มีใบไหม! เรื่องวุ่นๆกับข้อพิพาทการประมงระหว่าง อังกฤษ กับ ฝรังเศส
สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสกำลังมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องใบอนุญาตการทำการประมง หลังสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยยามฝั่งของฝรั่งเศส เข้ายึดเรือประมงที่มีธงชาติสหราชอาณาจักร ที่รุกล้ำเข้ามาและไม่สามารถแสดงหลักฐานการยืนยันการเข้ามาจับสัตว์ทะเลอย่างถูกกฏหมายได้
ข้อขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้สภาวะ “เบร็กซิท (Brexit)” ในด้านข้อตกลงทางการค้า และความร่วมมือข้อตกลงทางการค้า (Trade and Cooperation Agreement (TCA) นั้นระบุว่าชาวประมงจะสามารถประกอบอาชีพการประมงของเขาต่อไปได้ในเขตแดนระหว่าง 6 ถึง 12 ไมล์ จากฝั่งสหราชอาณาจักร ช่องแคบเกิร์นซีย์ และเขตปกครองพิเศษเจอร์ซีย์ ซึ่งทั้งสองเขตอยู่ในบริเวณช่องแคบอังกฤษ จนถึงปี 2026 หากพวกเขามีใบอนุญาตตามที่ออกโดยสหราชอาณาจักร ซึ่งเกณฑ์ในการได้รับใบอนุญาตนั้นได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเคย ตกปลาในน่านน้ำเหล่านั้นมาก่อนระหว่างปี 2555 ถึง 2559
ด้วยเหตุนี้ การจับและสั่งปรับจากทางการของฝรั่งเศสนั้นจึงเป็นที่ไม่พอใจของนาง ลิซ ทรัสส์ รมว.การต่างประเทศของสหราชอาณาจักร เป็นอย่างมาก โดยได้มีการเชิญ เอกอัครราชทูตของฝรั่งเศสเข้าพบเพื่อขอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ต่อการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมอย่างนาย จอร์จ ยุสทิส ยังเสริมอีกด้วยว่า เรือคอร์เนลิส เกริ์ต ที่ถูกจับกุม ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากสหภาพยุโรปแล้ว พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าเหตุใดชื่อของเรือดังกล่าวถึงหายไปจากบัญชีของ EU ในเวลาต่อมา
ยิ่งไปกว่านั้น ทางการของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มีเรือที่ได้รับใบอนุญาตจากสหภาพยุโรปกว่า 1,700 ใบ หรือเป็นร้อยละ 98 ของทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมถึงการอนุญาตทำประมงในเขตเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร (เกิร์นซีย์ และเจอร์ซีย์) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 12 กม. ถึง 200 กม. และเป็นไปภายใต้เงื่อนไขของ TCA โดยสาระสำคัญของข้อพิพาทนี้คือช่องว่างของการได้รับใบอนุญาตที่ไม่ได้มีเกณฑ์ และหลักฐานที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในมุมมองของทางการฝรั่งเศส อย่าง อันนิก ฌีราแด็ง รมว.สิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส ชี้แจงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเข้ามารุกล้ำในพื้นที่ดังกล่าวนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวประมงของฝรั่งเศสมีสิทธิของตัวเองเช่นกัน และรัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันหลังเบร็กซิต (Brexit) เห็นเหตุต่อเนื่องให้ทางการหลายฝ่ายของฝรั่งเศสไม่พอใจต่อการชะลอการออกใบอนุญาต ให้ชาวประมงของทางฝรั่งเศสกว่า 200 คน กับการประกอบอาชีพในรัศมีดังกล่าว ในทางกลับกันทางอียูออกใบอนุญาตในลักษระเดียวกันไปแล้วมากกว่า 90% ของเรือประมงจากฝั่งของสหราชอาณาจักรที่ยื่นเรื่องเข้ามา
ในขณะเดียวกัน นายเอ็มมานูเอล มาครง ยืนยันว่าหากสหราชอาณาจักรไม่เปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ทางการฝรั่งเศสอาจจะใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น อาจถึงขั้นสั่งห้ามเรือจากฝั่งอังกฤษไม่ใหขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือบางจุดภายในประเทศอีกด้วย
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่าต่างฝ่ายต่างละเมิดข้อกำหนด TCA ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่าความพยายามในการตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวของทั้งสองฝ่ายว่าจะเลือกที่จะทำอย่างไรต่อไป แต่แหล่งข่าวจากต่างประเทศเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายต่างยินยอนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และก็เป็นไปได้สูงอีกว่ากระบวนการทั้งหมดจะเริ่มจากการประนอมก่อน หากการเจรจาล้มเหลวจึงใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิด จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดต่อไป
สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นคำถามย้อนมาที่ทางสหราชอาณาจักรหรือไม่ว่า การตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปนั้นในระยะยาว และการดำเนินนโยบาย หรือเศรษฐกิจอื่นๆที่คาบเกี่ยวระหว่างกันนั้น จะส่งผลดี หรือผลเสียมากกว่ากัน