สรุปคดีปราสาทเขาพระวิหาร
ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร ปราสาทเขาพระวิหารนี้เคยเป็นโบราณสถานในจังหวัดศรีสะเกษจนถึงวิกฤติการณ์ รศ. ๑๒๒ ซึ่งไทยได้สูญเสียอำนาจอธิปไตยปราสาทเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา ซึ่งภายหลังต่อมาฝรั่งเศสได้ขีดเส้นให้ปราสาทเขาพระวิหารตกอยู่ในเขตแดนกัมพูชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อมีการทำแผนที่ปักปันเขตแดน ๒๔๕๐ ซึ่งเป็นเหตุให้กัมพูชาอ้างสิทธิ์เหนือปราสาทเขาพระวิหารในเวลาต่อมา[1]
ความเป็นมาของกรณีพิพาท
สยามได้ลงนามใน “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (ค.ศ.๑๙๐๕)” นั้นเพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสจะถอนทหารออกจากจันทบุรี หากแต่สยามตั้งสละสิทธิทั้งหมดเหนือดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง ไทรบุรี และจำปาศักดิ์ ดินแดนทางใต้ของเทือกเขาดงรัก ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้ยังได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนในส่วนนี้ว่า ต้องยึดสันปันน้ำ (Watershed) เป็นเกณฑ์ซึ่งการกำหนดเขตแดนนี้เองที่มีผลต่อพื้นที่ตั้งของเขาพระวิหาร[2] สนธิสัญญานี้จัดตั้งเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่าย เรียกว่าคณะกรรมาธิการผสมชุดแรก เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ
ต่อมาสยามได้ลงนามใน “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่วันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ (ค.ศ.๑๙๐๗) พร้อมสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดนติดท้ายหนังสือหนังสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ “ ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นที่มาของการจัดทำแผนที่ ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ขึ้น ซึ่งเป็นการตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนบริเวณเทือกเขาดงรัก ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฉบับนี้โดยเป็นคำร้องขอของรัฐบาลไทย เนื่องจากรัฐบาลไม่มีวิธีการทางเทคนิคในการทำแผนที่ของภูมิภาค โดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้นได้จัดทำแผนที่ขึ้นทั้งสิ้น ๑๑ ฉบับ ซึ่งในแผนที่นี้เองได้มีแผนที่ซึ่งเรียกว่า “แผ่นดงรัก” ซึ่งมีเส้นเขตแดนมิได้เป็นไปตามเส้นสันปันน้ำตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาก่อนหน้า หากการปักปันเขตแดนดังกล่าวเป็นไปตามสันปันน้ำตามที่ได้ตกลงกกันไว้แต่แรก พื้นทีส่วนใหญ่ของจังหวัดพระวิหารจะอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทย ซึ่งการปักปันเขตแดนดังกล่าวนี้เองที่ส่งผลทำให้พื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหารทั้งหมดตกอยู่ภายใต้พื้นที่ของกัมพูชา[3] ซึ่งต่อมากัมพูชาได้ใช้แผนที่ฉบับนี้เป็นข้ออ้างในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยฝ่ายกัมพูชานั้นได้อ้างแผนที่ดังกล่าวเป็น “แผนที่ภาคผนวก ๑ หรือ Map Annex I” และได้กล่าวว่าในแผนที่ดังกล่าวนี้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา[4] โดยพื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตรนั้นเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่ครั้งที่มีการทำแผนที่ดังกล่าว
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
กรณีพิพาทปี พ.ศ. ๒๕๐๕
ต่อมาเมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยฉวยโอกาสจากการที่ฝรั่งเศสยอมจำนนในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อทวงคืนดินแดนเขมรและลาวที่สูญเสียไปวิกฤติการณ์ร.ศ. ๑๒๒ ไทยได้รับดินแดนที่เสียไปให้แก่ฝรั่งเศสด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น หากแต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ตกลงที่จะคืนดินแดนที่ยึดครองให้ฝรั่งเศส เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้รุกรานหรือเป็นสมาชิกของฝ่ายอักษะ ทางการไทยจึงส่งคืนดินแดนดังกล่าวทั้งหมดคืนแก่กัมพูชา โดยความกังขาเหนือพื้นที่พิพาทนั้นก็ยังคลุมเครือและไม่มีความชัดเจน
ต่อมาทางการไทยได้เข้าครอบครองพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารในปีพ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งในขณะนั้นกัมพูชาตกอยู่ในอาณัติของประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งอารักขากัมพูชาจึงได้มีหนังสือทักท้วงทางการไทยหลายฉบับเพื่อขอให้ทางการไทยถอนการครอบครองออกไป จวบจนเมื่อกัมพูชาได้เอกราชจากฝรั่งเศสก็ได้มีการตกลงในการเจรจาปัญหาพื้นที่ดังกล่าว แต่การเจรจาดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น[5]
