มารู้จัก “ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร” การระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างประเทศโดยสันติวิธี
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration, ย่อ: PCA)” ในข่าวต่างๆ โดยบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักศาลอนุญาโตตุลาการถาวร จุดกำเนิดของศาลแห่งนี้ ขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของศาลอนุญาโตตุลาการ และความแตกต่างระหว่างศาลอนุญาโตตุลาการกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนกรณีตัดสินที่ศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้ได้ทำ
ต้นกำเนิดของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร
ต้นกำเนิดของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนั่นมีวิวัฒนาการมาจากการระบบการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ อาทิเช่น Jay Treaty of Arbitration ในปี 1794 ที่เป็นสนธิสัญญาสงบศึกและการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่), Alabama Claims Arbitration ในปี 1974 เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามกลางเมืองของอเมริกา ที่มีการเรียกร้องให้ประเทศอังกฤษชดใช้ค่าเสียหายที่ทำผิดสัญญาความเป็นกลางระหว่างประเทศผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการคือประเทศอังกฤษจะต้องชำระค่าชดเชยเนื่องจากการทำผิดสัญญา ซึ่งผลคำชี้ขาดและการปฏิบัติตามผลนั้นทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการอนุญาโตตุลาการได้รับการยอมรับ และทำให้เกิดศาลอนุญาโตตุลาการขึ้นภายหลัง ในปี 1899 ได้มีอนุสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก (Convention for the Pacific Settlement of International Disputes, 1899) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ข้อพิพาทในครั้งนี้จึงทำให้เกิดการก่อตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรขึ้น เพื่อการส่งเสริมการแก้ไขข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐและหน่วยการปกครองระหว่างประเทศผ่านการอนุญาโตตุลาการ อาทิเช่น การประนอมข้อพิพาท การตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันการเกิดสงครามระหว่างประเทศหรือรัฐ โดยมีฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศในการบริการแก่รัฐภาคีสมาชิก และยังรวมถึงภาคธุรกิจเอกชนระหว่างประเทศ
ขอบเขตอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร
ด้วยฐานะของศาลอนุญาโตตุลาการที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศและกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกเป็นการตกลงระหว่างคู่พิพาท ซึ่งจะมีการตกลงเลือกคณะอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจที่มีความเชี่ยวชาญขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาทนั้นและคำชี้ขาดจะมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งคู่พิพาทจะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดจากศาลอนุญาโตตุลาการ
วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เนื่องจากมีการดำเนินการที่ยืดหยุ่นกว่าศาลยุติธรรม ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน รวมถึงยังได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากนานาประเทศอีกด้วย ซึ่งถ้าคู่พิพาทกังวลว่าหากใช้วิธีการทางศาลประเทศใดประเทศหนึ่งในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากความแตกต่างทางข้อกฎหมาย ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา
ความแตกต่างระหว่างศาลอนุญาโตตุลาการและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หลายคนมักเข้าใจผิดและจำสับสนระหว่างศาลอนุญาโตตุลาการถาวรและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากทั้งสองตั้งอยู่ ณ พระราชวังสันติภาพ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์เหมือนกัน อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้นได้ก่อตั้งขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยความแตกต่างระหว่างศาลทั้งสองนี้ คือ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะเป็นการแต่งตั้งองค์คณะเฉพาะกิจจากการตกลงของคู่ประเทศพิพาท ในขณะที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีองค์คณะผู้พิพากษาประจำตำแหน่งอยู่แล้ว ในเรื่องกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมจะดำเนินตามธรรมนูญศาลที่มีการกำหนดกระบวนการทั้งหมดเรียบร้อยแล้วและใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ในการดำเนินการทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะมีความยืดหยุ่นกว่า สามารถตกลงขั้นตอนและกำหนดวิธีการพิจารณาได้และสามารถเลือกใช้ภาษาอื่นในการดำเนินการได้ นอกจากนี้ศาลยุติธรรมถือเป็นองค์กรของสหประชาชาติ (UN) เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศใดๆ สหประชาชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่คู่พิพาทของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง
กรณีคำตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้
หนึ่งในคำตัดสินข้อพิพาทที่โด่งดังคือข้อพิพาททะเลจีนใต้ เนื่องจากจีนได้สร้าง ‘ แผนที่เส้นประ 9 เส้น ’ เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด พร้อมเข้ายึดครองอาณาเขตทางทะเลของฟิลิปปินส์อย่างผิดกฎหมาย ในปี 2012 ซึ่งยังขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ปี ค.ศ. 1982 ที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมได้ให้สัตยาบันไว้ ส่งผลให้ในปี 2013 ฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลประจำอนุญาโตตุลาการคัดค้านการอ้างสิทธิ์ของจีน ซึ่งภายหลังศาลอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินไว้ในปี 2016 ว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้นั้นไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ แต่อย่างไรก็ตามจีนยังไม่ยอมรับคำตัดสินนี้ (สามารถอ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
อ้างอิง
Permanent Court of Arbitration
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ)
แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ของไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีสถาบันอนุญาโตตุลาการ