ญี่ปุ่นเตรียมแผนปล่อยน้ำเปื้อนรังสี 1 ล้านตันลงทะเล ไม่สนใจกระแสคัดค้าน
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจประกาศจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีมากกว่า 1 ล้านตันที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงสู่ทะเล สร้างความวิตกกังวลให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่อาจจะเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งในอนาคตต่อไปได้ ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีมุน แจอิน สั่งให้เจ้าหน้าที่พิจารณาแนวทางในการยื่นร้องเรียนต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทางทะเลให้ตัดสินในกรณีนี้
“โยชิฮิเดะ ซูกะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายฮิโรชิ คาจายามะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล แม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ รวมทั้งอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นเองจะออกมาคัดค้านก็ตาม
ซูกะ บอกว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถเลื่อนแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล และรัฐบาลจะออกคำชี้แจงพร้อมเหตุผลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ”
โดยการที่ไม่สามารถเลื่อนแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเลได้นั้น เป็นเพราะเดิมรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะประกาศการตัดสินใจเรื่องนี้ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากที่มีการถกเถียงกันมานานกว่า 7 ปี แต่ก็เลื่อนการตัดสินใจออกไปเพื่อให้มีเวลาสำหรับการหารือมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น เห็นว่าการทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อย และบริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำเป็นต้องทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล เนื่องจากบริษัทขาดแคลนสถานที่ในการกักเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดในปีหน้า เพราะเท็ปโก ได้กักเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากกว่า 1 ล้านตันจากท่อหล่อเย็นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2554
จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน มีคำสั่งให้คณะรัฐมนตรีเกาหลีใต้พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลระหว่างประเทศและได้มอบหมายให้คณะรัฐมนตรีทบทวนว่า สมควรยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทางทะเลมีคำตัดสินในเรื่องนี้หรือไม่รวมถึงได้เรียก “โคอิจิ อาอิโบชิ” เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซลเข้าพบและแสดงความกังวลต่อนายโคอิจิ ไอโบชิ ทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีใต้ว่า ทั้งสองประเทศมีอาณาเขตติดกันและใช้มหาสมุทรร่วมกัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อเกาหลีใต้เช่นกัน
ทั้งนี้นอกจากประธานาธิบดีแล้ว บรรดานักการเมือง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กลุ่มชาวประมง ตลอดจนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในเกาหลีใต้ก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการตัดสินใจของญี่ปุ่นเช่นกัน โดยนัดชุมนุมทั้งที่ด้านนอกสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซล, เมืองปูซาน และเกาะเชจู ขณะที่สมาคมประมง 25 องค์กรส่งหนังสือประท้วงไปยังสถานทูตญี่ปุ่น และเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกแผนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงทะเล และกดดันให้รัฐบาลเกาหลีใต้คว่ำบาตรอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นด้วย
การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์ว่า “สหรัฐสนับสนุนการตัดสินใจของญี่ปุ่น และเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นได้ทำการทดสอบทางเลือกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำแล้ว” นอกจากนี้ สหรัฐยังมองว่า การตัดสินใจของญี่ปุ่นในครั้งนี้มีความโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ปฏิบัติกันทั่วโลก
โดยล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ออกมาเรียกร้องญี่ปุ่นไม่ให้ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศอื่นๆ และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) พร้อมทั้งเรียกร้องสหรัฐให้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ตามข้อเท็จจริง อย่าเลือกข้าง
“จ้าว ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการตอบโต้การตัดสินใจของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกภายในระยะเวลาสองปี หน่วยงานระหว่างประเทศและบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดยังคงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอื่นๆ และจำเป็นต้องได้รับการบำบัดและทำให้บริสุทธิ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตามชุมชนชาวประมงในท้องถิ่นก็ยังเกรงว่าการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าจะทำลายความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกอบกู้คืนมาได้
“พวกเขาเคยบอกว่าจะไม่ปล่อยน้ำลงทะเล ถ้าชาวประมงไม่เห็นด้วย” คันจิ ทาจิยะ หัวหน้าสหกรณ์ชาวประมงในจังหวัดฟูกูชิมะ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NHK “เราไม่อาจสนับสนุนการกระทำที่ผิดสัญญา และการปล่อยน้ำลงทะเลโดยไม่ฟังเสียงใคร”
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/932511
https://mgronline.com/around/detail/9640000035204