ผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อการอนุญาโตตุลาการ
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การเว้นระยะห่างทางสังคม ผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก การปิดพรมแดนระหว่างประเทศ การล็อคดาวน์ประเทศและเมืองต่าง ๆ โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น COVID-19 ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าวิกฤตการทางการเงินเมื่อปี 2008 ถึงสามเท่า ทั้งนี้ยังส่งผลกระทบทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง อีกทั้งผลกระทบนี้ยังรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งในด้านของระบบตัดสินและการตุลาการ รวมไปถึงการดำเนินคดีและการอนุญาโตตุลาการ
การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้นเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เป็นที่นิยมในการระงับข้อพิพาททางธุรกิจ อันเนื่องมาจากข้อดีของกระบวนการในเรื่องของความยืดหยุ่นและสภาพบังคับของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่สามารถบังคับใช้ระหว่างประเทศได้ง่ายกว่าการบังคับตามคำพิพากษาของศาล
การปิดพรมแดนระหว่างประเทศและการห้ามเดินทางนั้นส่งผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมายังสถานที่นั่งพิจารณา การตรวจทานเอกสาร รวมไปถึงการสืบพยาน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดจากการระบาดของ COVID-19 นั่นคือการที่การไต่สวนต่อหน้าจำนวนมากนั้นถูกเลื่อนออกไป หากแต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้กระบวนการต่าง ๆ นั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้ สถาบันอนุญาโตตุลาการหลายแห่งได้มีการพัฒนาแนวทางปฏิบัติ คำสั่งและขั้นตอนที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณาคดีระยะไกลและการพิจารณาคดีเสมือนจริง นอกเหนือไปจากนี้ การระบาดของ COVID-19 นั้นทำให้มีความต้องการกระแสเงินสดมากขึ้นทั้งในแง่ของการรักษาเงินสดและการหมุนเวียน การไกล่เกลี่ยทางไกลจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายและความรวดเร็วนั่นเอง
นอกเหนือไปจากนี้ การระบาดของ COVID-19 นั้นส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนโครงการออกไปหรือยกเลิกอันเป็นกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อพิพาทเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีข้อพิพาทจำนวนมากถูกเลื่อนการพิจารณาจากปี 2020 เป็น 2021 ด้วยเหตุนี้ ความพร้อมของอนุญาโตตุลาการอาจเป็นปัญหาตามมาและอาจทำให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้ระยะเวลาสำหรับการพิจารณาคดียาวนานขึ้นอีกด้วย
ผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเนื่องมาจากสถานการณ์ของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโรคระบาด กล่าวคือ ลูกหนี้ซึ่งก่อนหน้านี้มีทรัพย์สินเพียงพอในการปฏิบัติตามคำชี้ขาด อาจจะมีทรัพย์สินน้อยลง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการวางแผนการบังคับใช้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
การระบาดของ COVID-19 นั้นส่งผลกระทบตั้งแต่การยื่นเอกสารเพื่อเริ่มต้นกระบวนการ การพิจารณาคดีที่กำลังอยู่ในกระบวนการ รวมไปการบังคับคำชี้ขาด ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีการใช้การพิจารณาคดีเสมือนจริงเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเผยแพร่เอกสารทางออนไลน์สำหรับข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณา การยื่นเอกสารออนไลน์ รวมไปถึงการอนุญาโตตุลาการเฉพาะเอกสารโดยไม่มีการไต่สวนด้วยหลักฐาน (documents-only arbitrations) สำหรับคดีใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่แท้จริงทางกฎหมาย รวมไปถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นอาจเป็นการแก้ไขปัญหาทางข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการตีความ “เหตุสุดวิสัย” หรือ force majeure ไปจนถึงผลกระทบของการล้มละลายซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากผลกระทบของการระบาด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ชุมชนอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้นต้องมีการหาแนวทางที่สอดคล้องกันเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาททุกฝ่าย
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
มาตรการที่ดำเนินการโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ
