นโยบายและแผนงานด้านอนุญาโตตุลาการของจีน
ดร. กิตติมา ปวิตรปก1 ผู้ทรงคุณวุฒิ reviewer ด้านกฎหมายจีน Chinese Language and Culture Journal
จากแนวคิดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในเรื่องการปกครองโดยหลักนิติธรรมซึ่งให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายทั้งภายในประเทศและการต่างประเทศนั้น ภายหลังการผลักดันเขตทดลองการค้าเสรีเมื่อปี พ.ศ. 2556 ประกอบกับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจจีนออกไปต่างประเทศ รัฐบาลกลางจีนจึงเริ่มศึกษาและให้ความสำคัญกับการรระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยกฎหมายผ่านกลไกรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะกลไกอนุญาโตตุลาการ โดยเห็นว่าอนุญาโตตุลาการเป็นแนวทางในการระงับข้อพิพาทที่ใช้กันในระดับสากล ทั้งนี้ ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 18 ในปี พ.ศ. 2557 ที่ประชุมกล่าวถึงการปรับปรุงระบบอนุญาโตตุลาการและยกระดับความน่าเชื่อถือเป็นเป้าหมายโดยรวม ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสำนักงานคณะรัฐมนตรีร่วมกันออกคำชี้แนะที่สำคัญ เช่น คำชี้แนะในการสร้างกลไกและก่อตั้งองค์กรการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสำหรับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง《关于建立“一带一路”国际商事争端解决机制和机构的意见》คำชี้แนะบางประการในการปรับปรุงระบบอนุญาโตตุลาการยกระดับความน่าเชื่อถือ《关于完善仲裁制定提高仲裁公信力的若干意见》ในปีพ.ศ. 2561 ทั้งนี้ คำชี้แนะสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศโดยผ่านรูปแบบการไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ รวมทั้งผลักดันการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมการฟ้องคดีกับอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ย นอกจากนี้ รัฐบาลกลางได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างศูนย์ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยผลักดันการก่อตั้งศูนย์อนุญาโตตุลาการด้านการค้าระหว่างประเทศขึ้นโดยต้องการให้เป็นจุดหมายใหม่สำหรับอนุญาโตตุลาการด้านการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก จากงานวิจัยเชิงนโยบายโดย
เมืองสำคัญของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เป็นต้น มีการเสนอข้อชี้แนะบางประการในการก่อตั้งองค์กรอนุญาโตตุลาการจีนโดยมีเป้าหมายให้เป็นองค์กรชั้นนำระดับสากลและสร้างแบรนด์จีนได้แก่ การให้เขตทดลอง เขตสาธิต หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนมีส่วนในการผลักดันเป้าหมายโดยบัญญัติหลักเกณฑ์และมาตรการเฉพาะท้องที่นั้นและ/หรือการบัญญัติกฎหมายในระดับชาติเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ปัจจุบัน เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนมีหลายแห่งโดยแต่ละแห่งมีความได้เปรียบเป็นพิเศษในบางด้าน ดังนั้น งานอนุญาโตตุลาการในบางแห่งจึงอิงความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์และลักษณะพิเศษของแต่ละเขต เช่น Greater Bay Area ของมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊าอาศัยความพิเศษในด้านบริการทางกฎหมายของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงช่วยสนับสนุนงานอนุญาโตตุลาการของจีน เขตการค้าเสรีเมืองเซี่ยเหมินมณฑลฝูเจี้ยนก่อตั้งเขตบริการกฎหมายกลางในเส้นทางสายไหมทางทะเลเน้นการระงับข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศและทางทะเล มณฑลหูเป่ยจัดตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการเน้นด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น นอกจากการวางแผนเชิงนโยบายระดับชาติแล้ว ในระดับกระทรวงของจีน เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงคณะกรรมการต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็มีการกำหนดแผนงานส่วนตนรวมถึงการกำหนดแผนงานร่วมกันในการปรับปรุงงานด้านอนุญาโตตุลาการของจีน ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมแห่งชาติจีนซึ่งเกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทโดยตรงมีการกำหนดนโยบายและแผนงานที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมงานด้านอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมกำหนดเป้าหมายระยะยาวโดยในปี พ.ศ. 2578 รูปแบบและระบบการให้บริการกฎหมายต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ผสานเข้ากับการพัฒนาและส่งเสริมงานด้านบริการ เช่นอนุญาโตตุลาการ การไกล่เกลี่ย เป็นต้น สำหรับเป้าหมายระยะ 5 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2564-2568) ของกระทรวงยุติธรรมที่สำคัญ ได้แก่ แผนการจัดตั้งระบบบริการด้านกฎหมายทั่วประเทศ การก่อตั้งสมาคมอนุญาโตตุลาการแห่งชาติจีน การก่อตั้งองค์กรอนุญาโตตุลาการชั้นนำระดับสากล เป็นต้น
ด้านผลการดำเนินงานด้านอนุญาโตตุลาการในปี พ.ศ. 2565 คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (China International Economic and Trade Arbitration Commission, CIETAC)รายงานผลงานด้านอนุญาโตตุลาการของจีนในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 20 ดังนี้ในปี พ.ศ. 2565 อนุญาโตตุลาการรับเรื่องใหม่ทั้งสิ้น 4,086 เรื่อง กรณีพิพาทมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 126,600 ล้านหยวนซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งนี้ กรณี พิพาทเกี่ยวกับต่างประเทศมีจำนวน 642 เรื่อง มูลค่ารวม 37,400 ล้านหยวน นอกจากนี้ กรณีพิพาทที่มีปัจจัยเกี่ยวกับต่างประเทศมีจำนวนมากขึ้นโดยกรณีพิพาทซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นชาวต่างชาติมีจำนวน 83 เรื่องเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36% มีมูลค่ารวม 5,400 ล้านหยวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 47% ทั้งนี้ กรณีพิพาทเกี่ยวข้องกับประเทศและดินแดนต่างๆ จำนวน 83 ประเทศโดย 32 ประเทศอยู่ในกลุ่ม ประเทศตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ นอกจากนี้ ในปี 2565 งานด้านอนุญาโตตุลาการยังมีการสร้างพัฒนารูปแบบใหม่ๆ และเปิดกว้างสำหรับต่างประเทศ โดยเพิ่มมาตรฐานการให้บริการ เช่น การสนับสนุนนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางโดยเตรียมตั้งกลุ่มความร่วมมือหลายฝ่ายในงานด้านกลไกการสืบค้นทางกฎหมายเบื้องต้น การสร้างกลไกความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยตั้งศูนย์อนุญาโตตุลาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเขตบริการกฎหมายกลางในเส้นทางสายไหมทางทะเลเมืองเซี่ยเหมินโดยลงนามกรอบความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับเขตการค้าเสรีเมืองเซี่ยเหมินเพื่อเสริมความโดดเด่นในการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับต่างประเทศและทางทะเล การจัดประชุมสุดยอดอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกับกลุ่ม RCEPและกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อยกระดับความร่วมมือในด้านกฎหมาย เป็นต้น
แผนงานด้านอนุญาโตตุลาการของจีนที่ดำเนินการอยู่ในปี พ.ศ. 2566 และมีความสำคัญ ได้แก่ การพัฒนายกระดับอนุญาโตตุลาการเพื่อเทียบมาตรฐานอนุญาโตตุลาการสากลชั้นนำ ความร่วมมือแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับองค์กรอนุญาโตตุลาการในประเทศสมาชิกอาเซียน การพัฒนางานอนุญาโตตุลาการกับกลุ่มยุทธศาสตร์ ได้แก่ กลุ่มนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง RCEP BRICS APEC การจัดประชุมสุดยอดอนุญาโตตุลาการเพื่อขยายผลการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลจีนรวมถึงองค์กรที่เกี่ยวกับงานอนุญาโตตุลาการในประเทศจีนต่างให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างกลไกการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน
1.ผู้เขียนรวบรวมสรุปข่าวสารของจีนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอนุญาโตตุลาการจากเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ เช่น รัฐบาลจีน กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงคำปราศรัยและบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในด้านอนุญาโตตุลาการ