ทำให้ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่สามารถนำข้อสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาได้ ดังนั้นการยอมรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตร 40 วรรค 3 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ แม้ว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมิได้ยกประเด็นนี้ให้ศาลวินิจฉัยแต่ศาลสามารถยกเป็นข้อวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคำชี้ขาดในประเด็นที่ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาและการให้บริษัทไอทีวีสามารถออกอากาศในช่วงเวลา 19.00-21.30 นาฬิกาโดยไม่ต้องถูกจำกัดประเภทรายการนั้น ศาลมีความเห็นว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจในการชี้ขาดประเด็นนี้เนื่องจากข้อสัญญาที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไม่มีผลผูกพันต่อคู่พิพาทและเป็นประเด็นที่บริษัทไอทีวีมิได้ร้องขอให้พิจารณาจึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่เกินคำขอ และมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นการขัดกับข้อสัญญาและวัตุประสงค์หลักในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งหมด
ต่อมาบริษัทไอทีวีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการเพิ่มเติมสัญญาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และบริษัทไอทีวีเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตมิได้มีหน้าที่ในการยื่นเสนอร่างสัญญาต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา นอกจากนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐมิใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อมิได้มีการโต้แย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองกลางจึงไม่อาจยกเป็นข้อวินิจฉัยได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วเห็นว่า สัญญาในการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่รัฐให้สัมปทานแก่เอกชนนั้นเป็นการให้บริษัทไอทีวีใช้คลื่นความถี่ในการส่งวิทยุโทรทัศน์ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของรัฐที่จะต้องนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และบริษัทไอทีวีเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในอัตราที่สูงกว่าผู้เสนออื่นในสัญญาเข้าร่วมงานแต่ได้มีการร้องขอให้เพิ่มเติมสัญญาอันเป็นข้อสัญญาที่แตกต่างไปจากหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้วเป็นสาระสำคัญจึงไม่เป็นธรรมแก่เอกชนอื่นที่เสนอตัวเข้าร่วมในสัญญาเข้าร่วมงาน และไม่อาจฟังได้ว่าบริษัทไอทีวีเป็นผู้สุจริต
ในประเด็นของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดเชยความเสียหายในเรื่องเวลาการออกอากาศนั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ข้อสัญญานี้เป็นสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะและเป็นวัตถุประสงค์หลักให้การจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ขึ้นมา คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของรัฐ มิใช่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาดนั้นจึงเป็นกรณีที่ปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 วรรค 3 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ด้วยเหตุนี้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทจึงเป็นคำชี้ขาดที่เพิกถอนได้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
บริษัทไอทีวียื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยอ้างว่าจะนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญา การที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำข้อพิพาทดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครอง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาและไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ขอให้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไป ศาลปกครองกลางเห็นว่า ข้อกำหนดในสัญญาเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย มิได้เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งข้อสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญาก็มิได้มีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ การที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำข้อพิพาทมาฟ้องต่อศาลปกครองโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นว่า การที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานนั้นเป็นสิทธิตามข้อสัญญาเข้าร่วมงาน มิใช่ข้อขัดแย้งอันเป็นอุปสรรคที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ จึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งในเรื่องค่าตอบแทน และค่าปรับเป็นประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนแล้ว คู่กรณีจึงไม่อาจนำเรื่องดังกล่าวให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยซ้ำอีก จึงไม่ต้องดำเนินกระบวนการในชั้นอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญา โดยมีสัญญาระบุว่าในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญา ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งดังกล่าว เมื่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ฟ้องคดีฟ้องคดีนี้ โดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และบริษัทไอทีวีผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
ในการพิจารณาขั้นอนุญาโตตุลาการบริษัทไอทีวีได้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมิได้แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายของตน บริษัทไอทีวีจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลปกครองปลางจึงมีคำสั่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางโดยโต้แย้งว่าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทก่อน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือเรียกร้องให้บริษัทไอทีวีชำระหนี้ตามกฎหมาย การที่บริษัทไอทีวีได้ปฏิบัติตามสัญญาและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกเพิกถอนไปแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้อีก ถือเป็นการเสนอข้อพิพาทซ้ำและประวิงเวลาชำระค่าเสียหาย ขอให้ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองกลางและยกคำร้องของบริษัทไอทีวี
อย่างไรก็ตามศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งพิจารณาว่าเมื่อบริษัทไอทีวีได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งได้มีการรับคำเสนอข้อพิพาทไว้จึงเป็นกรณีที่บริษัทไอทีวีเสนอให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ตามมารตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการเมื่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมิได้ดำเนินการตามวิธีที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นกรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ประสงค์ใช้สิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตน ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง
