อนุญาโตตุลาการ : เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย จริงหรือ?
เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินหรือได้พบคำว่า “อนุญาโตตุลาการ” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะจากข่าวสารทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ แต่อาจยังเกิดข้อสงสัยว่าอนุญาโตตุลาการคืออะไรเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยหรือไม่ และอนุญาโตตุลาการนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากการว่าความคดีในชั้นศาลมากน้อยเพียงใด
อันที่จริงแล้ว “อนุญาโตตุลาการ” ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ปรากฏมาอย่างช้านาน ตั้งแต่กฎหมายตราสามดวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระและรวบรวมกฎหมายขึ้นให้เป็นระบบ โดยที่ในเวลานั้นกฎหมายตราสามดวง ได้บัญญัติถึงอนุญาโตตุลาการโดยใช้คำว่า “อนุญญาโต” อันถือเป็นตระลาการประเภทหนึ่งซึ่งคู่ความแต่งตั้งขึ้นเองเพื่อให้วินิจฉัยตัดสินข้อพิพาท ของตน อนึ่ง เมื่ออนุญญาโตตัดสินชี้ขาดนั้นว่าอย่างไรแล้ว คู่ความตกลงว่าจะปฏิบัติตามนั้น โดยไม่อาจอุทธรณ์ให้มีการตัดสินข้อพิพาทนั้นใหม่ได้เลย[1] หลักการดังกล่าวจึงถือเป็นเครื่องยืนยันถึงการยอมรับเรื่องความสมัครใจของคู่พิพาทและสภาพบังคับของคำตัดสินของตระลาการอันเป็นบุคคลที่สามอันคู่พิพาทได้แต่งตั้งไว้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของกฎหมายอนุญาโตตุลาการในปัจจุบันเลยทีเดียว
ต่อมาได้มีการชำระและรวมรวมกระบวนการพิจารณาความทางแพ่ง โดยตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 115[2] ซึ่งยังคงปรากฎเรื่องการอนุญาโตตุลาการเหมือนเช่นกฎหมายตราสามดวง เพียงแต่ปรับเปลี่ยนถ้อยคำจาก “อนุญญาโต” เป็น “อนุญาโตตุลาการ” ดังที่ปรากฎในปัจจุบัน โดยในพระราชบัญญัตินี้ปรากฎเฉพาะการอนุญาโตตุลาการสำหรับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเท่านั้น[3] กล่าวคือบรรดาคดีทั้งปวงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ถ้าฝ่ายโจทก์และจำเลยประนีประนอมพร้อมกันร้องขอต่อศาลให้เชิญผู้ใดผู้หนึ่งมาเป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดในคดีนั้นก็ได้ ซึ่งก็ถือเป็นสิทธิของบุคคลนั้นว่าจะรับเข้าเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีหรือไม่ก็ได้[4] หากบุคคลนั้นไม่รับ ศาลก็จะหมายเรียกให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทำได้เพียงตั้งบุคคคลอื่นเพื่อทำหน้าที่แทนเท่านั้น นอกจากนี้ เนื่องจากคำชี้ขาดต้องมีลักษณะตัดสินว่าฝ่ายใดแพ้หรือชนะอย่างไร จึงได้ปรากฎหลักการเรื่องการทำคำชี้ขาดโดยเสียงข้างมากของคณะอนุญาโตตุลาการ[5] อีกด้วย อนึ่ง เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาคดีแล้วเสร็จจนได้เป็นคำชี้ขาดว่าฝ่ายใดแพ้หรือชนะคดีอย่างไรแล้ว ก็ให้ผู้พิพากษาตัดสินไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นเอง โดยที่คำชี้ขาดและคำตัดสินนั้นย่อมถึงที่สุดจะอุทธรณ์ไม่ได้โดยเด็ดขาด เว้นแต่คำตัดสินของศาลจะไม่ถูกต้องตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้นโจทก์จำลยจึงจะอุทธรณ์ได้
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาช่วงรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) 127[6] เทียบได้กับช่วง พ.ศ. 2451 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 127 โดยปรากฎหมวดว่าด้วย การอนุญาโตตุลาการในหมวดที่ 15 ตั้งแต่มาตรา 107 – 114 และได้เริ่มแยกประเภทของอนุญาโตตุลาการออกเป็นอนุญาโตตุลาการในศาลและอนุญาโตตุลาการนอกศาล ซึ่งปรากฎหลักความเป็นที่สุดและมีผลผูกพันของคำชี้ขาดแม้ว่าจะเป็นการอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นนอกศาลด้วย กล่าวคือ หากอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินชี้ขาดไปตามอำนาจหน้าที่ซึ่งคู่ความได้ยอมอนุญาตให้มีแล้ว[7] เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประพฤติตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ คู่ความที่ชนะคดีมีอำนาจมาฟ้องยังศาลเพื่อให้ศาลยกเอาคำตัดสินอนุญาโตตุลาการนั้นเป็น คำตัดสินของศาลดังเช่นอนุญาโตตุลาการในศาลได้เลยทีเดียว[8] อนึ่ง ได้มีการปรับแก้เพิ่มเติมเหตุแห่งการอุทธรณ์คำตัดสินเพิ่มเติมด้วย จากเดิมที่กำหนดเอาไว้เฉพาะเรื่องคำตัดสินของศาลไม่ถูกต้องกับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ก็ได้เพิ่มเรื่องที่อนุญาโตตุลาการได้พิจารณาไปในทางทุจริตหรือมีข้อที่ว่าคำชี้ขาดนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต โดยถือเป็นเหตุในการอุทธรณ์คำตัดสินของศาลได้เช่นกัน[9]
