ศาลชั้นต้นของสหรัฐฯยืนยันการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศโดยปฏิเสธข้อโต้แย้งที่กล่าวว่าองค์คณะอนุญาโตตุลาการนั้นไม่เป็นธรรมและการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ
สรุปข้อเท็จจริง
คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อ Pao Tatneft ได้เริ่มต้นกระบวนอนุญาโตตุลาการต่อต้านรัฐบาลยูเครน โดยที่คดีพิพาทดังกล่าวนั้นเกิดจากการที่คู่พิพาทเป็นเจ้าของร่วมกันของ CJSC Ukrtatnafta Transnational Financial and Industrial Oil Company (“ Ukrtatnafta”) (Pao Tatneft v. Ukraine, Civil Action No 17-582, (D.D.C. 2020)
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
เริ่มจากในปี 1998 และ 1999 นั้น Tatneft ได้ทำการตกลงกับผู้ถือหุ้น Ukrtatnafta รายอื่น ๆ เพื่อทำการลงคะแนนเสียงโดยเป็นเสียงข้างมากทั้ง 56% ต่อมาในเดือนมกราคม 2007 Ukrainian Privat Group ได้รับผลประโยชน์ทั้ง 1% ใน Ukrtatnafta และต่อมาได้มีคำตัดสินจากยูเครนโดยมีการอ้างอิงว่ามติของผู้ถือหุ้นนั้นเป็นโมฆะจากการที่ Tatneft ได้รับผลประโยชน์จาก Ukrtatnafta ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้ Tatneft ถูกกีดกันออกจากการบริหารจัดการ Ukrtatnafta และกรรมสิทธิ์ในหุ้นของ Ukrtatnafta
ต่อมาเมื่อการเจรจาข้อพิพาทล้มเหลว Tatneft ได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่ง Tatneft ได้อ้างว่า ยูเครนได้ละเมิดสัญญาลงทุนทวิภาคีรัสเซีย-ยูเครน หรือRussia-Ukraine Bilateral Investment Treaty (the “Russia-Ukraine BIT” “BIT”) โดยไม่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายอีกทั้งยังยินยอมให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนจากรัสเซียเช่น Tatneft
สัญญาลงทุนทวิภาคีรัสเซีย-ยูเครนนั้นได้ระบุให้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเฉพาะกิจ (Ad Hoc) ตามกฎอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หรือ United Nations Commission on International Trade Law (“UNCITRAL”) อีกทั้งยังได้กำหนดขั้นตอนของการเลือกองค์คณะอนุญาโตตุลาการ โดยที่คู่พิพาทแต่ละฝ่ายนั้นได้เลือกอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน โดยที่ได้มีการเลือกศาสตราจารย์ Orrego Vicuña เป็นอนุญาโตตุลาการคนที่สามและเป็นประธานองค์คณะ
เมื่อได้รับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการได้มี “คำชี้ขาดเขตอำนาจศาล ( jurisdictional award)” ซึ่งเป็นการยืนยันเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าว อีกทั้งศาลยังได้มีคำชี้ขาด Merit Award ให้ Tatneft ได้รับเงินจำนวน 112 ล้านดอลล่าร์ รวมถึงดอกเบี้ยจากการเรียกร้องดังกล่าว
ในระหว่างที่มีคำชี้ขาดทั้งสองนี้ สำนักงานกฎหมายของ Tatneft ได้แต่งตั้ง Vicuña เป็นอนุญาโตตุลาการในคดี DP World v. Republic of Peru ซึ่งเป็นการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันกับกรณีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ Tatneft-Ukraine ต่อมา ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สำนักงานกฎหมายของยูเครนก็ได้ตั้ง Vicuña เป็นอนุญาโตตุลาการในกระบวนการอนุญาโตตุลาการอื่นที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันอีกนั่นก็คือ South American Silver Ltd. v. Bolivia โดยที่การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้มีคำชี้ขาด Merit Award แล้ว ยูเครนก็ได้ฟ้องต่อศาลอุทธรณ์กรุงปารีสในฝรั่งเศสเพื่อยกเลิกคำชี้ขาดทั้งสอง (คือทั้ง jurisdictional award และ Merit Award) โดยเหนือสิ่งอื่นใดนั้น ยูเครนได้โต้แย้งว่า Vicuña นั้นล้มเหลวในการเปิดเผยการได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในคดี DP. World ซึ่งเป็นเหตุอันควรที่จะเพิกถอนคำชี้ขาด Merit Award อย่างไรก็ดี ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ได้รับการปฏิเสธ (Rejected) จากศาลอุทธรณ์กรุงปารีสทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพียงครั้งเดียวในช่วงเจ็ดปีนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างอนุญาโตตุลาการและสำนักงานกฎหมายของ Tatneft มากพอที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอิสระและความเป็นกลางของ Vicuña ได้
