ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนกับการตีความของศาล
หากใครได้ติดตามคลิปวิดีโอสั้น 18 ตอน ที่ทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC จัดทำขึ้นจะได้ยินคำว่า ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออ่านข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ ก็จะเจอคำนี้เช่นเดียวกัน แล้วสงสัยกันมั้ยว่า คำว่า ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในความหมายของเรา กับความหมายของ ศาล มีความหมายตรงกันหรือไม่ มาดูกันค่ะ
ถ้าถามว่า ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หมายถึงอะไรบ้าง ก็คงตอบได้ว่า ความหมายของคำคำนี้ยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจน เพราะทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเป็นกรณีไป
โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากำหนดแนวทางของ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไว้ว่า “จะต้องเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งคู่กรณีจะตกลงเป็นอย่างอื่นหรือยกเลิกไม่นำบทบัญญัติมาใช้ไม่ได้ และถ้าเราฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้แล้วจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจของประเทศ หรือความมั่นคงของประเทศ”
ตัวอย่างที่ขัดต่อข้อบัญญัติของศาล ที่ศาลเห็นควรว่าจะเพิกถอนคำชี้ขาด เช่น
- 1. คณะอนุญาโตตุลาการทำงานแบบไม่เป็นกลาง
- 2. คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทราบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ
- 3. นำข้อพิพาทที่ชี้ขาดไปแล้วไปยื่นให้คณะอนุญาโตตุลาการชุดใหม่ พิจารณาอีกครั้ง
- 4. การที่อนุญาโตตุลาการนำกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วมาใช้
- 5. การกำหนดเบี้ยปรับ โดยไม่มีสิทธิตามข้อสัญญา
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่พบเจอได้ ทั้งนี้ก็จะมีการพิจารณาเป็นกรณีไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุดนั่นเอง สามารถดูคลิปวิดีโอสั้นที่ทาง THAC จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนกับการตีความของศาล คลิก