ด่วนอาจณรงค์ ต่อสัมปทานแลกยุติข้อพิพาทแสนล้าน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม, บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ต่อสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 อนุมัติขยายไปอีก 15 ปี แลกกับยุติข้อพิพาทแสนล้านทั้งหมด
เตรียมประกาศ ลดค่าผ่านทางพิเศษ ด่านอาจณรงค์ 1 จากทางพิเศษฉลองรัช เข้าทางด่วนขั้นที่ 1 ไปบางนา ในอัตรา 25 บาท ต่อเที่ยว สำหรับรถทุกประเภท ซึ่งจะเริ่มให้ส่วนลด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2565 ถึงแม้ว่าด่านอาจณรงค์ 1 ถ้าจะไปบางนา รถยนต์ 4 ล้อ จ่าย 25 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 63 อยู่แล้วก็ตาม และคาดว่าจะมีการต่ออายุการลดราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสัมปทาน
ในอดีตการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ก่อสร้าง โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2539 โดยการทางพิเศษฯ ใช้งบประมาณของรัฐในการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งเป็นคนละส่วนกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ดาวคะนอง-บางนา-ดินแดง) ที่นับเป็น “โครงข่ายทางด่วนในเขตเมือง” การทางพิเศษฯ ต้องแบ่งรายได้ให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
ฉะนั้น คนที่เสียเงินขึ้นทางด่วนมาจากด่านรามอินทรา ด่านโยธินพัฒนา ด่านลาดพร้าว ด่านประชาอุทิศ ด่านพระราม 9-1 และด่านพัฒนาการ เมื่อถึงด่านอาจณรงค์ 1 จะต้องจ่ายค่าผ่านทาง 40 บาทอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่โครงข่ายทางด่วนในเขตเมือง และมีปัญหาว่าถ้าจ่ายค่าผ่านทางที่ด่านอาจณรงค์ 1 แล้ว ถ้าเลี้ยวซ้ายไปบางนา จะมีระยะทางเพียงแค่ 4 กิโลเมตร มีทางลง 2 ทาง คือ ทางออกสุขุมวิท 62 และทางออกบางนาเท่านั้น ไม่อย่างนั้น ก็ต้องใช้ทางลงสุขุมวิท 50 เพื่อไปบางนา ซึ่งต้องติดไฟแดงอีกหลายแยกกว่าจะถึงบางนา ทั้งนี้การทางพิเศษฯ จะต้องนำรายได้ที่จัดเก็บจากด่านอาจณรงค์ 1 แบ่งให้ BEM ที่ในขณะนั้นยังเป็นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด หรือ BECL จำนวน 60% ของรายได้ ตามสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 อีกด้วย
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการทางพิเศษฯ จะพยายามขอให้ยกเลิกจัดเก็บค่าผ่านทางด่านอาจณรงค์ 1 แต่ BECL ไม่ยอม เพราะละเมิดสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์ การทางพิเศษฯ จึงต้องพึ่งพาคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อไกล่เกลี่ย แต่ในขณะเดียวกันการทางพิเศษฯ ก็ได้เปิดใช้ด่านพระราม 9-1 สำหรับรถที่มาจากทางพิเศษศรีรัช (ช่วง พระราม 9 – ศรีนครินทร์) ไปบางนา ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2543 จึงใช้วิธีให้ส่วนลดสำหรับรถทุกประเภท 10 บาท ที่ด่านพระราม 9-2 เข้าทางพิเศษศรีรัช ทำให้สุดท้ายการทางพิเศษฯ ใช้วิธีลดราคาด่านอาจณรงค์ 1 เฉพาะไปบางนาให้ 10 บาท สำหรับรถยนต์ทุกประเภท ทำให้รถยนต์ 4 ล้อ จากเดิมเก็บค่าผ่านทาง 40 บาท เหลือ 30 บาท มาตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2544 ก่อนขยายไปเรื่อยๆกระทั่งค่าผ่านทางขึ้นเป็น 50 บาท ก็ลดให้เหลือ 40 บาท
แต่ก็มีเรื่องน่าหนักใจสำหรับผู้ใช้ทางด่วนจากดินแดงไปบางนาอยู่เหมือนกัน เพราะการใช้ทางพิเศษศรีรัชต้องจ่ายค่าผ่านทางสูงถึง 135 บาท เพราะต้องจ่ายค่าผ่านทางถึง 4 ด่าน จนกระทั้งในยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร เคยสั่งให้ลดค่าทางด่วนจากดินแดงไปบางนา สำหรับรถ 4 ล้อจาก 135 เหลือ 40 บาท เพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ BECL ลดให้ 55-65 บาท เพราะบางช่วงที่ลงทุนเองยังขาดทุน เกรงว่าจะผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ การทางพิเศษฯ จึงยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ในช่วงนั้นให้จ่ายค่าผ่านทางตามปกติที่ด่านดินแดง โดยจะได้ ใบเสร็จค่าผ่านทางสีเหลือง ด่านอโศก 3 ด่านพระราม 9-1 เมื่อถึงด่านอาจณรงค์ 1 ไปบางนาคืนใบสีเหลืองเพื่อรับเงินคืน แต่ทดลองไปได้ระยะหนึ่งก็เลิก
จนวันที่ 15 มิ.ย. 2548 การทางพิเศษฯ เปิดใช้ ทางพิเศษสาย S1 ซ้อนกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร เชื่อมระหว่างทางพิเศษฉลองรัช กับบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ทำให้รถที่มาจากรามอินทรา สามารถตรงไปชลบุรีโดยไม่ต้องลงด่านอาจณรงค์ 1 แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด เพราะหากจะขึ้น – ลงมาจากทางพื้นราบ กลับไม่มีทางขึ้น – ลงให้ เช่น รถที่จะลงบางนาต้องไปรับบัตรที่ด่านบางนา กม.6 ลงด่านบางแก้ว ส่วนรถที่มาจากสำโรงต้องเสียเงินที่ด่านบางนา และด่านอาจณรงค์-2ขณะที่การลดค่าผ่านทาง 10 บาท ที่ด่านอาจณรงค์ 1 ไปบางนา ยังคงต่ออายุลงเรื่อยๆ พร้อมกับด่านพระราม 9-1 (ศรีรัช) และด่านพระราม 9-2 (ฉลองรัช)
ทั้งนี้ที่ผ่านมา การทางพิเศษฯ และ BECL มีข้อพิพาทเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีสร้างทางพิเศษอุดรรัถยา รองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ตามสัญญารัฐต้องไม่ทำทางด่วนแข่งกัน แต่กรมทางหลวงกลับขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ไปรังสิต หรือจะเป็นในช่วงที่รัฐบาลชุดก่อน เบรกไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา อ้างว่าต้องการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประชาชน ทำให้ BECL เสียประโยชน์ เป็นคดีความหลายคดี รวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย จึงใช้วิธีต่อสัญญาสัมปทาน เพื่อแลกกับยุติข้อพิพาททั้งหมด เดิมเสนอไว้ที่ 30 ปี แต่ต่อรองเหลือ 15 ปี กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 อนุมัติให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วน ออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน เป็นวันที่ 31 ต.ค. 2578 แลกกับเงื่อนไขหลัก คือ จะไม่มีข้อพิพาทเรื่องกรณีทางแข่งขันเกิดขึ้นอีก ส่วนแบ่งรายได้เหมือนเดิม ปรับค่าผ่านทางชัดเจนทุก 10 ปี (ครั้งละ 10 บาท) เริ่มตั้งแต่ปี 2571 และขึ้นทางพิเศษฟรีในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 15 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2578 นั่นเอง