หอการค้านานาชาติได้บังคับใช้กฎอนุญาโตตุลาการปี 2021 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา หอการค้านานาชาติ (the International Chamber of Commerce “ICC”) ได้ประกาศบังคับใช้กฎอนุญาโตตุลาการที่แก้ไขใหม่ปี 2021 (“กฎ 2021”) แทนที่กฎเดิมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2017 โดยกฎที่ประกาศใช้ใหม่นี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สามในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยการแก้ไขในครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะ “ก้าวไปสู่ความมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ยืดหยุ่น และโปร่งใส”[1] อย่างไรก็ตาม การแก้ไขส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย และเป็นการขยายความเกี่ยวกับบทบัญญัติที่นำมาใช้ในการปรับปรุงกฎที่บังคับใช้ก่อนหน้านี้ (ปี 2017) และทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม
ข่าว/บทความ ที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นหลัก
- กฎ 2021 ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2020 และจะมีผลบังคับใช้ข้อพิพาทที่ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป
- มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการควบรวมกระบวนพิจารณา (Consolidation) ทางอนุญาโตตุลาการ[1]และการเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาของบุคคลอื่น(Joinder) แม้ว่าจะมีการยืนยันหรือเริ่มนัดวันพิจารณาแล้วก็ตาม[2]ในสถาณการณ์ที่มีข้อจำกัด
- การพิจารณาคดีเสมือนจริง (Virtual Hearing)[3] และการส่งเอกสารในระบบอิเล็กโทรนิคส์[4]
- การตีพิมพ์คำตัดสิน (Awards) และคำสั่งในกระบวนพิจารณา (Procedural Orders) แบบออนไลน์[5]
- การอนุญาตให้องค์คณะ (Tribunal) จำกัดการเปลี่ยนแปลงผู้แทนของคู่ความ (Party Representation) ในกรณีที่อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest)[6]
- การกำหนดให้คู่ความฝ่ายต่าง ๆ ต้องเปิดเผยข้อตกลงในการระดมทุนของบุคคลที่สาม (third party funding agreements)[7]
- ดุลยพินิจของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของไอซีซี (ICC Court) ในสถานการณ์พิเศษ (Exceptional Circumstances) ที่จะเบี่ยงเบนจากข้อตกลงของคู่ความในกรณีของการตั้งแต่งองค์คณะอนุญาโตตุลาการและแต่งตั้งองค์คณะทั้งหมดได้เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน[8]
การเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาของบุคคลที่สามและการควบรวมกระบวนพิจารณา (Joinder and consolidation provisions)
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของกฎ 2021 คือการที่มาตรา 7 (5) ใหม่นั้นอนุญาตให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องขอเข้าร่วมกระบวนพิจารณาของบุคคลอื่นได้ภายหลังการแต่งตั้งองค์คณะ (after the confirmation or appointment of the Tribunal) แล้ว องค์คณะจะพิจารณาคำขอโดยพิจารณาจากสถาการณ์แวดล้อมต่าง ๆ รวมไปถึงเขตอำนาจศาล, ระยะเวลาในการยื่นคำขอ, ผลกระทบจากการเข้าร่วมของคู่ความและกรณีของผลประโยชน์ขัดกัน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างจากกฎปี 2017 ซึ่งบุคคลอื่นสามารถขอเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาหลังจากมีการแต่งตั้งองค์คณะได้ต่อเมื่อมีคำยินยอมจากทุกฝ่าย รวมไปถึงตัวคู่ความเองด้วย[9]
ในส่วนของการควบรวมกระบวนพิจารณานั้น กฎ 2021 มาตรา 10 ที่แก้ไขเพิ่มเติมอนุญาตให้ศาลมีคำสั่งควบรวมกระบวนการพิจารณาเมื่อ “คำร้องในการอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ได้เกิดจากความตกลงอนุญาโตตุลาการเดียวกัน แต่การอนุญาโตตุลาการนั้นเกิดขึ้นระหว่างคู่พิพาทเดียวกัน และข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการนั้นมีความเกี่ยวเนื่องในทางกฎหมาย และศาลเห็นว่าความตกลงอนุญาโตตุลาการนั้นสามารถเข้ากันได้”[10] ซึ่งมีความแตกต่างจากกฎ 2017 ซึ่งอนุญาตในมีการควบรวมกระบวนพิจารณาได้ต่อเมื่อ “คำร้องนั้นเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการเดียวกัน”[11]
การพิจารณาเสมือนจริงและการส่งเอกสารในระบบอิเล็กโทรนิคส์ (Virtual hearings and electronic filing)