ต่อมาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปี พ.ศ.๒๕๐๑ จนมีการไกล่เกลี่ยโดยผู้แทนของเลขาธิการสหประชาชาติและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันใหม่ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาก็ยังไม่หายไป จนกระทั่งวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๐๒ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ โดยขอให้ทางการไทยถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร และขอให้วินิจฉัยว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา โดย ICJ ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
ข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา
ทางการกัมพูชาได้ใช้ “แผ่นดงรัก” หรือที่เรียกว่า “แผนที่ภาคผนวก ๑ หรือ Map Annex I” ในการกล่าวว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้นตั้งอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยทางกัมพูชาได้กล่าวว่า แผนที่ดังกล่าวได้รับการยอมรับจากทางการไทยและอีกทั้งไทยยังเป็นภาคีในสนธิสัญญา อีกทั้งไทยยังเข้าร่วมคณะสำรวจในเวลานั้น ซึ่งในส่วนนี้ทางการไทยได้ปฏิเสธไม่ยอมรับ เนื่องจากตามสนธิสัญญานั้น การปักปันเขตแดนต้องเป็นไปตามเส้นสันปันน้ำ อีกทั้งในขณะรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ทางการไทยอ้างข้อโต้แย้งต่าง ๆ ที่มุ่งแสดงว่าแผนที่ไม่มีลักษณะผูกพัน ข้อโต้แย้งประการหนึ่งคือแผนที่ไม่เคยได้รับการยอมรับจากประเทศไทยหรืออีกทางหนึ่งคือหากประเทศไทยยอมรับแผนที่ก็ทำเช่นนั้นเพียงเพราะความเชื่อที่ผิดพลาดว่าชายแดนระบุว่าสอดคล้องกับแนวสันปันน้ำ ทางการไทยยังได้กล่าวว่า ไทยนั้นได้ครอบครองพื้นที่พิพาทโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อีกทั้งลักษะของพื้นที่ดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้ขึ้นปราสาทพระวิหารได้จากฝั่งไทยอีกด้วย
ทางกัมพูชายังได้กล่าวว่าไทยนั้นมีพันธะต้องถอนทหารที่ได้ส่งไปตั้งประจำ ณ เขาพระวิหารออก รวมทั้งทางการไทยยังต้องส่งคืนปฏิมากรรม แผ่นศิลา ส่วนสลักหักพังของอนุสาวรีย์ รูปหินทรายและเครื่องปั้นดินเผาโบราณซึ่งได้ถูกโยกย้ายไปจากเขาพระวิหารคืนแก่กัมพูชาด้วย
คำพิพากษาของศาล
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาให้เขาพระวิหารนั้นอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา โดยศาลได้ยืนยันว่า คำพิพากษานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของแผนที่ที่ทำขึ้นอย่างถูกต้องระหว่างสนธิสัญญาระหว่างสยามและฝรั่งเศสซึ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าเขาพระวิหารนั้นอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยที่ศาลได้กล่าวว่า การที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งแผนที่ฉบับสมบูรณ์มายังทางการสยามและไม่ได้มีการคัดค้านใด ๆ ในเวลานั้น อีกทั้งยังปล่อยผ่านความผิดพลาดนั้นเป็นเวลานานกว่า 50 ปี นั้นกืถือว่าฝ่ายไทยนั้นได้ให้ความยินยอมโดยปริยายแล้ว นอกเหนือไปจากนี้ ทางการไทยยังไม่ได้มีการทำแผนที่สำรองใด ๆ ไว้อีกด้วย
ในส่วนของข้อกล่าวอ้างที่ว่าไทยไม่เคยยอมรับเส้นแบ่งดินแดนในแผนที่ภาคผนวก ๑ นั้น ศาลได้หักล้างข้อโต้แย้งดังกล่าวโดยอาศัยหลักฐานที่ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยือนเขาพระวิหารในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และทรงได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการโดยข้าหลวงฝรั่งเศสซึ่งมีการเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสา โดยที่สมเด็จฯ ก็ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด
นอกเหนือไปจากนี้ ศาลยังมีคำพิพากษาให้ประเทศไทยคืนพระธาตุและโบราณวัตถุทั้งหมดคืนแก่กัมพูชาอีกด้วย
ท่าทีของประเทศไทย
เมื่อศาลมีคำพิพากษานั้น ได้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวาง มีการเดินขบวนประท้วงในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อทั้งรัฐบาลไทยภายใต้รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาล โดยกล่าวว่าศาลมิได้ยึดตัวบทสนธิสัญญาหากแต่ไปยึดตามแผนที่ซึ่งขัดแย้งต่อสาระสำคัญของสัญญา หากแต่ไทยก็ยอมรับคำพิพากษาของศาล หากแต่ได้ประท้วงและสงวนสิทธิของประเทศไทยในเรื่องนี้ด้วย[6]