เมื่อมีการปรับปรุงระบบกฎหมายและตราขึ้นเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในปี พ.ศ. 2477 ก็ยังคงปรากฏบทบัญญัติเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการอยู่ในมาตรา 210 – 222 ซึ่งยังคงหลักการเดิมเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกเรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและอนุญาโตตุลาการนอกศาลออกจากกัน สำหรับกรณีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการนอกศาล เมื่ออนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดแล้ว ก็จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการด้วย อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายนี้ก็ได้บัญญัติเพิ่มเติมอำนาจของศาลในการปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้นก็ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายประการใดประการหนึ่ง แต่ถ้าถ้าคำชี้ขาดนั้นอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ศาลก็อาจมีคำสั่งให้อนุญาโตตุลาการหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องแก้ไขก่อนภายในเวลาอันสมควรตามที่ศาลกำหนดก็ได้[10] นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมเหตุแห่งการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย กล่าวคือ กรณีที่คำพิพากนั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความก็อาจอาศัยเหตุดังกล่าวที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้นได้[11]
จากวิวัฒนาการของกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะอนุญาโตตุลาการนอกศาลที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าจะกำหนดหลักการเอาไว้เพียงคร่าวๆ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเท่าใดนัก และจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของผลภายหลังกระบวนการเสร็จสิ้นแล้วและต้องใช้อำนาจศาลเพื่อให้บังคับตามคำชี้ขาดเสียมากกว่า[12]
ต่อมา เมื่อประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ. 1958 (หรือที่เรียกกันว่า “อนุสัญญานิวยอร์ค”)[13] จึงก่อให้เกิดพันธกิจแก่ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกที่จะบัญญัติกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับข้อบทในอนุสัญญาดังกล่าว และเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไม่ได้วางหลักการเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการนอกศาลเอาไว้อย่างชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2530 จึงได้มีการตรากฎหมายอนุญาโตตุลาการขึ้นเป็นฉบับแรก[14]เพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญานิวยอร์ค ซึ่งพระราชบัญญัตินี้เป็นการวางบทกฎหมายสำหรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ นอกศาล โดยกำหนดตั้งแต่เรื่องสัญญาอนุญาโตตุลาการ จำนวนและวิธีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ วิธีพิจารณา ชั้นอนุญาโตตุลาการ เรื่องการบังคับหรือปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาด เป็นต้น
กระนั้นก็ดี กลับพบว่ามีบทบัญญัติบางประการในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่ไม่สอดคล้องกับข้อบทในอนุสัญญารวมทั้งกฎหมายอนุญาโตตุลาการต้นแบบที่ร่างขึ้นโดย UNCITRAL ด้วย เช่น ไม่มีการวางหลักเกณฑ์เรื่องการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ[15] เหตุแห่งการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดซึ่งน้อยกว่าเหตุที่กำหนดไว้ในอนุสัญญารวมทั้งกฎหมายต้นแบบ[16] ฯลฯ จึงเป็นที่มาในการยกร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545[17] ขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฉบับเดิมและยังคงสภาพบังคับใช้จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้นับว่ามีบทบัญญัติส่วนใหญ่ที่สอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญานิวยอร์คและกฎหมายอนุญาโตตุลาการต้นแบบของ UNCITRAL อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายเป็นศาสตร์ที่มีลักษณะพลวัตร กล่าวคือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ไปตามสภาวการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายในการบริหารงานของประเทศ จึงต้องมีการรวมรวมข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในกฎหมายอยู่เสมอ ดังเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562[18] ซึ่งเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการชาวต่างชาติ โดยกำหนดมาตรการที่อำนวยความสะดวกให้แก่อนุญาโตตุลาการรวมทั้งผู้รับมอบอำนาจชาวต่างชาติในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นการใบอนุญาตทำงานที่ใช้เวลารวมทั้งเอกสาร น้อยกว่ากรณีปกติ หลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองให้แก่ชาวต่างชาติโดยหน่วยงานหรือสถาบันที่ให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยนั่นเอง
จากวิวัฒนาการของกฎหมายอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า “อนุญาโตตุลาการ” ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยเลยเสียทีเดียว หากแต่มีประวัติความเป็นมาและรากฐานทางประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร่วม 200 ร้อยปี และถือเป็นกฎหมายที่มีความทันสมัย เพราะรับรองหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาของคู่พิพาท หรือ Party Autonomy กันมาอย่างช้านานซึ่งสะท้อนผ่านทางอำนาจของคู่พิพาทในการกำหนดกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งขอบอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการได้นั่นเอง
- [1] อนันต์ จันทรโอภากร, กฎหมายว่าด้วยการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนอกศาล, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม,2536), น.6-7.
- [2] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 13 ฉบับพิเศษ เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ร.ศ. 127 เข้าถึงได้ทาง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/033/367.PDF.
- [3] มาตรา 116 พระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 115
- [4] มาตรา 117 พระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 115
- [5] มาตรา 118 พระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 115
- [6] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25 ฉบับพิเศษ เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ร.ศ. 127 เข้าถึงได้ทาง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/011/328_1.PDF.
- [7] เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการรวทั้งกรอบในการทำคำชี้ขาดต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ซึ่งคู่ความได้ยอมอนุญาต ให้มีนั้น เป็นบทบัญญัติสำคัญที่รองรับหลัก Party Autonomy หรือหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาของคู่พิพาทนั่นเอง
- [8] มาตรา 113 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 127
- [9] มาตรา 114 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 127
- [10มาตรา 221 ประกอบมาตรา 218 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477
- [11มาตรา 222 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477
- [1 อนุญาโตตุลาการนอกศาล ปรากฏในมาตรา 221 แต่เดิมไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 จึงได้แก้ไขบทมาตราดังกล่าว โดยกำหนดให้อนุญาโตตุลาการนอกศาลเป็นไปตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการ นับแต่นั้นมา
- [13] “Contracting state”, สืบค้นทาง http://www.newyorkconvention.org/countries, เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564.
- [14] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 104 ตอนที่ 156 เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2530 เข้าถึงทาง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/A/156/1.PDF.
- [15] เรื่องการเพิกถอนคำชี้ขาด หรือ Set aside ปรากฎใน Article V (e) โดยถือว่าเป็นเหตุในการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดได้ หากคำชี้ขาดนั้นได้ถูกเพิกถอนโดยองค์กรที่มีอำนาจในประเทศที่คำชี้ขาดนั้นได้ทำขึ้น รวมทั้งปรากฎใน Article VI ซึ่งบัญญัติถึงกรณีที่มีร้องขอให้เพิกถอนหรือระงับใช้คำชี้ขาดนั่นเอง
- [16] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กำหนดเหตุในการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดเอาไว้ในมาตรา 24 กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าคำชี้ขาดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ เท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับ Article V ของอนุสัญญานิวยอร์คแล้ว ไม่ปรากฎเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเรื่องถึงการแต่งตั้งหรือกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ, คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับ ข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับได้โดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ หรือขัดต่อนโยบายสาธารณะของประเทศนั้น เป็นต้น
- [17] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 39 ก เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2545 เผยแพร่เมื่อวันที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00054010.PDF.
- [18] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 49 ก เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 เผยแพร่เมื่อวันที่ https://thac.or.th/v1/theme/file_system/20190417073218.pdf.