เพื่อให้สอดคล้องกับทางปฏิบัติในการอนุญาโตตุลาการและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่มีการระบาดของ COVID-19 ซึ่งได้มีการระบุไว้ในหมายเหตุแนวทางเกี่ยวกับมาตรการที่เป็นไปได้ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2020 ICC Guidance Note on Possible Measures Aimed at Mitigating the Effects of the COVID-19 Pandemic) ซึ่งให้องค์คณะใช้ดุลพิยนิจสำหรับกรณีพิจารณาคดีเสมือนจริงนั้น กฎ 2021 ได้บัญญัติมาตรา 26(1) เพื่อแทนที่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวว่า “คณะอนุญาโตตุลาการอาจตัดสินใจหลังจากปรึกษาคู่กรณีและโดยอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและสถานการณ์ของคดีว่าการพิจารณาคดีใด ๆ จะดำเนินการโดยการเข้าร่วมการพิจารณาโดยทางกายภาพหรือทางไกลโดยการประชุมทางวิดีโอโทรศัพท์หรือวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมอื่น ๆ”[12]
ทั้งนี้มาตรา 3 ของกฎ 2021 ก็ได้อนุญาตในคู่ความเลือกวิธีส่งเอกสารโดยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องส่งเป็นกระดาษเท่านั้น[13]
การแต่งตั้งองค์คณะพิจารณา
ใน “สถานการณ์พิเศษ” ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันและความไม่เป็นธรรมที่อาจส่งผลต่อความถูกต้องของคำชี้ขาดหรือคำตัดสิน กฎ 2021 มาตรา 12 (9) อนุญาตให้ศาล ICC สามารถแต่งตั้งองค์คณะทั้งหมดได้ นี่เป็นข้อยกเว้นใหม่สำหรับกฎทั่วไปที่ศาล ICC จะเข้าแทรกแซงก็ต่อเมื่อคู่สัญญาไม่สามารถแต่งตั้งองค์คณะได้ด้วยตนเอง[14]
กรณีผลประโยชน์ขัดกัน
กฎ 2021 มาตรา 11(7) ซึ่งบัญญัติใหม่ได้กำหนดให้คู่ความต้องเปิดเผยความมีอยู่และระบุการระดมทุนของบุคคลที่สาม (Third-party funders) เป็นลายลักษณ์อักษร[15] นอกเหนือไปจากนี้มาตรา 17(2) ใหม่ยังอนุญาตให้องค์คณะดำเนินการเพื่อป้องกันผลประโยชน์ขัดกันและอนุญาตให้ใช้ “มาตรการใด ๆ ที่จำเป็น” เพื่อดำเนินการดังกล่าวได้[16]
ทั้งนี้ นอกเหนือจากบทสรุปโดยย่อด้านบนแล้ว ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมอื่น ๆ อีก อาทิเช่นการกำหนดห้ามมิให้อนุญาโตตุลาการมีสัญชาติเดียวกับคู่ความ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎ 2021 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยแต่ก็แสดงให้เห็นความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความยืดหยุ่นในกระบวนพิจารณาและเพื่อรักษาความเป็นธรรมให้แก่คู่ความให้มากที่สุด อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน
แหล่งที่มา
- https://globalarbitrationnews.com/the-new-updated-icc-rules/
- https://hsfnotes.com/arbitration/2020/10/09/the-new-icc-rules-2021-what-you-need-to-know/
- https://www.whitecase.com/publications/alert/new-2021-icc-arbitration-rules
- https://www.ashurst.com/en/news-and-insights/legal-updates/icc-releases-its-revised-2021-arbitration-rules—top-5-things-you-need-to-know/
- https://iccwbo.org/dispute-resolution-services/arbitration/rules-of-arbitration/#article_3
- [1] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 10(c)
- [2] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 7(5)
- [3] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 26
- [4] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 3
- [5] 2021 ICC Arbitration Rules, Section III-B.
- [6] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 17
- [7] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 11
- [8] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 12.9
- [9] 2017 ICC Arbitration Rules, Article 7(1).
- [10] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 10(c)
- [11] 2017 ICC Arbitration Rules, Article 10(b)
- [12] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 26(1)
- [13] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 3
- [14] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 12(9)
- [15] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 11(7)
- [16] 2021 ICC Arbitration Rules, Article 17(2)
- [1] https://iccwbo.org/media-wall/news-speeches/icc-unveils-revised-rules-of-arbitration