“ประยุทธ์” สั่งหาตัวคนผิดก่อน ค่อยจ่ายเงิน “โฮปเวลล์”
จ่ายแน่ แต่ขอหาตัวคนผิดก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผย ที่กระทรวงคมนาคมยังไม่จ่ายชดเชยเงิน เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบเอาผิดฐานละเมิดและหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“ทางด่วนโฮปเวลล์” คดีดังที่ใช้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการอย่างเต็มรูปแบบกับรัฐบาลไทย ผลคือเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้โฮปเวลล์ชนะ และทางร.ฟ.ท. ต้องชำระเงินเป็นจำนวน 25,411 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 ซึ่งเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตัดสินคดี ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 แต่ขณะนี้รัฐยังไม่จ่ายเงินชดเชยและเดินหน้าหาทางออกทางกฎหมาย
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังไม่จ่ายชดเชยเงิน เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบเอาผิดฐานละเมิดและหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้แต่งตั้งคณะทำงานหาผู้กระทำผิดทางละเมิด เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคม ได้ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบกรณีเริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่ วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือตั้งแต่ วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”
“การดำเนินการในคดีทางละเมิด ตามมาตรา 10 วรรค 2 ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้ว เป็นหน้าที่กระทรวงคมนาคมต้องหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด” ศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่ม
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้ง ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานหาผู้กระทำผิดทางละเมิด โดยจะนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 25 ก.พ. 64 นี้ ซึ่งแนวทางของการสืบหาผู้กระทำผิดทางละเมิด จะดำเนินการตรวจสอบถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อรัฐที่บุคคลต้องรับผิดชอบ ก่อนจะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการออกหนังสือเพื่อแจ้งเอาผิด คล้ายกับการเอาผิดโครงการรับจำนำข้าว และศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 17 มี.ค. 2564 นี้ด้วย
โครงการโฮปเวลล์ เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่โครงการแรกๆ ที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดย ครม. เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการวันที่ 19 ก.ย.2532 และลงนามระหว่างกระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประมูล เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และ มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหลายรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการแต่ประสบปัญหาเงินทุน
กระทั่ง 30 ก.ย.2540 ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้โฮปเวลล์หยุด ก่อสร้างและเห็นชอบให้ยกเลิกสัญญา หลังจากนั้นโครงการต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และ 20 ม.ค.2541 ที่ประชุม ครม. ในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเลิกสัญญา หลังก่อสร้าง 7 ปี คืบหน้า 13.7%
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้คดีโฮปเวลล์นั้น ภาครัฐมีทางออกเพียง 2 ทางเท่านั้น ที่จะชดเชยค่าเสียหายดังกล่าว คือ
1.การรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จากข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าการนับอายุความ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็น มติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม
2.แนวทางในการสืบหาผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 10 วรรค 2 ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก เจ้าหน้าที่ตามวรรค 1 ให้มีอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่ที่หน่วยงานของรัฐรู้การละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. ยังต้องดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยภาครัฐต้องจ่ายชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน นับจาก ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง สามารถติดตามความคืบหน้าและข่าวสารอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.thac.or.th
ที่มา https://shorturl.asia/tdqRf