ความหลากหลายทางเพศ บนเส้นทางอาชีพนักกฎหมาย
ความหลากหลายทางเพศ ในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการพัฒนาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ของความหลากหลายในอนุญาโตตุลาการ ความหลากหลายทางเพศ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้รับเกียรติจากคุณวัณณินา สุจริตกุล (International Arbitration, Co-President of YTHAC และอนุญาโตตุลาการของ THAC) ในการให้สัมภาษณ์ในหัวข้อเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ”
อาชีพ “นักกฎหมาย” เป็นอาชีพหนึ่งที่เราแทบจะไม่ค่อยเห็นผู้หญิงในสายงานนี้เท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ทนายความ อนุญาโตตุลาการ หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านกฎหมาย เมื่อพูดถึงนักกฎหมายทีไร เชื่อว่าหลายๆ คนก็จะนึกภาพออกเป็นผู้ชายใส่สูท ผูกเน็กไท ถือกระเป๋าเอกสาร เหมือนกับที่คุณวัณณิณา สุจริตกุล อนุญาโตตุลาการหญิงไทยที่เรียกได้ว่าอายุอาจจะน้อยที่สุดคนหนึ่งในวงการนี้ ได้มาแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจให้เราฟัง โดยคุณวัณณิณา ได้เล่าถึง การตั้งคำถามของผู้เข้าร่วม International Conference for Commercial Arbitration 2014 หรือ ICCA จาก ไมอามี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ว่า“ใคร คืออนุญาโตตุลาการ?” ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากคนส่วนใหญ่ คือ ผู้ชายผิวขาวที่ค่อนข้างมีอายุ
นอกจากนี้คุณวัณณิณา ยังแชร์อีกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่ภาพจำของคนทั่วไปเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่า “ผู้หญิง” ที่ทำงานในสายงานนี้มีจำนวนน้อยมาก ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเรียนสาขากฎหมายค่อนข้างมากก็ตาม ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีนักศึกษาวิชากฎหมายที่เป็นผู้หญิง ประมาณร้อยละ 50 และในสหราชอาณาจักร มีนักศึกษากฎหมายฝึกงานที่เป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ 65 หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็ตาม อ้างอิงจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า ตัวเลขล่าสุดของนักศึกษาสาขากฎหมาย เป็นนักศึกษาชาย 1,878 คน และเป็นนักศึกษาหญิง 3,190 คน
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ถึงแม้ว่าจำนวนนักศึกษาในสาขาวิชากฎหมายนั้น จะมีผู้หญิงมากกว่า แต่เมื่อกลับมาดูปลายทาง เราจะพบว่าจำนวนนักกฎหมายระดับสูงในสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นผู้หญิงกลับลดลงเหลือประมาณร้อยละ 20 และในบรรดาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีจำนวนนักกฎหมายระดับสูงที่เป็นผู้หญิง ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น และที่แย่กว่านั้นคือ ในปี 2559 ตามรายงานจากทั่วโลก มีจำนวนผู้หญิงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรื่อง สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ ได้ถูกยกมาพูดถึงกันบ่อยครั้งในทุกสายอาชีพ และมีมาตรการหลายอย่างที่เกิดขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในสายงาน “นักกฎหมาย” นั้น ก็มีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Equal Representation in Arbitration (ERA) Pledge ปี 2558 โครงการนี้มีขึ้น เพื่อสนับสนุนการเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการ รวมถึงอาชีพอื่นๆ ในสายงาน “นักกฎหมาย” เพื่อการปฏิบัติงานอย่างยุติธรรม เท่าเทียม ไม่แบ่งแยก หรือกีดกันทางเพศ ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงนามมากกว่า 4,200 ราย
ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงออกจากสายงานนี้ มี 2 ประการ ได้แก่ (1) การกีดกันผู้หญิง และ (2) อคติโดยไม่รู้ตัว
“การกีดกันผู้หญิง”
คือสถานการณ์ที่อัตราส่วนของผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในอาชีพทางกฎหมายไม่สมดุล เมื่อเทียบกับผู้ชาย สังเกตได้จากจำนวนผู้ปฏิบัติงานในสายงานกฎหมายนี้ โดยในระดับเริ่มต้นจะมีการแบ่งจำนวนผู้ชายและผู้หญิงเท่าๆ กัน แต่เมื่อมาดูตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น เราจะเห็นว่าจำนวนผู้หญิงกลับเริ่มลดน้อยลง สิ่งนี้เกิดจากการขาดความสมดุลในชีวิต และการทำงาน การทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น พร้อมกับการเหมารวมทางเพศที่สังคมมักมองว่า ผู้หญิงเป็นผู้ดูแล สิ่งนี้จึงทำให้สัดส่วนของนักกฎหมายหญิงที่ทำงานในสำนักงานกฎหมายค่อยๆ ลดน้อยลงในที่สุด
ปัญหาเพิ่มเติมคืออคติ “โดยนัย” หรือ “โดยไม่รู้ตัว” ซึ่งทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเหมารวมทางสังคมต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือผู้หญิงในกรณีนี้ โดยไม่มีการตระหนักรู้ ยกตัวอย่างเช่น จากกรณีศึกษา พบว่าผู้หญิงที่มีบทบาทหรือตำแหน่งผู้นำระดับสูงที่ปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับผู้หญิง จะถูกนิยามว่า “ก้าวร้าว” หรือ “เจ้ากี้เจ้าการ” ในขณะที่ผู้ชายจะถูกนิยามว่า “มีความมั่นใจ” และมี “ความเป็นผู้นำ” ในทำนองเดียวกันนี้ ผู้หญิงจะถูกตัดสินในด้นลบมากกว่า หากเกิดความผิดพลาด ในขณะที่ผู้ชายจะถูกตัดสินจากศักยภาพของตน แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากคุณดูบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 บริษัท จำนวนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทมีเพียง 37 คน หรือร้อยละ 7.5 จากจำนวนทั้งหมด ดังนั้นจำนวนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร จึงไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชากรผู้หญิงในกลุ่มผู้บริหาร และสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นในวงการอื่นนอกเหนือจากอนุญาโตตุลาการด้วย
และเมื่อพูดถึงสถานการณ์ในประเทศไทย และการมีบทบาทสำคัญของผู้หญิงในสายงาน อนุญาโตตุลาการไทยปัจจุบัน คุณวัณณิณา ก็ได้มาแชร์มุมมอง ถึงสถานการณ์ดังกล่าว ว่า ถ้าพูดถึงความสนใจของผู้หญิงในสายงานนักกฎหมายในประเทศไทยยังไม่น่ากังวลนัก เราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้หญิงที่ให้ความสนใจในสายงานนี้มากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนวัยรุ่นที่เข้าร่วมประชุม และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงในปัจจุบันนี้ก็มีนักศึกษากฎหมายที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และจำนวนผู้ช่วยนักกฎหมายที่เป็นผู้หญิงก็มีจำนวนค่อนข้างสูงเช่นกัน แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ ถึงแม้จะมีจำนวนผู้หญิงให้ความสนใจในสายงานกฎหมายมากขึ้น แต่จำนวนกลับลดน้อยลงในขั้นตอนการระงับข้อพิพาทที่มีนักกฎหมายระดับสูงมาเกี่ยวข้อง
จากสถิติของสำนักงานกฎหมายขนาดใหญ่ของไทย 3 แห่งและ บริษัทระหว่างประเทศรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีการปฏิบัติงานสำหรับการระงับข้อพิพาท ปรากฏว่าในขณะที่นักกฎหมายในพื้นที่ปฏิบัติงานประมาณ 1 ใน 3 ส่วนเป็นผู้หญิง อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงแค่ 1 รายจากนักกฎหมาย 14 รายในการระงับข้อพิพาท
สำหรับสถาบันทางด้านกฎหมายต่างๆ ในประเทศไทย เช่น THAC ก็เริ่มมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยทุกครั้งที่จะมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ THAC จะใช้ “กฎ 5 นาที” หากคุณไม่สามารถนึกถึงผู้หญิงได้ทันทีเพราะนึกถึงชื่อผู้ชายก่อน ให้รออีก 5 นาทีแล้วลองนึกถึงผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
ซึ่งคุณวัณณิณา ได้แชร์ถึงสถานการณ์ใน THAC ให้ฟังต่ออีกว่า เมื่อพูดถึงจำนวนอนุญาโตตุลาการหญิงในการพิจารณาคดี สำหรับ THAC ยังต้องมีการปรับกันอีกหลายจุด เช่น ในคดีฟ้องร้องทั่วไปที่ถึงแม้อนุญาโตตุลาการผู้หญิงจะมีประสบการณ์ที่จำเป็นมากพอ แต่กลับไม่ได้รับการแต่งตั้งในครั้งแรก
หากเราสังเกตกันดีๆ เราอาจพบกรณีศึกษาหลายจุดที่สามารถปรับปรุงได้ เพื่อนำมาซึ่งความหลากหลาย นอกจากนี้ในคดีประเภท Small Claim เรายังสามารถให้คนรุ่นใหม่ (Younger Generation) รับผิดชอบ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงาน และยังถือว่าเป็นการสร้างอนุญาโตตุลาการรุ่นใหม่ต่อไปด้วย
ซึ่งในปัจจุบัน สถาบันกฎหมายส่วนใหญ่ ก็เริ่มเล็งเห็น และให้ความสำคัญกับความหลากหลายมากขึ้น ทั้งความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายทางช่วงอายุ สังเกตได้จากการเริ่มแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการที่อายุน้อยขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ และการพยายามสร้างอนุญาโตตุลาการรุ่นใหม่ๆ
จากมุมมองที่คุณวัณณิณา เล่ามาทั้งหมดนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์ความหลากหลายในสายงาน “นักกฎหมาย” ค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต เราอาจได้เห็นแนวคิด แนวทางการตัดสินใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้นก็ได้