บทสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย วิกฤตเศรษฐกิจกับข้อพิพาทในธุรกิจ SMEsในมุมมอง ผอ. สสว.
วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบมากมายกับธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงานที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ทั้งช่วยส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ธุรกิจสามารถหาทางไปต่อได้
สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็เป็นอีกหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมและยุติข้อพิพาทอันเกิดจากวิกฤตของเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะการประสบปัญหาต่างๆ อาจนำมาสู่การเกิดข้อพิพาทได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผิดสัญญาการซื้อ – ขาย การกู้เงินมาลงทุนแล้วไปต่อไม่ได้ ซึ่งข้อพิพาทเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs ที่มีมากกว่า 90% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การค้า หรือแม้แต่ธุรกิจบริการ ก็มีโอกาสเกิดข้อพิพาทขึ้นได้
ล่าสุดทาง สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อถามถึงมุมมองและโอกาสการเติบโตของธุรกิจ SMEs ในช่วงปี 2564 นี้ รวมถึงแนวทางป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มทำธุรกิจ SMEs
สำหรับธุรกิจ SMEs ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง?
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจก็ไม่ดี มีเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ในทุกธุรกิจยอดขายจะลดลงจากเดิม กำลังการซื้อ การเดินทาง เกิดปัญหาติดขัดเหมือนกันหมด โดยภาพรวมนับตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบแรก ยอดขายก็ลดลงมากในส่วนของภาคธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงประมาณกลางปี 2563 ไตรมาส 3 ก็กลับมาทรงตัว จนกระทั่งปลายปีเหมือนธุรกิจกำลังจะกลับมาดีขึ้น ปรากฏว่าเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 และระลอก 3 นี้ ทำให้ธุรกิจกลับไปสู่สถานการณ์ที่รายได้ลดลงอย่างมาก เพียงแต่ผมคิดว่าในเรื่องการปรับตัวของธุรกิจ SMEs ในระลอกหลังทำได้ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มแรก เพราะจากที่ สสว. ทำการสำรวจธุรกิจ SMEs แต่ในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา มีธุรกิจ SMEs เข้าถึงเรื่องเทคโนโลยีไม่ถึงร้อยละ 60 ถือว่าค่อนข้างน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยบุกตลาดออนไลน์หรือใช้ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากนัก หรือแม้กระทั่งการประชุมหรือการใช้เทคโนโลยี ต่าง ๆ ก็ตาม แต่ในปัจจุบันมีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีและบุกตลาดออนไลน์มากขึ้น นั่นก็หมายความว่าธุรกิจเล็ก ๆ อย่าง SMEs มีการปรับตัวเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นก็ตาม
โดยปกติแล้วข้อพิพาทเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของ สสว . ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร?
สสว. มีหน้าที่และภารกิจหลักด้านนโยบายการส่งเสริม SMEs ซึ่งการส่งเสริม สสว. จะช่วยเหลือเรื่องรายได้ รวมไปถึงการช่วยเหลือเรื่องเงินทุน หรือให้การสนับสนุนด้านการเงิน นอกจากนี้ สสว. ยังดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน การทำการตลาดและช่องทางการขายด้วย เพราะฉะนั้นงานส่งเสริม SMEs ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นงานด้านนโยบาย แต่ถ้างานในส่วนข้อพิพาทที่เกิดขึ้นที่อยู่ในการดูแลของ สสว. โดยตรงจะเป็นในส่วนของธุรกิจ SMEs ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการเงินกู้ที่ สสว. ได้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ในแต่ละช่วงเวลาซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 – 2560 ส่วนใหญ่ สสว. จะเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่เข้าถึงเงินทุนได้ยาก แล้วก็ประสบภาวะวิกฤตด่วน ในอดีตจะมีเรื่องวิกฤตที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์สึนามิ พายุปลาบึก ทาง สสว. ก็จะจะจัดทำมาตรการเพื่อเข้าไปช่วยเหลือSMEs ที่ไม่มีทุนหรือหลักทรัพย์อะไรต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้ต่อไป แต่เมื่อทำธุรกิจค้าขายต่อไป ๆ จะพบว่าธุรกิจมีทั้งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาจจะมีขาดทุนบ้าง หรือเหตุอื่น ๆ เกิดขึ้น ทำให้ SMEs ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ จะมีอยู่สองประเภท คือ ประเภทที่หนึ่งตั้งใจผิดนัดไม่ชำระหนี้ และประเภทที่สองไม่ได้ตั้งใจผิดนัดชำระหนี้ แต่ธุรกิจไปต่อไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ในเรื่องด้านคดีที่ผ่านมาก็มีตั้งแต่การเจรจา การไกล่เกลี่ย พอสุดท้ายถ้าถึงเวลาจริง ๆ ยังไม่สำเร็จและบางครั้งถ้าช้าไปเรื่องจะขาดอายุความ ทาง สสว. ก็จำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามสัญญาฯ ข้อพิพาทหลัก ๆ ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพราะผิดนัดไม่ชำระเงินคืนตามสัญญาฯ
ตั้งแต่ลงนาม MOU เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?
