บทเรียนโฮปเวลล์ กับการยกระดับอนุญาโตตุลาการไทย
เชื่อว่าเดือนที่ผ่านมานี้ หลาย ๆ ท่านน่าจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับ คดีโฮปเวลล์ เรื่องการไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของ ศาลปกครอง ซึ่งเรียกว่าน่าจะเป็นตอนจบของ มหากาพย์โครงการระดับชาติที่ยืดเยื่อมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งย้อนไปจุดเริ่มต้นนั้นคือภาพฝันที่ดูสวยงาม เพราะประเทศไทยจะได้มีทางยกระดับเข้ามาช่วยลดปัญหารถติด แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับเหลือเพียงแต่ “ตอ” แนวเสาที่ทิ้งไว้ กลายเป็นซากปรัก ที่มีการเทงบหลักหมื่น ๆ ล้านลงไป จนเป็นตำนานการจ่ายค่าโง่ให้เอกชนสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท!
ทว่าหากย้อนกลับไป ณ วันที่เกิดข้อพิพาทขึ้นนั้นมีคำ ๆ หนึ่ง ที่หลายคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก นั้นคือ “ อนุญาโตตุลาการ “ เนื่องจาก คดีโฮปเวลล์ นี้มีการเสนอข้อพิพาท เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ จนมีคำชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย รฟท. คืนเงินค่าตอบแทนให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ประมาณ 1.1หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ายังมีหลายท่านที่สงสัยว่า ทำไมถึงมีการระงับข้อพิพาทด้วย การอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงความเป็นกลางของ การอนุญาโตตุลาการ นั้น เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน และ ทำไมถึงมีการขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการ วันนี้ สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาร่วมพูดคุย และ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ รวมถึงตอบทุกข้อสงสัยในคดีนี้ครับ
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร. สหธน รัตนไพจิตร
THAC : คำถามที่เชื่อว่าหลายคน อยากรู้มากที่สุดเลย คือ ทำไมถึงมี การอนุญาโตตุลาการ เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทที่คนไทยจำนวนมาก อาจจะยังไม่คุ้นเคย และ ในระดับสากลนั้น การอนุญาโตตุลาการ ได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด ?
ศ.ดร.สหธน : ให้แยกก่อนว่า มันเป็นคดีระหว่างคนไทยพิพาทกับคนไทย หรือ คนต่างประเทศพิพาทกับคนไทย เนื่องจากในการใช้อนุญาโตตุลาการ มันมีเหตุผลที่ต่างกัน ในกรณีคนต่างประเทศพิพาทกับคนไทย หากมองในสายตาคนต่างประเทศ เขาจะมองว่าหากคดีที่เขาเป็นตัวความ เขาก็ไม่อยากให้ศาลไทยตัดสิน เพราะเขาไม่เชื่อมั่นในการพิจารณาของศาลไทย ขณะเดียวกันหากมองจากสายตาของเราคนไทย หากว่าต้องไปขึ้นศาลประเทศเขาให้ศาลต่างประเทศตัดสิน เราก็ไม่ไว้ใจศาลประเทศเขาเช่นเดียวกัน ต่างคนต่างกลัวว่าจะเสียเปรียบไม่อยากให้ศาลอีกประเทศหนึ่งตัดสิน
จึงเป็นที่มาของการให้ คนกลาง ที่เราเลือกเป็นผู้ตัดสินให้ คนกลางที่ว่าคือ อนุญาโตตุลาการ นี้เองครับ ส่วนในกรณีคดีระหว่างคนไทยกับคนไทยเหตุผลในการใช้อนุญาโตตุลาการก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ส่วนประเด็นถัดมาว่า หากเขาประสงค์จะเข้ามาทำธุรกิจกับคนไทย เขาก็ควรต้องใช้กฎหมายไทย และ ให้ศาลไทยตัดสินสิ ไปให้ที่อื่นตัดสินทำไม
ปัญหาดังกล่าวก็เคยถกเถียงกันมาตลอด เคยมีการพูดคุยกันตั้งแต่ในสมัย ร.5 ซึ่งในการปฏิรูปกฎหมายก็เพราะว่า เราไม่ใช่ประเทศที่อยู่คนเดียวในโลก เราเองตัวเล็กนิดเดียว เรายังต้องพึ่งพาประเทศอื่น การมีกติกาที่เป็นสากล จะได้ประโยชน์มากกว่าการอยู่คนเดียว โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น
THAC : ในมุมของนักกฎหมายแล้ว การระงับข้อพิพาททางเลือก อย่างการอนุญาโตตุลาการ นั้น มีความเป็นอิสระ และ เป็นกลางมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ การอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย
ศ.ดร.สหธน : เป็นอิสระอยู่แล้ว เพราะเราเป็นคนเลือกคนเข้ามาตัดสิน เราไม่ได้ถูกบังคับให้เอาคนนั้นคนนี้ อาจารย์คิดว่า หากเราแพ้คดี เราจะมาโมเมอ้างว่าคนที่ตัดสินเรา ไม่เป็นกลาง อาจเป็นการสรุปที่เร็วไป สิ่งที่เราต้องเคารพก็คือว่า มันมีกระบวนการเปิดให้เราหาคน ซึ่งเราคิดว่าเป็นกลาง และ มีอิสระมาตัดสินเราหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวแล้วอาจารย์เห็นว่ากระบวนการ และ กติกาเริ่มจากเปิดโอกาสให้เรา สามารถที่จะเลือก และ แต่งตั้งตัว อนุญาโตตุลาการ ฝ่ายเรา และ ก็เปิดโอกาสที่จะไปคัดกรองตัวประธานอนุญาโตตุลาการว่าจะเป็นใคร อาจารย์ว่าปัจจุบันนี้มีกติกาเข้ามาสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ค่อนข้างจะอิสระและเป็นสากลครับ
THAC : อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับคำถามที่ว่า การยอมรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในไทย มีสัดส่วนที่น้อยอยู่ครับ ?
