สถานที่นั่งพิจารณาที่เป็นที่นิยมทั่วโลก (1)
การอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศนั้นเป็นกระบวนที่ฝ่ายต่าง ๆ จากประเทศต่าง ๆ สามารถตัดสินข้อพิพาทได้อย่างเป็นกลางจากอนุญาโตตุลาการซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทั้งสองฝ่าย ผลลัพธ์คือคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันบังคับใช้ได้ ในประเทศอื่น ๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากอนุสัญญานิวยอร์ก ด้วย ในขณะที่ผู้พิพากษานั้นเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ หากแต่การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นขึ้นอยู่กับคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ดังนั้นจึงสามารถเลือกแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการที่เหมาะสมกับความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้ และคู่พิพาทยังสามารถเลือกจำนวนอนุญาโตตุลาการจำนวนหนึ่งคนหรือสามคน [LG1] ตามที่คู่พิพาทได้ทำการตกลงกัน[1] อีกทั้งยังสามารถระบุคุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการได้อีกด้วย นอกเหนือไปจากนี้ คู่พิพาทยังมีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมากในการกำหนดขั้นตอนสำหรับการอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการระงับข้อพิพาททางธุรกิจที่มีลักษณะระหว่างประเทศ[2]
ข้อได้เปรียบที่สำคัญอย่างหนึ่งของการอนุญาโตตุลาการคือการที่คู่พิพาทสามารถควบคุมได้ว่าจะทำการระงับข้อพิพาทของตนได้อย่างไร ทั้งนี้ ในการร่างข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการทั้งก่อนและภายหลังจากเกิดการพิพาท คู่พิพาททั้งสองฝ่ายสามารถทำการตกลงเกี่ยวกับลักษณะสำคัญบางประการของกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การเลือกสถานที่เพื่อการอนุญาโตตุลาการ (Seat of Arbitration) และการเลือกสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Institution)
สถานที่นั่งพิจารณา (Seat of Arbitration)
สถานที่นั่งพิจารณา (Seat of Arbitration) นั้นหมายความถึงสถานที่ที่มีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย โดยการเลือกสถานที่นั่งพิจารณานั้น คู่พิพาทจะเลือกใช้กฎหมายที่จะใช้ในการอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงว่าศาลใดที่จะมีเขตอำนาจกำกับดูแลกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคู่พิพาทเลือกที่จะระงับข้อพิพาทปารีส นั่นหมายความว่ามาตรา 1442 ถึงมาตรา 1527 ของประมวลกฎหมายวิธีความแพ่งฝรั่งเศสจะมีผลใช้บังคับ นอกเหนือไปจากนี้ คำขอที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการใด ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับศาล อาทิเช่น การขอให้แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ, การเพิกถอนคัดค้านคำชี้ขาด ก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เนื่องมาจากสถานที่นั่งพิจารณาที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันนั้นมีความทันสมัยและมีการเอื้ออำนวยความสะดวกในการอนุญาโตตุลาการเป็นอย่างมาก คู่พิพาทจึงควรต้องทราบถึงความแตกต่างระหว่างเขตอำนาจศาลต่าง ๆ รวมไปถึงคุณลักษณะเฉพาะของสถานที่นั่งพิจารณาซึ่งอาจมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในการพิพาท[3]
ในบทความนี้จะกล่าวถึงสถานที่นั่งพิจารณาทั้งหมด 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, ประเทศสิงคโปร์ และกรุงสตอล์คโฮม ประเทศสวีเดน
เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง
ฮ่องกงนั้นเป็นหนึ่งในสถานนั่งพิจารณาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของข้อพิพาทระหว่างประเทศกับประเทศจีน การอนุญาโตตุลาการฮ่องกงนั้นอยู่ภายใต้ Arbitration Ordinance (AO) หรือ The Ordinance ซึ่งมีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยมีความสอดคล้องกับกฎหมายแม่แบบ UNCITRAL และตามกฎหมายแล้ว คู่พิพาทมีอิสระที่จะตกลงกันในเรื่องของการระงับข้อพิพาท นอกเหนือไปจากนี้ตามกฎหมายแล้ว ศาลฮ่องกงนั้นแทบจะไม่มีอำนาจในการแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการเลย
แนวทางของศาลต่อการอนุญาโตตุลาการ
โดยทั่วไปแล้วศาลในฮ่องกงนั้นให้การสนับสนุนการอนุญาโตตุลาการโดยจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว (Hand of Approach) มีเพียงแต่สถานการณ์ที่จำกัดบางกรณีเท่านั้นที่ศาลจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
สถาบันอนุญาโตตุลาการ
ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งฮ่องกง (HKIAC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1985 นั้นได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในสถาบันอนุญาโตตุลาการที่น่าเชื่อถือที่สุดในเอเชีย และอีกแห่งคือศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (Singapore International Arbitration Centre)
เหตุแห่งการคัดค้านคำชี้ขาด
ตามกฎหมายของฮ่องกงนั้นมีข้อจำกัดในเรื่องเหตุแห่งการคัดค้านคำชี้ขาดปรากฎอยู่ใน Section 81 ของ The Arbitration Ordinance ซึ่งเหตุดังกล่าวสอดคล้องกับ UNCITRAL Model Law เช่น ความบกพร่องในความสามารถของคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือข้อพิพาทที่ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ภายใต้กฎหมายที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน, คู่พิพาทไม่ได้แจ้งให้อีกฝ่ายทราบถึงเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ หรือการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายในเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้อผิดพลาดทางกฎหมาย (Error of Law) นั้นไม่ถือเป็นเหตุแห่งการคัดค้าน
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
การบังคับใช้คำชี้ขาด
อนุสัญญานิวยอร์กมีผลบังคับใช้กับฮ่องกงรวมไปถึงการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยที่คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการซึ่งทำในรัฐภาคีของอนุสัญญานิวยอร์กนั้นสามารถมีผลบังคับใช้ในฮ่องกงได้
2. กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ปี 1996 (Arbitration Act 1996) วางหลักในการอนุญาโตตุลาการทั้งหมดที่อยู่ในอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยใช้บังคับกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พระราชบัญญัติดังกล่าวถูกตราขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะทำให้กฎหมายอนุญาโตตุลาการสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเป็นมิตรกับผู้ใช้และเพื่อทำให้กฎหมายอังกฤษสอดคล้องกับมาตรฐานที่ทันสมัยในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศอีกทั้งยังเป็นไปตาม UNCITRAL Model Law
หลักการสำคัญของพระราชบัญญัตินี้คืออนุญาโตตุลาการควรแก้ไขข้อพิพาทอย่างยุติธรรมเป็นกลางและไม่ล่าช้าหรือเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นอีกทั้งการที่ศาลนั้นแทบไม่มีอำนาจในการแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการเลย
แนวทางของศาลต่อการอนุญาโตตุลาการ
ศาลอังกฤษนั้นมีแนวทางในการให้การสนับสนุนต่อการอนุญาโตตุลาการ โดยที่ศาลอังกฤษนั้นได้ตีความข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเอาไว้อย่างกว้าง โดยรวมถึงการทำ ความตกลงกันโดยวาจาว่าจะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการโดยอ้างถึงข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่เป็นหนังสือด้วย ซึ่งมีการยืนยันโดยสภาสูง (House of Lord) ในคำตัดสิน Premium Nafta แต่ในทางกลับกัน ศาลอังกฤษนั้นมีความเข้มงวดในเรื่องของการคัดค้านคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากมีเพียง 3 เหตุเท่านั้น ที่สามารถคัดค้านคำชี้ขาดได้ กล่าวคือ เขตอำนาจในการพิจารณาคดีของคณะอนุญาโตตุลาการ, เหตุบกพร่องหรือปิดปกติในสาระสำคัญซึ่งเป็นหรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความอยุติธรรมต่อผู้ยื่นคำร้อง และประเด็นข้อกฎหมาย
สถาบันอนุญาโตตุลาการ
ลอนดอนเป็นที่ตั้งของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน (London Court of International Arbitration “LCIA”) และสถาบันอนุญาโตตุลาการเฉพาะภาคส่วนและสมาคมการค้าและสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งแต่ละแห่งมีข้อบังคับและขั้นตอนของตนเอง ข้อบังคับในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของหน่วยงานเหล่านี้มักกำหนดให้อนุญาโตตุลาการนั้นต้องดำเนินการในลอนดอน ได้แก่ :
• AIDA Reinsurance and Insurance Arbitration Society (ARIAS); • London Maritime Arbitration Association (LMAA);
• Federation of Oils, Seeds and Fats Association (FOSFA);
• Grain and Feed Trade Association (GAFTA); and
• London Metal Exchange (LME)
การรักษาความลับ
ด้วยการตระหนักว่าการรักษาความลับเป็นคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ศาลจึงได้พัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปที่มั่นคงว่าเอกสารทั้งหมดที่ทำขึ้นหรือสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการเป็นความลับภายใต้ข้อยกเว้นที่จำกัดบางประการเท่านั้น
การบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ภายใต้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการนี้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ทำในอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือสามารถบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรได้ในลักษณะเดียวกับคำสั่งศาลหรือคำพิพากษา[LG2] การบังคับใช้นอกสหราชอาณาจักรได้รับการอำนวยความสะดวกจากการที่สหราชอาณาจักรเป็นภาคีของอนุสัญญานิวยอร์ก
[1] ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายนั้นได้เขียนเอาไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า คู่พิพาทสามารถตั้งคณะอนุญาโตตุลาการจำนวนหนึ่งคนหรือหลายคนก็ได้
[2] https://www.claytonutz.com/ArticleDocuments/178/Clayton-Utz-Guide-to-International-Arbitration-2012.pdf.aspx?Embed=Y
[3] https://files.klgates.com/files/upload/guidetoleadingarbitralseatsandinstitutions.pdf