สรุปพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่พิพาทตกลงกันเสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้บุคคลภายนอกซึ่งเรียกว่าอนุญาโตตุลาการ ทำการพิจารณาชี้ขาด โดยคู่กรณีผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ข้อดีของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการนั้นคือความสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นและสามารถรักษาความลับทางธุรกิจได้ นอกเหนือจากนี้การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นยังทำได้ง่ายกว่าการบังคับตามคำพิพากษาของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ทั้งนี้เนืองจากการบังคับตามคำพิพากษานั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ หากแต่การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นไปตามอนุสัญญานิวยอร์กหรือ อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ 1958 หรือ Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958 (“New York Convention”) ซึ่งวางหลักให้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการสามารถบังคับใช้ได้ระหว่างประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก
สำหรับประเทศไทยกระบวนอนุญาโตตุลาการนั้นสามารถแบ่งออกเป็นอนุญาโตตุลาการในศาล ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนการตามวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา มาตรา 210-220 และ 222 และกระบวนการอนุญาโตตุลาการนอกศาล ซึ่งเป็นกรณีที่คู่พิพาทตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำการชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการนอกศาลนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
คณะอนุญาโตตุลาการ
ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการนั้นได้วางหลักให้คณะอนุญาโตตุลาการนั้นหมายถึงอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว หรืออนุญาโตตุลาการหลายคนก็ได้[1]
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการนั้นวางหลักให้คณะอนุญาโตตุลาการนั้นต้องเป็นเลขคี่[2] โดยหากในกรณีที่คู่พิพาทกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการเป็นเลขคู่ ก็ให้อนุญาโตตุลาการร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการอีกคนหนึ่งเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ[3] และหากคู่พิพาทไม่สามารถกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการได้ ก็ให้มีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว[4]
ทั้งนี่ คู่พิพาทสามารถตั้งคนต่างด้าวเป็นอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายในประเทศก็ได้[5]
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ความหมายของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการนั้นได้วางหลักให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นที่สัญญาที่ตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์หรือไม่ ทั้งนี้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นอาจเป็นข้อหนึ่งในสัญญาหลัก หรืออาจะเป็นข้อสัญญาแยกก็ได้[6] ทั้งนี้ มาตรา 11 วรรคสองได้วางหลักว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้ต้องมีการลงลายมือชื่อของคู่สัญญา ยกเว้นว่าจะเป็นไปตามข้อยกเว้น[7]
ความเป็นกลางและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางและอิสระและต้องมีคุณสมบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือตามข้อกำหนดของสถาบันเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งต่าง ๆ[8] ทั้งนี้อนุญาโตตุลาการนั้นต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรืออิสระของตน นับตั้งแต่เวลาที่ได้แต่งตั้งและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่ชักช้าต่อคู่พิพาท เว้นแต่ว่าคู่พิพาทจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงนั้นแล้ว[9]
อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการมีอํานาจวินิจฉัยขอบเขตอํานาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ความสมบูรณ์ของการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ และประเด็นข้อพิพาทอันอยู่ภายในขอบเขตอํานาจของคณะอนุญาโตตลาการได้ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหน่ึงของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยก ต่างหากจากสัญญาหลัก คําวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ[10]
คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการนั้นวางหลักให้อนุญาโตตุลาการทำการชี้ขาดข้อพิพาทไปตามกฎหมายที่คู่พิพาทกำหนดให้นำมาใช้กับข้อพิพาท[11] ทั้งนี้ หากคู่พิพาทไม่ได้กำหนดกฎหมายที่จะนำมาใช้กับข้อพิพาทไว้ ก็ให้คณะอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดไปตามกฎหมายไทย[12]
หากคู่กรณีไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น คำสั่ง คำชี้ขาด และคำนินิจฉัยใด ๆ ให้เปนไปตามเสียงข้างมาก ถ้าหากไม่สามารถหาเสียงข้างมากได้ ให้ประธานคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำคำชี้ขาด หรือทำคำวินิจฉัยแต่เพียงผู้เดียว[13]
การสิ้นสุดกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
การดําเนินการทางอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดลงเม่ือมีคําชี้ขาดเสร็จ เด็ดขาดหรือโดยคําสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้[14]
- [1] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 5
- [2] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 17
- [3] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 17 วรรค 2
- [4] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 17 วรรค 3
- [5] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา มาตรา. 23/1
- [6] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 11
- [7] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 11 วรรค 2
- [8] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 19
- [9] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 19 วรรค 2
- [10] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 19 วรรค 24
- [11] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 34
- [12] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 34 วรรค 2
- [13] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 35
- [14] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 38