อัพเดทก่อนชี้ชะตา! บ.คิงส์เกต ออกแถลงว่ารัฐบาลไทย “อนุมัติ” เปิดเหมืองแร่ “ชาตรี” อีกครั้ง
บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวอย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลไทยอนุมัติให้ทางบริษัทได้กลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีจำนวน 4 แปลง อีกครั้ง นับตั้งแต่ถูกสั่งปิดการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแจ้งความคืบหน้าดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา
จากการคาดการณ์ของสำนักข่าวทั้งในไทย และออสเตรเลียเห็นตรงกันว่า ประกาศดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลไทย และคิงส์เกต ดำเนินกาเจรจาประนอม เพื่อยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศที่ยืดยาวมาหลายปี จนนำไปสู่การยื่นข้อพิพาท และการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่มีการเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 25,000 ล้านบาท จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเชื่อกันว่าจะมีการแถลงคำชี้ขาดในข้อพิพาทดังกล่าววันที่ 31 มกราคม ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังตั้งขอสังเกตอีกด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยอนุมัติให้เปิดเหมืองแร่ “ชาตรี” อีกครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ทางรัฐบาลไทยยื่นเป็นข้อเสนอในการประนอมข้อพิพาทในคดี “เหมืองทองอัครา” โดยบริษัทคิงส์เกต ประกาศผ่านเว็บไซต์ถึงรายละเอียดดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้รับสัญญาหรับการเช่าเหมืองทั้งหมด 4 ฉบับจากทางรัฐบาลไทยแล้ว ซึ่งสัญญาประกอบไปด้วยการอนุมัติทำเหมือง 4 แปลง แบ่งเป็นสัญญาสำหรับการเช่าเหมืองแร่ชาตรี 3 ฉบับ (3 แปลง) และสัญญาเช่าเหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง ซึ่งแบ่งการอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ (Mining Release) ได้ดังนี้
1. สัญญาเช่าเหมืองแร่: 26910/15365; (เหมืองแร่ชาตรี)
2. สัญญาเช่าเหมืองแร่: 26911/15366; (เหมืองแร่ชาตรี)
3. สัญญาเช่าเหมืองแร่: 26912/15367; (เหมืองแร่ชาตรี)
4. สัญญาเช่าเหมืองแร่: 25528/14714. (เหมืองแร่ควอตซ์)
สัญญาเช่าแต่ละฉบับที่ได้ระบุข้างต้นนั้นมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทคิงส์เกต ยังเปิดเผยอีกด้วยว่าขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบการแปรรูปโลหะวิทยา (MPL) นั้นเสร็จสมบูรณ์และได้รับการอนุมัติแล้ว โดยทางฝ่ายอัครามีกำหนดการไปรับมอบใบรับรอง MPL จากรัฐบาลไทยในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ บริษัทคิงส์เกต ยังระบุถึงความร่วมมือ และความปรารถนาดีจากทางรัฐบาลไทยที่แสดงผ่านการออกใบอนุญาตเหล่านี้ และการกลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีอีกครั้งจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตที่มีมูลค่าสูงแก่ทุกฝ่าย ทั้งบริษัท ชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจ และเศรษฐกิจของไทย ในขณะที่รายการเพิ่มเติมบางส่วนยังอยู่ระหว่างการเจรจา ลำดับความสำคัญยังคงเป็นการเปิดเหมืองอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทุกฝ่ายยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดก็คือคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่จะประกาศ และเผยแพร่แก่สาธารณชนในวันที่ 31 มกราคมนี้ จากเดิมที่ทางรัฐบาลไทย และบริษัทคิงส์เกต ต่างเห็นพ้องต้องกันในการขยายเวลาในการอ่านคำชี้ขาดออกไปจากวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา
THAC จะจับตาดูประเด็นอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าไม่ว่าคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำตัดสินชี้ขาดไปในทิศทางใด ข้อพิพาทนี้ จะถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญทั้งในแวดวงวิชาการ รวมถึงแวดวงธุรกิจที่ควรค่าแก่การวิเคราะห์ และศึกษาในหลากหลายแง่มุมต่อไป