ศ.ดร.สหธน : คำถามว่าหมายถึงคนไทยทั่ว ๆ ไปยอมรับคำชี้ขาดในสัดส่วนที่น้อยใช่ไหมครับ ถ้าคำถามอย่างนั้นตอบว่าไม่ทราบครับ อาจารย์เห็นว่าการยอมรับ หรือไม่ ก็เรื่องหนึ่ง การตัดสินถูกหลักกฎหมาย และ เป็นธรรมหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในการวิจารณ์อาจารย์คิดว่าควรวิจารณ์ว่า อนุญาโตตุลาการ ได้ตัดสินถูกหลักกฎหมาย และ เป็นธรรมหรือไม่มากกว่า เพราะหน้าที่สู้คดีแพ้ชนะ ควรเป็นหน้าที่ทนายความครับ
THAC : มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่การอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ รัฐฯ เสียเปรียบในกระบวนการระงับข้อพิพาทหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของหน่วยงานรัฐฯ
ศ.ดร.สหธน : ลองนึกภาพตาม สมมติว่าเราขับรถไปแล้วตกถนน เราจะบอกว่า รถมันไม่ดี คนขับไม่ดี หรือ ถนนไม่ดี กันล่ะ การขับรถตกถนนเราจะสรุปเลยว่ารถมันไม่ดีทันทีไม่น่าจะได้ อาจารย์เชื่อว่าคดีที่ให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา กับให้ศาลพิจารณา หากเป็นการพิจารณาจากพยานหลักฐานเท่าที่มี ผลน่าจะเป็นแบบเดียวกัน เนื่องจากว่าตามเนื้อหาข้อสัญญา การแพ้คือแพ้ หากรถไม่ดีเบรคแตกจะให้ใครขับก็เกิดอุบัติเหตุครับ
THAC : จาก คดีโฮปเวลล์ นี้ รวมถึงโครงการมหาศาลระหว่าง รัฐฯ กับ เอกชน นั้น มีการอาศัยระบบอนุญาโตตุลาการเข้ามาตัดสิน พบว่า ฝ่ายรัฐบาลมักประสบความพ่ายแพ้นั้น เราสามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาดอะไรได้บ้าง และมีแนวทางอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกในอนาคต
ศ.ดร.สหธน : เป็นคำถามที่ดีครับ ถ้าถามถึงข้อผิดพลาด วิธีการที่ดีที่สุด ที่ไม่ทำให้เกิดปัญหา คือการป้องกันครับ เวลาที่จะทำโครงการอะไรขึ้นมาหนึ่งโครงการ อย่าเขียนขึ้นมาบนกระดาษ ควรลงไปดูโครงการจริงว่าทำกันอย่างไร อุปสรรคที่จะต้องเจอมีอะไร เพราะบางเรื่อง พอเซ็นต์สัญญาเราก็ผิดแล้วครับ เพราะฝ่ายรัฐฯปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ นอกจากนั้น กระบวนการบริหารสัญญาต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อย่างเช่นว่าทำอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าเกิดปัญหาจะต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดปัญหาจะต้องแก้กันอย่างไร กระบวนการควบคุมสัญญาให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งต้องมีความต่อเนื่องของคนดูแลสัญญา หรือบริหารโครงการ อาจารย์เน้นเรื่องนี้ อาจารย์คิดว่า นี้คือบทเรียนของบ้านเราจากปัญหาซ้ำซากกันด้วยเรื่องนี้ อย่าไปเน้นผิดจุดเลยครับ คดีแพ้ อย่าไปเน้นว่าทำไมไม่ตัดสินให้เราชนะ แต่ควรเน้นว่า เรื่องที่ทำให้เราแพ้คืออะไร และทำไมถึงทำเช่นนั้นมากกว่าครับ