ต่อมากรณีปรากฏว่าบริษัทไอทีวีได้ยื่นคำร้องถอนคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยให้เหตุผลว่าภายหลังบริษัทไอทีวีได้มีการยื่นเสนอข้อพิพาท สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เข้ายึดกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีและบอกเลิกสัญญาของบริษัทไอทีวีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นอีกข้อพิพาทหนึ่ง โดยมีคำร้องให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชำระค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาพิพาทที่มิชอบด้วยกฎหมาย และประสงค์ขอถอนข้อพิพาทก่อนหน้าออกจากสารบบความของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยโดยโต้แย้งว่าข้อพิพาทใหม่ที่บริษัทไอทีวีได้ยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นการฟ้องซ้อนกับข้อพิพาทเดิมซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทก่อนได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การยินยอมถอนข้อพิพาทอาจเป็นผลเสียต่อการโต้แย้งได้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ยื่นคัดค้านการถอนคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าว ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดโดยมีสาระสำคัญว่า คู่พิพาทต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ซึ่งกันและกันในจำนวนที่เท่าๆกัน เมื่อนำมาหักกลบลบหนี้แล้วจึงไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันและเป็นผลให้บริษัทไอทีวีไม่ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินค่าตอบแทนส่วนต่างให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่าคำชี้ขาดดังกล่าวมีเหตุอันควรสงสัยว่ามิชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเข้าร่วมงานซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง ซึ่งข้อสัญญามีข้อตกลงให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดสัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการด้วย เมื่อบริษัทไอทีวีได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด คดีจึงอยู่ในอำนาจพารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตร 9 วรรคแรก (6) แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง และต่อมาอนุญาโตตุลาการของบริษัทไอทีวีได้มีการลงชื่อถอนตัวเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ศาลจึงได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ บริษัทไอทีวียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของศาลปกครองกลางโดยให้เหตุผลว่า กระระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเป็นการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีตกลงกันด้วยความสมัครใจที่จะเสนอข้อพิพาทโดยคู่พิพาทมีเสรีภาพที่จะกำหนดการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้ขึ้นิยู่กับความยินยอมของคู่สัญญาเป็นสำคัญ
ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเรื่องคำร้องอุทธรณ์คำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการเห็นว่า การที่บริษัทไอทีวียื่นเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นมีลักษณะเป็นเพียงการขอให้มีคำชี้ขาดในประเด็นพิพาทแต่มิได้มีลักษณะเป็นข้อเรียกร้องให้คู่พิพาทมีผลผูกพันเป็นการปฏิบัติสิ่งใด กรณีจึงมิใช่ข้อเสนอพิพาทที่จะเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ประกอบกับข้อ 7 วรรคแรกของข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น เมื่อไม่อาจถือว่าการเสนอข้อพิพาทของบริษัทไอทีวีเป็นการเสนอข้อพิพาทที่ไม่สามารถกระทำได้จึงไม่มีกรณีที่จะร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้เช่นกัน สำหรับประเด็นที่บริษัทไอทีวีอุทธรณ์ว่าการดำเนินการะบวนการพิจารณาแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของศาลปกครองมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อวินิจฉัยแล้วปรากฏว่าเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่ต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ในประเด็นอื่นๆของบริษัทไอทีวีอีก ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและให้ยกคำร้องของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการส่งเรื่องถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึงประเด็นการจำหน่ายข้อพิพาทดังกล่าวให้คณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดีตต่อไป โดยให้การวิเคราะห์ว่ากรณีการอุทธรณ์ของบริษัทไอทีวีจะต้องปรากฏว่าได้มีการเสนอข้อพิพาทโดยชอบด้วยเพราะหากไม่มีการเสนอข้อพิพาทหรือการเสนอข้อพิพาทไม่ได้กระทำโดยชอบก็ดี ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด โดยกรณีนี้การเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการต้องประกอบด้วยรายละเอียดตามข้อ 7 วรรคแรก แห่งข้อบังคับสำหนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือต้องมีลักษณะเป็นข้อเรียกร้อง และอยู่ในขอบเขตที่อาจมีคำบังคับได้โดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในเนื้อหา ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยมิได้พิจารณาประเด็นที่บริษัทไอทีวียื่นอุทธรณ์ ดังนั้น แม้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะโต้แย้งคัดค้านในเรื่องของการแจ้งอุทธรณ์ของศาลปกครองตามระเบียบ เป็นการโต้แย้งในกระบวนการซึ่งอาจทำให้สมบูรณืได้ภายหลังและมิอาจทำให้ผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดที่ได้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการร้องขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการเปลี่ยนแปลงไป
แหล่งที่มา
คำพิพากษาศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีไอทีวี, ศาลปกครองกลาง, คดีหมายเลขดำที่ 47/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 584/2549
คำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ, ศาลปกครองสูงสุด, งานคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ อ. 424/2549 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 349/2549
คำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ, ศาลปกครองกลาง, คดีเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการ, คดีหมายเลขดำที่ ค. 6/2550 คดีหมายเลขแดงที่ ค. 6/2550
การตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง, ศาลปกครองสูงสุด, งานคดีปกครอง, คำร้องที่ 538/2550 คำสั่งที่ 685/2550
คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองสูงสุด, งานคดีปกครอง, คำร้องที่ 487/2550 คำสั่งที่ 774/2550
คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (การตั้งอนุญาโตตุลาการ) (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการ), ศาลปกครองสูงสุด, คดีเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการ, คำร้องที่ ค. 5/2561 คำสั่งที่ ค. 5/2562
ย่อคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 774/2550, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
การจำหน่ายข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้เรียกร้อง กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้คัดค้าน, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง