มีเรื่องกันไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลอย่างเดียว
เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงก็คือต้องไปศาล ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางหลัก แต่นั่นไม่ใช่ทางออกเดียวที่สามารถระงับข้อพิพาทได้ เพราะปัจจุบันมีการหยิบยกการระงับข้อพิพาททางเลือกขึ้นมาใช้กันอย่างแพร่หลายและสามารถนำมาใช้ได้มากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
การระงับข้อพิพาททางเลือก จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.การเจรจาต่อรอง 2. การประนอม และ 3. การอนุญาโตตุลาการ ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นจะมีการนำการเจรจาต่อรอง มาใช้อยู่ในลำดับต้นๆและค่อยมาทำสัญญาประนีประนอมกัน โดยมีคนกลางเข้ามาช่วย ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้จริงๆ แล้วต้องการข้อสรุปหรือต้องการการตัดสินชี้ขาด ก็สามารถเข้าสู่การทำการอนุญาโตตุลาการกันในภายหลังก็ย่อมได้ ทั้งนี้การประนอมกับอนุญาโตตุลาการ มีส่วนเหมือนและส่วนต่างกันอย่างชัดเจน
การประนอม หรือการไกล่เกลี่ย วิธีนี้ก็เป็นการหาคนกลางมาช่วย แต่ว่าผู้ประนอมจะไม่ใช่คนที่ตัดสินชี้ขาด เป็นแค่สื่อกลางในการไกล่เกลี่ยเท่านั้น โดยที่ผู้ประนอมต้องผ่านการอบรมทักษะ เพื่อช่วยให้การพูดคุยกับคู่พิพาทเป็นไปอย่างราบรื่น
การอนุญาโตตุลาการ วิธีนี้จะมีการแต่งตั้งบุคคลที่สามที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในข้อพิพาทเรื่องนั้นๆ มาพิจารณาข้อพิพาท ซึ่งอนุญาโตตุลาการที่แต่งตั้งมาจะต้องเป็นจำนวนคี่ และสามารถตัดสินขี้ขาดได้
ซึ่งการอนุญาโตตุลาการจะมีความคล้ายคลึงกับการขึ้นศาลมากกว่า เพราะมีการตัดสินคดีชี้ขาด แต่จะต่างกับการไปศาลตรงที่ การอนุญาโตตุลาการนั้น มีความสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า และยืดหยุ่นมากกว่านั่นเอง
สามารถดูคลิปวิดีโอสั้นที่ทาง THAC จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม คลิก