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น ศาลวินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาและพิพากษาให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากตัวปราสาทและบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่ได้ระบุว่า อาณาบริเวณมากน้อยเพียงไรที่จะเป็นของกัมพูชาด้วย
กรณีพิพาทปีพ.ศ. ๒๕๕๔
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปะทะกันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา กัมพูชานำประเด็นดังกล่าวไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกันคณะมนตรีได้มีมติขอให้มีการหยุดยิงถาวรและขอให้อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนในการบังคับใช้การหยุดยิงและค้นหากลไกทวิภาคีในการแก้ปัญหา หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อาเซียนได้จัดการประชุมระดับสูงพิเศษระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของแต่ละประเทศเข้าร่วมกิจการและเสนอให้ส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่พิพาท นอกเหนือไปจากนี้ ประเทศไทยปฏิเสธไม่ให้ผู้สังเกตการณ์อยู่จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับกัมพูชาในคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee GBC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของแต่ละประเทศเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม กัมพูชาปฏิเสธที่จะเรียกประชุม GBC ที่ยืนยันว่าข้อพิพาทปราสาทพระวิหารไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกทวิภาคีใด ๆ อีกต่อไป เนื่องจากไทยยังคงขัดขวางกระบวนการนี้อยู่
เนื่องจากดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาทวิภาคีเป็นไปไม่ได้ กัมพูชาจึงขอให้ ICJ ตีความคำตัดสินของศาลในปี ๒๕๐๕ และออกคำสั่งห้ามให้ไทยถอนทหารทั้งหมด หยุดกิจกรรมทางทหารทั้งหมดในพื้นที่พิพาท และละเว้นจากการกระทำทั้งหมดที่อาจละเมิดอธิปไตยของกัมพูชาเหนือพื้นที่
เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ICJ สั่งให้ทั้งสองประเทศถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเขตปลอดทหารที่ศาลกำหนดขนาด 17 ตารางกิโลเมตรรอบวัด ซึ่งห้ามไม่ให้ไทยดำเนินการใด ๆ ที่อาจขัดขวางกิจกรรมที่ไม่ใช่ทหารของกัมพูชาในพื้นที่ และสั่งให้ทั้งสองประเทศดำเนินการอำนวยความสะดวกในการมีอยู่ของผู้สังเกตการณ์อาเซียนในพื้นที่และละเว้นจากการกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น
ที่มา:
- http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/win6.pdf
- http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/win5.pdf
- http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/win4.pdf
- http://research.culture.go.th/medias/th041.pdf
- http://110.49.60.155/library/Security%20Studies%20Project/66.pdf
- https://jusmundi.com/en/document/decision/en-temple-of-preah-vihear-cambodia-v-thailand-judgment-merits-friday-15th-june-1962
- https://www.ejiltalk.org/mapping-the-peace-the-request-for-interpretation-in-the-temple-of-preah-vihear-case/
- https://chicagounbound.uchicago.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1506&context=cjil
- https://intlaw.co.uk/the-temple-of-preah-vihear
- https://www.icj-cij.org/en/case/45
- http://factsanddetails.com/southeast-asia/Cambodia/sub5_2d/entry-2913.html
- https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/ThaiHealth2012/eng2012_19.pdf
- https://apps.dtic.mil/sti/pdfs/AD1023001.pdf
- http://www.ipcs.org/issue_select.php?recNo=474
- https://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:C:2012:188E:0057:0059:EN:PDF
- [1] ขรพรรษ สุรนารถ ธันยพงศ์ สารรัตน์ สุต สุริน. ปราสาทเขาพระวิหาร : ความทรงจาร่วมของผู้คนบนแนวตะเข็บ ชายแดนไทย – กัมพูชาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑ – ๒๕๐๖ The Temple of “Preah Vihear” : A Common Memorial, people of Thai – Cambordia Border (1958–1962 A.D.). น 1
- [2] http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/win5.pdf
- [5] http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/win5.pdf
- [6] เอกสารมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๕ และ ร่างคําแถลงการณ์ของรัฐบาลว่าจะปฏิบัติตามคําพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (กําหนดแถลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน และ ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕)