ทำความเข้าใจ ‘สถาบันอนุญาโตตุลาการ’ คืออะไร? แตกต่างอย่างไรกับศาลอนุญาโตตุลาการ
ประสบกับข้อพิพาทแต่ไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาล ทำอย่างไร? ทำความรู้จัก ‘สถาบันอนุญาโตตุลาการ’ ทางเลือกการระงับข้อพิพาทที่ช่วยให้คู่พิพาทจบปัญหา ‘นอกศาล’ กันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สถาบันอนุญาโตตุลาการคืออะไร? เหมือนกับศาลอนุญาโตตุลการไหม? มาเริ่มทำความเข้าใจที่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกันก่อน
วิธีอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คืออะไร?
วิธีอนุญาโตตุลาการ คือ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution: ADR) ชนิดหนึ่งที่อนุญาตให้คู่พิพาทสามารถยุติปัญหาด้วย ‘คำตัดสิน’ ของบุคคลที่สามผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เป็นกลาง และอิสระ (เรียกว่า ‘อนุญาโตตุลาการ’) แทน ‘ศาล หรือ ผู้พิพากษา’ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้พรบ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
วิธีอนุญาโตตุลาการนับเป็นทางเลือกการระงับข้อพิพาทโดยสมัครใจ (volunatry) ซึ่งหมายถึงคู่พิพาทต้องเห็นพ้องร่วมกันที่จะใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ จึงจะสามารถยื่นเรื่องขอให้มีกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
คู่พิพาทสามารถสรรหาและเลือกอนุญาโตตุลาการอย่างไร?
กระบวนการอนุญาโตตุลาการอนุญาตให้คู่พิพาทสามารถสรรหาและเลือกอนุญาโตตุลาการได้ด้วยตนเองผ่าน 2 กลวิธีหลัก ได้แก่
- อนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ (Ad Hoc Arbitration) คู่พิพาทดำเนินการระงับข้อพิพาทตามวิธีอนุญาโตตุลาการด้วยตนเอง กล่าวคือ โดยตั้งอนุญาโตตุลาการและกำหนดวิธีพิจารณาต่าง ๆ เอง และให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของตน อนุญาโตตุลาการ กลวิธีนี้ อาจไม่เหมาะกับคู่พิพาทที่ไม่มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถ เพราะอาจสร้างกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่มีช่องโหว่และจุดบกพร่อง
- อนุญาโตตุลาการโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Institutional Arbitration) คู่พิพาทตกลงระงับข้อพิพาทกันโดยใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ในกรณีนี้ คู่พิพาทยังมีสิทธิ์เลือกอนุญาโตตุลาการได้ด้วยตนเองจากรายการอนุญาโตตุลาการที่สถาบันแนะนำ แต่กรอบและระเบียบการพิจารณาส่วนใหญ่จะเป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบัน กลวิธีนี้เป็นที่นิยมมากกว่าเพราะสถาบันส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานการพิจารณาที่เพียบพร้อมและตรงตามข้อกำหนดทางกฎหมาย มีบุคลากรอนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญให้เลือกหลากหลาย
โดยสำหรับสถาบันให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC), สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม, สภาอนุญาโตตุลาการของหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce – ICC), สมาคมอนุญาโตตุลาการของสหรัฐอเมริกา (American Arbitration Association – AAA)
สถาบันอนุญาโตตุลาการ VS ศาลอนุญาโตตุลาการ
นอกเหนือจากสถาบันอนุญาโตตุลาการผู้ให้บริการวิธีอนุญาโตตุลาการแด่บุคคลทั่วไป, ธุรกิจ, องค์กร ตลอดจนภาครัฐ เรายังมีศาลอนุญาโตตุลาการ เช่น ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (PCA), ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) ผู้ให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการเช่นกันแต่ส่วนใหญ่จะดูแลข้อพิพาทระหว่างองค์กรขนาดใหญ่/ข้อพิพาทระหว่างประเทศ เช่น ข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์
วิธีอนุญาโตตุลาการ (Arbritration) แตกต่างอย่างไรกับการประนอมข้อพิพาท (Mediation)?
