สหภาพแรงงานข้ามชาติ ควรมีหรือไม่?
ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษชนและการพัฒนา (HRDF) ออกมาขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการจ้างงานตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงมีความคิดว่าแค่ลำพังคนไทยก็ตกงานเป็นว่าเล่นแล้ว ทำไมเรายังต้องแก้ไขนโยบายเพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามามีผลประโยชน์ในประเทศเราด้วย เหตุที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษชนฯ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการจ้างงานตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในครั้งนี้นั้นก็เพราะการเอาเปรียบของนายจ้างคนไทยของเรานั้นเอง อย่างในกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ เป็นกรณีของห้างหุ้นส่วนจำกัดแพสีห์แดง พืชไร่ ที่จ่ายเงินค่าจ้าง ค่าชดเชยหลังเลิกจ้างแรงงานไม่ครบ จนเกิดเป็นข้อพิพาทเพื่อให้ศาลแรงงานมาไกล่เกลี่ย
จุดเริ่มต้นข้อพิพาทนี้เกิดจาก นายโซหน่ายและพวก รวม 49 คน ทำงานเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดแพสีห์แดง พืชไร่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2546 -13 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมกร ทำหน้าที่แบกหามพืชผลการเกษตร และมีหน้าที่แต่ละวันแตกต่างกันไป โดยได้รับค่าจ้างตามผลงาน เช่น หากได้ค่าจ้าง ตั้งแต่ 200-400 บาท นายจ้างจะหักค่าจ้าง 30-100 บาท เพื่อเป็นค่าทำบัตรใบอนุญาตทำงาน ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560
จนช่วงเดือนกันยายน 2562 นายจ้างเริ่มทยอยเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงาน กระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายจ้างได้ประกาศชื่อของจำเลยร่วม ในคดีนี้เพื่อแจ้งการเลิกจ้าง ทำให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพสีห์แดง พืชไร่ ผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน และค่าชดเชย ให้กับโซหน่ายและลูกจ้างคนอื่นรวม 49 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,856,967.91 บาท แต่ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 6 เพื่อเพิกถอนคำสั่ง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทูตแรงงานประเทศเมียนมา เครือข่ายให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เช่น ยองชิอู ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานทั้ง 49 คน
ศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยนายจ้างต่อรองจ่ายเงินให้กับแรงงานทั้งหมด 49 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,414,976 บาท จากจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จำนวน 6,856,967.97 บาท หรือคิด 37% ของค่าจ้างที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายเท่านั้น โดยนายจ้างได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับลูกจ้างครบตามที่ตกลงไกล่เกลี่ยกันที่ศาล ส่วนลูกจ้างบางส่วนที่ไม่ได้มาศาล นายจ้างได้มอบเงินให้กับพนักงานตรวจแรงงานและเก็บไว้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดตาก สาขาแม่สอดเพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างที่เหลือต่อไป
กรณีที่สอง ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นเมื่อวัน 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา หลังจากพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ 155/2563 ให้บริษัท เอ็น ที เค แมเนจเม้นต์จำกัด จ่ายเงินให้แก่แรงงานชาวเมียนมาจำนวน 12 คน โดยแบ่งออกเป็นเงินค่าชดเชยตามช่วงเวลาการทำงานของแรงงานแต่ละบุคคล รวมเป็นเงิน 121,400 บาท และค่าจ้างที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่แรงงานไม่ครบถ้วนถูกต้อง เป็นเงิน 59,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน ทั้งสิ้น 181,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 จนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน
ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม (MMNB) กรณีแรงงานเมียนมาจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นแรงงานในบริษัทรับเหมาช่วงถูกเลิกจ้าง และได้รับค่าจ้างไม่ครบรวมถึงไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด โดยแรงงานได้เรียกร้องบริษัทฯ ให้คืนค่าจัดทำเอกสารที่ได้หักค่าจ้างไว้ รวมถึงเรียกค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ภายหลังจากได้รับการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้ประสานไปยังศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานและสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้ออกคำสั่งให้บริษัทฯดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้พนักงานตรวจแรงงานได้เรียกให้บริษัทฯ เข้าพบจำนวน 2 ครั้ง แต่บริษัทฯก็ไม่ได้เดินทางมาเข้าพบและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด พนักงานตรวจแรงงานจึงได้ออกคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการติดตามค่าจ้างและค่าชดเชยจากบริษัทฯ ให้แก่แรงงานครบถ้วนแล้ว
จากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เห็นว่า นับแต่ปี 2558 ที่รัฐบาลไทยได้มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 14 ของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งต่อมาได้ถูกแก้เป็น มาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถจ้างลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติตามแนวชายแดนเพื่อทำงานเป็นการชั่วคราวหรือตามฤดูกาลได้ โดยใช้บัตรผ่านแดนที่ต้องต่ออายุทุกๆ 30 วัน และได้รับอนุญาตให้ทำงานระยะสั้นคราวละ 3 เดือน โดยให้จ้างเป็น กรรมกร ใน 24 อาชีพรวมทั้งลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้นายจ้างในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานที่เป็นลักษณะประจำ เปลี่ยนจากการจ้างลูกจ้างประจำมาจ้างแรงงานตามมาตรา 64 ที่มีการจ้างงานแบบระยะสั้น 3 เดือน โดยใช้วิธีต่อสัญญาและใบอนุญาตทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อลูกจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการจ้างงานตามกฎหมายอื่นเช่น แรงงานประเภท MOU ทำให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าวนี้ เป็นกลุ่มเปราะบาง ตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน เข้าไม่ถึงสิทธิและการคุ้มครองต่างๆ และกลายเป็นกรณีพิพาทแรงงานที่ลูกจ้างก็ไม่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เท่าที่ควร
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯยังได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างของโรงงานที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ให้เข้าถึงเงินทดแทนตามพรบ.เงินทดแทน แต่ปัจจุบันกระบวนการเข้าถึงของคนงานยังมีความล่าช้าและยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงานฉบับต่างๆอย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตามกฎหมายและสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านแรงงาน ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยยังคงไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว และมิได้เร่งดำเนินการลงนามตามที่ได้มีการประกาศไว้ในแผนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights 2011 : UNGP) อีกด้วย
ทั้งนี้การใช้แรงงานรับเหมาช่วงเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 41 มาตรา 46 และมาตรา 110/1 แต่ปัจจุบันยังคงพบแรงงานรับเหมาช่วงในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยที่แรงงานรับเหมาช่วงมักถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมาย ด้วยวิธีการหักค่าจ้าง ถูกบังคับให้ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหันและไม่ได้รับค่าชดเชย หลังจากนี้มูลนิธิฯ จะใช้กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อผลักดันให้กระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญและให้ความคุ้มครองแก่แรงงานตามกฎหมาย รวมถึงยังเป็นการช่วยลดภาระให้กับศาลแรงงานในการตัดสินข้อพิพาทต่อไป แล้วคุณล่ะคิดอย่างไรกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ?
แหล่งที่มา : https://shorturl.asia/jn6z3