คำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการคืออะไร?
ในบางครั้งการดำเนินกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น คู่ประเทศพิพาทต้องการระงับข้อพิพาทแบบสันติวิธี ก็สามารถตกลงกันได้ว่าต้องการให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ชี้ขาดในข้อพิพาทขัดแย้งนั้นๆ เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยว่า ทำไมถึงเลือกอนุญาโตตุลาการแทนที่จะเป็นการตัดสินทางศาล คำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการคืออะไร ตัวอย่างกรณีคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการที่น่าสนใจให้ท่านผู้อ่านสามารถอ่านและเข้าใจได้ในบทความนี้
ศาลอนุญาโตตุลาการ คือ
ศาลอนุญาโตตุลาการ คือ องค์กรอิสระระหว่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการแก้ไขข้อพิพาทซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐ หน่วยการปกครองรัฐ องค์การระหว่างประเทศ และภาคีเอกชน โดยสนับสนุนการสถาปนาศาลอนุญาโตตุลาการและส่งเสริมงานของศาลเหล่านั้น ถือเป็นการก่อตั้งมาเพื่อระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล และคำตัดสินมีผลผูกพันคู่พิพาท แม้จะถูกเรียกว่า “ศาล” แต่ไม่ใช่องค์กรตุลาการโดยตรง แต่ใช้การกำกับดูแลทางข้อกฎหมายของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยศาลอนุญาโตตุลาการที่รู้จักกันดี ได้แก่
- ศาลอนุญาโตตุลาการประจำ (Permanent Court of Arbitration, ย่อ: PCA)
- ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (Court of Arbitration for Sport, ย่อ: CAS)
- ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของหอการค้านานาชาติ (ICC International Court of Arbitration)
ทำไมถึงเลือกศาลอนุญาโตตุลาการแทนที่จะเป็นศาล?
การเลือกใช้วิธีประนอมข้อพิพาทอย่างใช้ศาลอนุญาโตตุลาการแทนศาลระหว่างประเทศ จะใช้ในกรณีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางข้อกฎหมาย ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา ทำให้คู่พิพาทอาจกังวลถึงความไม่เป็นธรรมหากเลือกวิธีการทางศาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นจึงตกลงใช้ศาลอนุญาโตตุลาการที่มีความชำนาญและเข้าใจในเรื่องนั้น โดยจะต้องสรรหาบุคคลที่ความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ แต่งตั้งขึ้นเป็นอนุญาโตตุลาการของแต่ละฝั่งและคัดเลือกประธานอนุญาโตตุลาการขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อพิพาทนั้นๆ พิจารณาและวินิจฉัยโดยอิงกับกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งเหตุผลที่คู่พิพาทมักเลือกใช้เพราะมีกระบวนการดำเนินการอย่างรวดเร็วใช้ระยะเวลาในการดำเนินคดีสั้นกว่าศาลที่จะต้องมีขั้นตอนซับซ้อนหลายขั้นตอน อีกทั้งคำชี้ขาดได้รับการยอมรับและยกย่องอย่างกว้างขวาง และการเลือกใช้ศาลอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแจกแจงข้อมูลแก่สาธารณชน พร้อมทั้งกระบวนการที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าจึงมักเป็นตัวเลือกที่คู่พิพาทต่างนิยมใช้
คำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการ
จากที่กล่าวไปเบื้องต้น ในกรณีที่คู่ประเทศพิพาททางแพ่งสามารถตกลงกันได้ว่าต้องการให้ศาลอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาทนี้ โดยปรกติคู่พิพาทจะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นเพื่อเป็นคนกลางในการระงับข้อพิพาท ซึ่งในบางกรณีหากคู่พิพาทจะแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการที่มีจำนวนมากกว่า 1 คน ย่อมทำได้ ซึ่งคู่พิพาทต้องเลือกอนุญาโตตุลาการในจำนวนที่เท่ากันก่อน เช่น คู่พิพาท 2 ฝั่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นฝั่ง 1 คน จากนั้นอนุญาโตตุลาการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยคู่พิพาทจะต้องร่วมกันแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง
ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น ต้องมีความเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับผู้พิพาททั้งสอง มีความชำนาญการในเรื่องที่จะพิพาทและเป็นกลางมาเป็นผู้ทำการวินิจฉัยข้อพิพาททางแพ่งนั้น ในการวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการจะต้องให้เหตุผลในคำชี้ขาดอย่างชัดเจน ผลของคำชี้ขาดจะขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของคำชี้ขาดนั้นๆ ขั้นตอนของคำชี้ขาดจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่ก็ได้แล้วแต่กรณี เช่นกันกับการอ่านคำชี้ขาดนั้นๆ ในที่ประชุมและการแจ้งให้กับตัวแทนของคู่พิพาททั้งสองทราบที่เป็นไปตามระเบียนการของแต่ละสถาบันฯ คู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น และถือว่าได้ระงับข้อพิพาทเด็ดขาดแล้ว อย่างไรก็ตามคำชี้ขาดศาลอนุญาโตตุลาการจะไม่มีผลต่อคู่กรณีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
ทว่าคำชี้ขาดสามารถถูกนำมาทบทวนคำวินิจฉัยได้อีกครั้ง หากคู่พิพาทพบข้อเท็จจริงใหม่ที่ส่งผลต่อการวินิจฉัยและเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลและคู่พิพาทฝ่ายที่ขอทบทวนคำวินิจฉัยไม่ทราบมาก่อน นอกจากนี้คำชี้ขาดของศาลอนุญาโตระหว่างประเทศนั้นไม่สามารถถูกเพิกถอนได้จากศาลภายในประเทศ ไม่เหมือนกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั่วไปที่ศาลสามารถพิจารณาว่าคำชี้ขาดเหล่านั้นขัดกับหลักศีลธรรมอันดี (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
กรณีตัวอย่าง หนึ่งในคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) คือ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตัดสินลดโทษนักกีฬารัสเซีย ในการเข้าแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เหลือเพียง 2 ปีในข้อหา ละเมิดการใช้สารต้องห้ามในกีฬาอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งเป็นลดโทษจากคำตัดสินของวาด้า ในปี 2018 เนื่องจากรัสเซียจงใจปกปิดข้อมูลจากผลแล็บ ที่ตรวจหาสารต้องห้ามของนักกีฬา นำไปสู่การสอบสวนในปีต่อมา และลงโทษแบนนักกีฬาเป็นระยะ 4 ปี จากข้อหาดังกล่าว จนรัสเซียต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลกีฬาโลกในที่สุด (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
ศาลอนุญาโตตุลาการนั้นก็ถือเป็นทางเลือกขององค์กรระหว่างประเทศที่ต้องการระงับข้อพิพาท เนื่องจากความเป็นธรรมและความสะดวกในการดำเนินการ นอกจากคำชี้ขาดกรณีใช้สารกระตุ้นในนักกีฬาชาวรัสเซีย แล้วยังมีคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย หากสนใจบริการด้านอนุญาโตตุลาการสามารถติดต่อ THAC สนใจติดต่อได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ เบอร์โทรศัพท์ +66(0)2018 1615
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647534
https://www.thairath.co.th/content/242923
https://thac.or.th/th/การเพิกถอนคำชี้ขาด/
https://thac.or.th/th/โทษแรง-วาด้าแบนรัสเซีย/
https://thac.or.th/th/การแต่งตั้งคณะผู้ประนอ/