สถาบันอนุญาโตตุลาการหลายแห่งได้มีการพิจารณามาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบของ COVID-19 เมื่อเดือนเมษายน 2020 สถาบันอนุญาโตตุลาการ 13 แห่งได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องความร่วมมือในการรับมือกับการระบาดของ COVID-19[1] โดยมีเนื้อหาสำคัญในแถลงการณ์ในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบัน รวมไปถึงการให้คำมั่นว่าคดีที่ค้างอยู่ระหว่างพิจารณาจะดำเนินการต่อไป
นอกเหนือไปจากนี้ ยังได้มีการก่อตั้งพันธมิตรศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration Center Alliance หรือ IACA) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของสถาบันอนุญาโตตุลาการต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันขจัดอุปสรรคในเรื่องระยะทาง เขตเวลา และความท้าทายอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการระบาดของ COVID-19
สถาบันอนุญาโตตุลาการต่าง ๆ นั้นให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรวมไปถึงการพิจารณาคดีเสมือนจริงและการพิจารณาคดีแบบออนไลน์ ซึ่งถึงแม้ว่าการพิจารณาคดีแบบออนไลน์นี้จะไม่ใช่เรืองใหม่ในการอนุญาโตตุลาการ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นรวมทั้งมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่คู่พิพาทไม่อาจรอจนสถานการณ์การระบาดนี้ดีขึ้น
1.หอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce หรือ ICC)
นอกเหนือไปจากการประชุมออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของอนุญาโตตุลาการที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของ COVID-19 แล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2020 หอการค้าระหว่างประเทศ (ICC) ได้มีการเผยแพร่บันทีกแนวทางปฏิบัติเรื่อง เรื่อง “มาตรการที่เป็นไปได้ที่มุ่งเป้าไปที่การบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Possible Measures Aimed at Mitigating the Effects of the COVID-19 Pandemic) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคู่พิพาทและคณะอนุญาโตตุลาการผ่านการอนุญาโตตุลาการของ ICC โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันความล่าช้าในการพิจารณาคดีอันเนื่องมาจากผลกระทบของ COVID-19 และการพิจารณาคดีแบบเสมือนจริง[2]
2.ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน (The London Court of International Arbitration หรือ LCIA)
ในส่วนของ LCIA นั้นได้มีคำแนะนำสำหรับอนุญาโตตุลาการ หรือ Guidance Note for Arbitrators[3] โดยยินยอมให้มีการสืบพยานทางโทรศัพท์หรือทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทนการพิจารณาคดีแบบต่อหน้า หรือ Face to Face
นอกเหนือไปจากนี้ LCIA ยังได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งยังดำเนินการเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและสวัสดิการของพนักงานด้วย รวมไปถึงการจัดให้มีการอัพเดทข่าวสารต่าง ๆ สม่ำเสมอผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของสถาบันฯ ด้วย
3.สถาบันอนุญาโตตุลาการอื่น ๆ
สำหรับสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้าสตอกโฮล์ม (Arbitration Institute of the Stockholm Chamber of Commerce หรือ SCC) และศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (Singapore International Arbitration Centre หรือ SIAC) นั้นได้มีการยืนยันแนวทางปฏิบัติว่าการดำเนินงานต่าง ๆ จะยังมีการดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าจะมีระบาดของ COVID-19 ก็ตาม และยังได้มีการแจ้งขั้นตอนและมาตรการต่าง ๆ ในช่วงของการระบาด
ในส่วนของศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการระงับข้อพิพาทการลงทุน (International Centre for Settlement of Investment Disputes หรือ ICSID) นั้น ได้สนับสนุนให้คู่พิพาทและศาลดำเนินการ ยื่นคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการยื่นคำขอไม่ว่าจะก่อนหรือหลังได้รับคำชี้ขาดต้องเป็นการยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น และได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับการรักษาสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ระหว่างการระบาดของ COVID-19
การพิจารณาคดีเสมือนจริง
แม้ว่าสถาบันอนุญาโตตุลาการบางแห่งได้มีความพยายามในการใช้การพิจารณาคดีเสมือนจริงมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาด เช่น หอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce หรือ ICC) ได้เสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เช่น การรักษาความลับของข้อมูลในการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การระบาดของ COVID-19 นั้นทำเกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากกระบาดของ COVID-19 นั้นส่งผลต่อความกังวลต่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำให้เกิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อกระบวนอนุญาโตตุลาการ โดยส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการพิจารณาคดีต่อหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนนั่นคือการจัดให้มีการพิจารณาคดีเสมือนจริงหรือ Virtual Hearings รวมไปถึงการลงลายมือชื่อและการทำคำชี้ขาดทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้
