ปลดล็อกกีฬายกเหล็ก! ศาลกีฬาโลกไฟเขียวให้ไทยส่งนักกีฬาลงแข่งระดับนานาชาติ
ปลดล็อกกีฬายกเหล็ก กรณีโดนแบนจากการพบนักกีฬาใช้สารกระตุ้น สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ขอความเป็นธรรมยื่นเรื่องอุทธรณ์ให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ยกน้ำหนักไทยต่อศาลกีฬาโลก ล่าสุดศาลกีฬาโลกอนุญาตให้นักกีฬายกเหล็กไทยสามารถกลับเข้าแข่งขันระดับนานาชาติได้แล้ว
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ศาลกีฬาโลก ให้ความเป็นธรรมกับสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ โดยให้นักกีฬาระดับยุวชน สามารถกลับไปแข่งขันรายการระดับนานาชาติของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติได้แล้ว ส่วนประเภทเยาวชน และประชาชน กลับไปเข้าร่วมได้ หลังจากวันที่ 18 มิถุนายน 2564 แต่หากต้องการกลับไปแข่งขันทันที สมาคมฯ จะต้องชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6,400,000 บาท) ให้ ไอดับเบิลยูเอฟ โดยยังไม่สามารถเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิกโตเกียวได้ ขณะที่ผู้ตัดสินหรือกรรมการตัดสินนานาชาติของไทย สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที โดยไม่มีเงื่อนไข
ทั้งนี้ตามที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการ ทำเรื่องอุทธรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ยกน้ำหนักไทย ต่อศาลกีฬาโลก ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ตามคดีเลขที่ CAS 2020/A/6981 นั้น
นายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ประธานคณะทำงานกฎหมายระหว่างประเทศ ของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้รายงานถึงผลแห่งคดีอันเป็นคำตัดสินที่ถือได้ว่าเป็นที่ยุติแล้ว จากคณะอนุญาโตตุลาการของศาลกีฬาโลก หรือ CAS ระหว่าง ผู้อุทธรณ์ คือ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กับสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือไอดับเบิลยูเอฟ โดยเป็นเอกสารจำนวนถึง 52 หน้า ลงวันที่ 8 เมษายน 2564 (ตามวัน/เวลาท้องถิ่น) โดยภาพรวม เป็นไปตามเป้าประสงค์หลักของสมาคมฯ ในการต่อสู้เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับบุคคลากรของกีฬายกน้ำหนัก เป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ภาคส่วนหลัก
ส่วนที่ 1 นักกีฬายกน้ำหนักระดับยุวชน สามารถกลับเข้าไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติของไอดับบลิวเอฟ ได้แล้ว เพราะโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน หมดไปตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563
ส่วนที่ 2 เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค ที่จะไปเป็นผู้ตัดสินหรือกรรมการตัดสินนานาชาติ สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
และสุดท้าย ส่วนที่ 3 สำหรับสมาคมฯ เอง จะถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2566 โดยไม่มีสิทธิในจัดการแข่งขัน จัดประชุมคองเกรส จัดประชุมกรรมการบริหาร จัดประชุมกรรมาธิการและกรรมการชุดอื่นใดได้ ไม่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมคองเกรส หมายรวมถึงการออกเสียง ไม่มีสิทธิในการยื่นหรือเสนอญัตติ และวาระต่างๆ ในการประชุมคองเกรส และไม่มีสิทธิเข้าร่วมและรับสิทธิประโยชน์จาก IWF Development Program ยกเว้น การศึกษากับเข้าอบรมในเรื่องการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลกีฬาโลก ได้เปิดช่องให้ระยะเวลาการถูกจำกัดสิทธิ์ของสมาคมฯ นั้น สามารถกระชับหรือย่อขึ้นมาได้ประมาณ 1 ปี โดยให้ไปสิ้นสุดได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 (จากวันที่ 1 เมษายน 2566) ได้ เพียงสมาคมฯ ชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,400,00 บาท และ สมาคมฯ จะต้องแสดงถึงเจตนารมณ์พร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์ของการปฏิบัติที่เป็นจริงในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาที่สอดคล้องเป็นไปตามประมวลมาตรฐานขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ WADA โดยให้กับชุดคณะทำงานของไอดับบลิวเอฟ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรรมการอิสระจากภายนอก Independent Monitoring Group (IMG) มาติดตามผลการปฏิบัติงานของสมาคมฯ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า “โดยสรุปแล้วผมคิดว่าสมาคม ได้บรรลุการทำงานในระดับยุทธศาสตร์ อันมีเป้าหมายคำนึงถึงบุคลากรทางการกีฬายกน้ำหนัก ได้แก่ นักกีฬายกน้ำหนัก กับเจ้าหน้าที่เทคนิคของสมาคม เป็นศูนย์กลางหรือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ซึ่งเห็นได้จากคำตัดสินแสดงถึงความเมตตาจากท่านในองค์คณะอนุญาโตตุลาการของศาลกีฬาโลกในคดีนี้ โดยทางเราน้อมรับและเคารพในการตัดสินทุกประการ”
“นอกจากนี้แล้ว สมาคมได้มีหลายสิ่งอย่างที่พวกเราจำเป็นต้องถอดเป็นบทเรียน เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับสมาคมซ้ำอีก สมาคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นองค์กรกีฬาอัจฉริยะ โดยมีบุคลากรอันทรงคุณค่าระดับสากลในการขับเคลื่อนเสมือนเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพลังอำนาจทางกีฬาให้กับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้” นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่ม
ที่มา shorturl.asia/aYCpW
shorturl.asia/1bpOZ