กรณีที่ สสว. กับ THAC ได้ลงนาม MOU มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือการดำเนินงานด้านการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SME และตั้งแต่ลงนาม MOU สสว. ได้เลือกตัวอย่างธุรกิจ SME ที่เกิดข้อพิพาทแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าไปสู่กระบวนการชั้นศาล ส่งให้กับ THAC จำนวน 30 ราย ซึ่ง THAC นัดเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทไปแล้ว จำนวน 4 ราย หรือบางรายอยู่ระหว่างพิจารณาหาข้อสรุปเพื่อจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่ง จริง ๆ ผมคิดว่าการประนอมข้อพิพาทฯ เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก่อนที่จะไปถึงชั้นศาล และการดำเนินคดีในชั้นศาลจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
“ถ้าอยากจะเริ่มธุรกิจ เราต้องเริ่มจากการเห็นโอกาส บางทีถ้าเราเป็นคนที่มองโอกาสเป็น จะทำให้เราสามารถ สร้างธุรกิจได้ การจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องลงมือทำ เพราะการทำธุรกิจจะต้องเริ่มจากการลงมือทำ เพราะถ้ายังไม่ทำก็ยังเป็นแค่แผน ถ้าทำแล้วผิดพลาดไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะต้อง ทำใหม่ครับ ทำซ้ำ เรียนรู้ แล้วเริ่มทำใหม่ พวกนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เติบโต ขยายธุรกิจได้ในอนาคตครับ”
-รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม –
ต่อจากนี้ สสว. มีแผนการดำเนินการเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทอย่างไรต่อไป
ในเบื้องต้นได้หารือกับทีมงานที่รับผิดชอบแล้ว เกี่ยวกับการทดลองใช้แนวทางการระงับข้อพิพาทของผู้ประกอบการ SME จำนวน 30 รายนี้ เมื่อดำเนินการครบจะนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ หรือข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น และเมื่อปรับแก้ไขได้แล้ว สสว. อาจจะนำแนวทางนี้มาใช้ให้มากขึ้นก็ได้ซึ่งผมคิดว่าการประนอมข้อพิพาทน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี
แนวคิดหรือข้อควรระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทในอนาคตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
ผมขอฝากถึงผู้ประกอบการ SME ว่า ในปัจจุบันนี้มีเรื่องของภัยพิบัติ โรคระบาดที่รุนแรงและเกิดขึ้นต่อเนื่อง หรือบางครั้งอาจเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น ตลาดธุรกิจที่ทำอยู่ไม่เป็นดังที่ตั้งใจเลย ผู้ประกอบการ SME อาจจะต้องคิดและมีในเรื่องของแผนสำรองประกอบด้วย แล้วก็อัพเดตเรื่ององค์ความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ และก่อนที่จะไปเรื่องทำเรื่องกู้เงินหรือขอความช่วยเหลือกับใคร ๆ ขอให้ประเมินศักยภาพและโอกาสประกอบกันด้วยเพื่อจะได้ไม่เกิดข้อพิพาทต่าง ๆ
อยากให้ท่านฝากถึงคนที่ทำธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันหรือคนที่กำลังจะเริ่มต้น มีคำแนะนำหรือแนวทางอย่างไรบ้าง?
ถ้าอยากจะเริ่มธุรกิจ จะต้องเริ่มจากการเห็นโอกาส มองโอกาสเป็น อันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้สามารถสร้างธุรกิจได้ แล้วถัดจากการคิดและมองโอกาสเป็น ก็ต้องลงมือทำ การทำธุรกิจต้องเริ่มจากการลงมือทำ เพราะถ้ายังไม่ทำก็ยังเป็นแค่แผน คนที่จะเป็นเจ้าของกิจการจริง ๆ ก็คือ คิด ลงมือทำ การคิดเกิดจากการเห็นโอกาส การคิดจะเป็นจุดเริ่มต้นทั้งนั้นและการจะสร้างธุรกิจได้ต้องลงมือทำ ผมขอฝากผู้ประกอบการตรงนี้ ไว้เป็นหลัก กรณีที่ลงมือทำแล้วก็มีข้อผิดพลาดไม่เป็นไปดังคิด ตำราบางเล่มก็บอกว่า ทำใหม่ครับ ก็จะเดินต่อไปได้ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ บางท่านก็ต้องผ่านการล้มเหลว ล้มลุก คลุกคลาน แต่ท่านก็ทำซ้ำ เรียนรู้ แล้วเริ่มใหม่ พวกนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เติบโต ขยายธุรกิจได้ในอนาคตครับ