นอกเหนือไปจากแนวทางปฏิบัติที่ออกโดย ICC ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ICSID ก็ได้มีการจัดทำคู่มือเพื่อช่วยเหลือคู่ความรวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ผ่านทางการพิจารณาคดีออนไลน์[4] โดยที่แพลตฟอร์มการประชุมทางวิดีโอของ ICSID ไม่ต้องการฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์พิเศษ ดังนั้นจึงอนุญาตให้มีส่วนร่วมจากที่ใดก็ได้ คอมพิวเตอร์ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเว็บแคมก็เพียงพอสำหรับการเข้าร่วมอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ในกรณีที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ดี ผู้เข้าร่วมอาจเข้าร่วมทางโทรศัพท์ได้ก็ได้
ความมั่นคงทางไซเบอร์และการรักษาความลับ
ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาคดีออนไลน์และการพิจารณาคดีเสมือนจริงนั้นเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งอาจทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้ หน่วยงานอนุญาโตตุลาการต่างๆ เช่น สมาคมอนุญาโตตุลาการของสหรัฐอเมริกา (American Arbitration Association หรือ AAA) ร่วมกับ ICDR, CIArb The CPR Institute และ ICC ได้ร่วมกันออกคำแนะนำเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเสมือนจริง เช่น
- ใช้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยเท่านั้น
- การใช้แพลตฟอร์มที่มีการป้องกันด้วยรหัสผ่าน และสร้าง ID การประชุมที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติสำหรับการพิจารณาเสมือนแต่ละครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่จะเปิดเผยตัวตนของคู่กรณีในคำอธิบายการประชุม
- หากแชร์การบันทึก ให้ใช้แพลตฟอร์มการแชร์ไฟล์ที่ปลอดภัยหรือที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ ไฟล์ที่ต้องดาวน์โหลดภายในสองสามวันหลังจากที่บันทึกบนคลาวด์ถูกลบ)
- ห้ามบันทึกเสียง วิดีโอ หรือภาพหน้าจอใด ๆ ของการพิจารณาคดี ยกเว้นบันทึกที่เป็นทางการ
ที่มา:
- https://www.nortonrosefulbright.com/-/media/files/nrf/nrfweb/imported/20170925—international-arbitration-report—issue-9.pdf?la=en&revision=c9a5375e-5aff-4a71-a492-18c9305047d6
- https://iccwbo.org/content/uploads/sites/3/2020/04/covid19-joint-statement.pdf
- https://www.nortonrosefulbright.com/en-au/knowledge/publications/bbfeb594/covid-19-and-the-global-approach-to-further-court-proceedings-hearings
- https://www.nortonrosefulbright.com/-/media/files/nrf/nrfweb/knowledge-pdfs/international-arbitration-report—issue-14.pdf?la=en-au&revision=
- https://www.squirepattonboggs.com/-/media/files/insights/publications/2020/05/international-arbitration-experts-discuss-the-impact-of-covid-19-on-arbitration-in-2020-and-beyond/arb052620cm.pdf
- https://www.wcl.american.edu/impact/initiatives-programs/international/news/virtual-arbitration-in-viral-times-the-impact-of-covid-19-on-the-practice-of-international-commercial-arbitration/
- https://www.mondaq.com/turkey/arbitration-dispute-resolution/1011780/effects-of-covid-19-on-arbitral-proceedings-is-the-virus-reshaping-the-future-of-arbitration
- [1] สถาบันอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้แก่ CRCICA, DIS, ICC, ICDR, AAA, ICSID, KCAB, LCIA, MCA, HKIAC, SCC, SIAC, VIAC และ IFCAI ผู้สนใจสามารถอ่านแถลงการณ์ร่วมฉบับเต็มได้ที่ https://iccwbo.org/content/uploads/sites/3/2020/04/covid19-joint-statement.pdf
- [2] ICC Guidance Note on Possible Measures Aimed at Mitigating the Effects of the COVID-19 Pandemic (https://iccwbo.org/content/uploads/sites/3/2020/04/guidance-note-possible-measures-mitigating-effects-covid-19-english.pdf)
- [3] LCIA Notes for the Parties (https://www.lcia.org/adr-services/lcia-notes-for-parties.aspx )
- [4] A Brief Guide to Online Hearings at ICSID (https://icsid.worldbank.org/news-and-events/news-releases/brief-guide-online-hearings-icsid)