การประนอมข้อพิพาท (Mediation) คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทนอกศาล อาศัยการทำหน้าที่ของ ‘บุคคลที่สาม/คนกลาง’ (เรียกว่า “ผู้ประนอม”) เข้ามาช่วยเหลือคล้ายคลึงกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่มีจุดแตกต่างที่สำคัญ ในขณะที่อนุญาโตตุลาการมีอำนาจตัดสินถูกผิด ผู้ประนอมจะไม่มีอำนาจบังคับตัดสิน ให้คู่พิพาทตกลงกันหรือไม่มีอำนาจในการกำหนดผลลัพธ์แห่งการประนอมแก่คู่กรณี คู่กรณีจึงอาจใช้การระงับข้อพิพาททางอื่นต่อ เช่น อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) หรือ การนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาล (Litigation)
ไม่พอใจ/ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำอย่างไร?
ผลคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันที่คู่กรณีต้องปฏิบัติ และด้วยเป็นกระบวนการที่มีการตัดสินถูก-ผิด มีผู้แพ้-ผู้ชนะ ในบางครั้ง จึงอาจเกิดสถานการณ์’ ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยคำชี้ขาด และเมื่อเข้าสู่สภาวะนี้ ฝ่ายดังกล่าวสามารถร้องศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด โดยศาลจะพิจารณาอนุมัติหรือปฏิเสธคำร้อง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคำร้องดังกล่าวตรงตามเงื่อนไขเหตุควรแห่งการเพิกถอนมากน้อยเพียงใด โดยเงื่อนไขในการขอให้เพิกถอนต่อศาลมีหลากหลายประการ ได้แก่
- กระบวนการพิจารณาไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามข้อตกลง
- ฝ่ายที่แจ้งไม่ได้รับทราบกระบวนการพิจารณาคดี
- คู่สัญญาฯ มีความบกพร่องเรื่องความสามารถ
- สัญญาฯ ไม่มีผลตามกฎหมายประเทศที่คู่พิพาทตกลงกัน
- คำชี้ขาดไม่อยู่ในขอบเขต/เกินขอบเขตข้อตกลง
- ศาลเห็นว่าข้อพิพาทไม่สามารถระงับได้ด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
- ศาลเห็นว่าคำชี้ขาดขัดต่อความสงบ เรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อดีของการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
- ความรวดเร็ว
เนื่องจากการฟ้องคดีต่อศาลนั้นมีขั้นตอนมากและคู่ความยังสามารถอุทธรณ์ ฎีกาต่อไปได้ทำให้เสียเวลามาก แต่กระบวนการอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดรวดเร็วและไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก
- อนุญาโตตุลาการมีความสามารถ-เชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาท
เนื่องจากโดยปกติผู้ที่เป็นอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีเลือกมักจะเป็นผู้ที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทเป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจเรื่องที่พิพาทและพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ช่วยให้การชี้ขาดข้อพิพาททำได้รวดเร็วและยุติธรรม
ต่างกับการดำเนินคดีในศาลที่คู่พิพาทไม่อาจคัดเลือก ‘ผู้ตัดสิน’ (ผู้พิพากษา) และท้ายสุดอาจพบกับผู้ตัดสินที่มิได้มีความเชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาทอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง
- การรักษาชื่อเสียงและความลับ
วิธีอนุญาโตตุลาการกระทำเป็นความลับ เฉพาะคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมการพิจารณา บุคคลภายนอกไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงโดยตรง จึงไม่รู้ว่าคู่กรณีมีข้อพิพาทกันหรือไม่ จึงสามารถช่วยรักษาชื่อเสียงของคู่พิพาทและความลับทางธุรกิจของคู่กรณีได้อย่างตอบโจทย์ ต่างจากหลักการพิจารณาคดีของศาลที่ต้องทำโดยเปิดเผย
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผูัมาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทางและมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ โทร +66(0)2018 1615