ในขณะที่การอุทธรณ์คำชี้ขาดของยูเครนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ Tatneft ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นของสหรัฐฯ ณ District of Columbia เพื่อยืนยันและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อีกทั้ง Tatneft ยังได้เริ่มดำเนินการในสหราชอาณาจักรเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ในระหว่างการดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกานั้น ทางยูเครนได้โต้แย้งการบังคับคำชี้ขาดเนื่องมาจาก Vicuña นั้นไม่มีความเป็นธรรม อีกทั้งยังกล่าวว่าการบังคับคำชี้ขาดดังกล่าวจะขัดต่อนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ โดยยูเครนนั้นกล่าวว่า ความล้มเหลวในการเปิดเผยการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของ Vicuña ซึ่งทำให้เขาได้รับเงินถึงเกือบ 300,000 ดอลลาร์นั้นแสดงให้เห็นถึงความลำเอียงที่ชัดเจน (evident partiality) ตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 10 (a) (2) ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการของรัฐบาลกลาง ( the Federal Arbitration Act “FAA”) อย่างไรก็ดี ศาลชั้นต้นของสหรัฐอเมริกาได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งของยูเครนทั้งสองกรณี
คำวินิจฉัยของศาล
ศาลได้พิจารณาว่า เนื่องจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ใช่คำชี้ขาดที่ทำภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น หลักการของความลำเอียงที่ชัดเจน (evident partiality) ตาม FAA นั้นจึงไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในกรณีนี้ หลักการของความลำเอียงที่ชัดเจน (evident partiality) ตาม FAA นั้นจะสามารถนำมาพิจารณาได้ก็ตาม ความลำเอียงที่ชัดเจนนี้ต้องการมากกว่าเพียงแค่การคาดเดาของความอคติที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ให้เห็นว่าการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพียงครั้งเดียวในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันนั้นจะก่อให้เกิดความกังขาหรือข้อสงสัยที่มีเหตุผลมากพอเกี่ยวกับความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ
นอกเหนือไปจากนี้ ศาลยังได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งของยูเครนซึ่งได้อ้างถึงมาตรา 5(1)(d) ของอนุสัญญานิวยอร์กซึ่งได้อนุญาตให้สามารถปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ได้แต่งตั้งขึ้นมาตามข้อตกลงในสัญญาของทั้งสองฝ่าย ในกรณีนี้ศาล สหราชอาณาจักรได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ อีกทั้งศาลสหรัฐฯก็ยังมีความเห็นตรงกัน ทั้งนี้เนื่องจากทั้งใน สัญญาลงทุนทวิภาคีรัสเซีย-ยูเครนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest)ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือในคำแนะนำของสภาหอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce “ICC”) ก็ไม่ได้มีการระบุให้มีการเปิดเผยการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามกรณีดังกล่าว อีกทั้งยูเครนก็ได้รับแจ้งถึงการแต่งตั้ง Vicuña ก่อนที่จะมีคำชี้ขาดสุดท้ายอีกด้วย
สุดท้ายแล้วศาลก็ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวที่ยูเครนต้องการจะปฏิเสธการบังคับใช้คำชี้ขาดดังกล่าวภายใต้อนุสัญญานิวยอร์กมาตรา 5(1)(d) ซึ่งยูเครนนั้นอ้างว่าการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวนั้นจะละเมิดต่อนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯในการละเมิดกระบวนการการจัดการโครงสร้างเพื่อก่อตั้งเขตอำนาจคณะอนุญาโตตุลาการและการกระทำผิดโดยทั่วไป ศาลเห็นว่าการกล่าวอ้างของยูเครนนั้นไม่สมเหตุสมผลอีกทั้งข้อกล่าวอ้างนั้นยังไม่ได้ทำลายนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯแต่อย่างใด ดังนั้นศาลจึงปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ โดยที่ทั้งศาลฝรั่งเศสและอังกฤษก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน