อำนาจในการออกวิธีการชั่วคราวของอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย
สืบเนื่องจากบทความเรื่อง มาตรการชั่วคราวในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในบทความนี้จะกล่าวถึงอำนาจในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 รวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว [บทความโดย นายณัฐวัต ศิริประสมทรัพย์]
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
หากคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวในราชอาณาจักรไทย สิทธิของคู่สัญญาถูกระบุไว้ในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545[1]
มาตรา 16 กำหนดให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลในส่วนที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม
ในส่วนของคดีแพ่งนั้น บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องคือบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่สามารถนำมาใช้กับกระบวนการอนุญาโตตุลาการคือ มาตรา 254 ว่าด้วยการยึดอายัดชั่วคราว และมาตรา 264 ว่าด้วยการคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทระหว่างพิจารณา ในส่วนของมาตรา 253 ที่ว่าด้วยเรื่องการวางเงินหรือหาประกันนั้น ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยได้มีการกำหนดไว้ในข้อบังคับให้คู่พิพาทวางเงินค่าธรรมเนียมไว้ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการพิจารณาอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำความในมาตรา 253 มาบังคับใช้[2][3]
ในส่วนของคดีปกครองนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ซึ่งมีข้อ 77 ที่กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วยวิธีการชั่วคราวมาใช้บังคับในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคำขอ เงื่อนไขในการออกคำสั่งของศาลและผลของคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หรือวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาโดยอนุโลม เท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำได้และโดยไม่ขัดต่อระเบียบที่ประชุมใหญ่นี้และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง
จะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการให้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลมนั้น ทั้งศาลแพ่งและศาลปกครองไม่มีความแตกต่างกันเพราะ บทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาของทั้งสองศาลต่างกำหนดให้ใช้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อย่างไรก็ตาม มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ก็คือเรื่องของการอุทธรณ์คำสั่ง
คำสั่งให้มีวิธีการชั่วคราวของศาลนี้ หากคู่ความไม่พอใจกับคำสั่งดังกล่าว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 45 (5) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ[4] ซึ่งในส่วนของคดีแพ่งและพาณิชย์นั้นคู่ความจะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป[5] อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีที่เป็นสัญญาทางปกครองหรือคดีที่อยู่ภายใต้อำนาจของศาลปกครอง ถ้าหากศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับหรือยกคำขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่รับหรือยกคำขอได้ แต่ถ้าหากเป็นคำสั่งอื่นที่มิใช่คำสั่งไม่รับหรือยกคำขอ คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยต้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้นั้นไม่รับแจ้งหรือทราบคำสั่งของศาล[6][7]
ศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องวิธีการคุ้มครองชั่วคราวนี้ก็คือศาลที่ระบุไว้ในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ อันได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น
ปัญหาของมาตรา 16
จากความในมาตรา 16 ที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น ถ้อยคำของมาตรา 16 นั้นกล่าวถึงแต่เฉพาะอำนาจของศาลเท่านั้น มิได้มีการกล่าวถึงอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการออกวิธีการคุ้มครองชั่วคราวแต่อย่างใด แม้ว่าจะไม่มีการบัญญัติที่ชัดแจ้งว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจหรือห้ามมิให้คณะอนุญาโตตุลาการออกวิธีการชั่วคราว คู่สัญญาย่อมร้องขอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ ในทางกลับกัน ก็ไม่ได้มีการบัญญัติที่ชัดเจนว่าคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดังกล่าว
จากหนังสือ International Arbitration: Law and Practice โดย Gary B. Born ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือของเขาว่า “คณะอนุญาโตตุลาการมักจะไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวถ้าหากว่ากฎหมายที่บังคับใช้แก่การ
อนุญาโตตุลาการไม่มีการรับรองอำนาจดังกล่าวไว้โดยกฎหมายที่บังคับใช้แก่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ”[8] ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความคลุมเครือของมาตรา 16 เป็นอย่างดี ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแทบจะไม่เป็นที่ปรากฏว่ามีการออกวิธีการชั่วคราวโดยคณะอนุญาโตตุลาการ
หากพิจารณาจากมุมมองของคู่ความแล้ว การร้องขอต่อศาลให้ศาลออกวิธีการชั่วคราวอาจเป็นวิธีการที่ปลอดภัยกว่า กล่าวคือ ถ้าหากคู่ความฝ่ายหนึ่งร้องขอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้มีการออกวิธีการชั่วคราวและคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการออกคำสั่งมาแล้ว ความไม่ชัดเจนตรงนี้ของมาตรา 16 อาจเป็นข้ออ้างให้คู่ความอีกฝ่ายร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลเพิกถอนวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการได้อันเนื่องมาจากคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งดังกล่าว วิธีการชั่วคราวนี้ย่อมถูกยืดเยื้อออกไปซึ่งไม่สมประสงค์ต่อความต้องการของคู่ความต้องการให้มีคำสั่งโดยทันทีหรือโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ในเรื่องของอำนาจในการออกวิธีการชั่วคราว สถาบันอนุญาโตตุลาการอาจแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดในข้อบังคับของสถาบันเพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการกำหนดวิธีการชั่วคราวได้ แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการบังคับตามคำสั่งดังกล่าว
ในส่วนของการบังคับตามคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราว เนื่องจากไม่มีกฎหมายรับรองผลของคำสั่งให้มีวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคำสั่งดังกล่าวก็ต้องอาศัยอำนาจของสัญญา กล่าวคือไม่มีอำนาจของกฎหมายที่บังคับให้คู่ความปฏิบัติตามวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนี้ อาจอ้างได้ว่า ให้นำไปบังคับเสมือนอย่างคำชี้ขาด ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ[9] ในประเด็นของการบังคับตามวิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการจะกล่าวในบทความต่อไป
แนวทางแก้ไข
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มีรากฐานมาจาก “UNCITRAL Model Law on Commercial Arbitration” แต่ได้มีการปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย[10] อันจะเห็นได้จากการตัดมาตรา 17 ของ “UNCITRAL Model Law on Commercial Arbitration”[11] ออกไป ซึ่งมาตรา 17 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการสามารถออกวิธีการชั่วคราวได้ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ได้กำหนดอำนาจในการออกวิธีการชั่วคราวให้เป็นของศาลตามที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น
การแก้ไขข้อความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการมีทางเลือกในการขอคุ้มครองสิทธิของตัวเอง กล่าวคือ ให้คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการมีทางเลือกที่จะขอให้ศาลหรือคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิจารณาวิธีการชั่วคราว และเพื่อให้วิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้นมีอำนาจของกฎหมายมารับรอง
แนวทางการแก้ไขในส่วนของอำนาจคณะอนุญาโตตุลาการนั้นสามารถเป็นไปได้หลายทิศทาง เช่น
นำกฎหมายแม่แบบของ UNCITRAL หรือกฎหมายอนุญาโตตุลาการในประเทศต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบในการแก้ไข อาทิ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบกฎหมายที่เป็นมิตรต่อการอนุญาโตตุลาการเป็นอย่างมาก (Arbitration Friendly)
จากการสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) เรื่องการแก้ไขมาตรา 16 ที่จัดโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ผู้แทนจากสำนักงานทนายความ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขดังต่อไปนี้
ในประการแรก ควรแก้ไขในส่วนแรกโดยเพิ่มเติมว่า เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น (Unless parties agreed otherwise) ด้วยเหตุผลที่ว่า การอนุญาโตตุลาการเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่คู่สัญญามีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะใช้ ฉะนั้นแล้ว กฎหมายก็ควรจะเอื้ออำนวยความประสงค์ของคู่สัญญาตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนา (Party Autonomy)
ในประการที่สอง ในที่ประชุมมีการเสนอว่า การแก้ไขในเนื้อหาของมาตรา 16 จะต้องใช้ UNCITRAL Model Law on Commercial Arbitration เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการแก้ไข (Minimum Standard) กล่าวคือ การแก้ไขมาตรา 16 อาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำกฎหมายว่าด้วยเรื่องการออกวิธีการชั่วคราวของประเทศที่มีการพัฒนาแล้วอย่างเช่นประเทศอังกฤษหรือประเทศสิงคโปร์ที่กฎหมายว่าด้วยเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดมากและมีการพัฒนามาอย่างยาวนานเพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทของการอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์หรือของประเทศอังกฤษเอง
ประการที่สาม ในการออกวิธีการชั่วคราวนั้น ควรมีเงื่อนไขในการพิจารณา เช่น เงื่อนไขการพิจารณาในมาตรา 17 A ของกฎหมายแม่แบบ UNCITRAL ที่กำหนดว่า หากไม่มีการออกวิธีการชั่วคราวแล้ว จะเกิดความเสียหายอันมิอาจเยียวยาได้อย่างเพียงพอโดยคำชี้ขาดและความเสียหายเช่นว่านั้นมีน้ำหนักมากกว่าความเสียหายที่จะก่อให้เกิดแก่คู่พิพาทที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการเมื่อมีการออกมาตรการนั้น และมีเหตุผลเป็นไปได้ว่าคู่พิพาทที่ร้องขอให้มีการออกวิธีการชั่วคราวจะชนะคดี การออกวิธีการชั่วคราวนี้ย่อมไม่กระทบกับดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการในการออกคำชี้ขาดในภายหลัง[12] อีกทั้งทางที่ประชุมสัมมนากลุ่มย่อยได้เสนอต่อไปด้วยว่า เงื่อนไขการออกวิธีการชั่วคราวในคดีปกครองและคดีแพ่งทั่วไปควรมีแนวทางพิจารณาที่แตกต่างกัน เพราะคดีแพ่งทั่วไปและคดีปกครองมีนิติวิธีที่แตกต่างกัน
สรุป
มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 สมควรให้มีการแก้ไขเป็นอย่างยิ่งอันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ อันทำให้วิธีการชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้นแทบไม่เกิดขึ้นเลยในประเทศไทย จึงส่งผลให้ศาลต้องเป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่ศาลมีคดีมีเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว การอนุญาโตตุลาการที่เป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกควรจะเป็นผู้แบ่งเบาภาระของศาลในการอำนวยความยุติธรรม
แนวทางการแก้ไขมาตรา 16 เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการออกวิธีการชั่วคราว ผู้เขียนเห็นด้วยกับที่ประชุมสัมมนากลุ่มย่อยที่เสนอให้มีการแก้ไขโดยใช้กฎหมาย Model Law ของ UNCITRAL เป็นต้นแบบในการแก้ไข นอกจากนี้การแก้ไขตาม Model Law ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นการส่งเสริมการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยนั้นมีความทัดเทียมกับนานาชาติและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการอนุญาโตตุลาการเป็นระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกได้รับการยอมรับจากผู้ที่ทำการค้าหรือทำกิจการระหว่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้กระบวนการทางศาลของประเทศใดประเทศหนึ่งอาจไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมในเรื่องที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศได้เท่าที่ควร กล่าวคือ ศาลในประเทศนั้น ๆ อาจไม่เข้าใจกฎหมายที่บังคับใช้แก่สัญญาอย่างถ่องแท้ หรืออาจใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการพิจารณาคดี การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการจึงเหมาะสมกว่าถ้าหากมองในมุมมองของนักลงทุนชาวต่างชาติ ฉะนั้นแล้ว การแก้ไขมาตรา 16 ให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติจึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
สุดท้ายนี้ นอกจากที่จะต้องมีการแก้ไขเรื่องอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว ยังต้องมีการแก้ไขเรื่องการบังคับตามวิธีการชั่วคราวด้วย เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวครบถ้วนสมบูรณ์ โดยผู้เขียนจะเขียนเรื่องดังกล่าวในบทความต่อไป
[1] พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16
“คู่สัญญาที่ได้ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก่อน หรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ ถ้าศาลเห็นว่ากระบวนพิจารณานั้นหากเป็นการพิจารณาของศาลแล้วศาลทำให้ได้ก็ให้ศาลจัดการให้ตามคำร้องนั้น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งวิธีพิจารณาความของศาลทำ ในส่วนที่เกี่ยวกับการนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตามคำร้องของคู่สัญญาตามวรรคหนึ่ง คู่สัญญาฝ่ายที่ยื่นคำร้องมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิกเมื่อครบกำหนดดังกล่าว”
[2] พสิษฐ์ อัศววัฒนาพร, การคุ้มครองชั่วคราวในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ: ความจำเป็นในการปรับปรุงแก้ไข, วารสารกฤษฎีกา เล่ม 1 ตอน 3, กรกฎาคม 2564.
[3] ข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2558 ข้อ 80
“ถ้าคู่พิพาทไม่วางเงินประกันตามที่นายทะเบียนกำหนด เมื่อได้หารือกับคณะอนุญาโตตุลาการ และคู่พิพาททุกฝ่ายแล้ว นายทะเบียนอาจขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งงดการพิจารณาคดีไว้ หากคู่พิพาทไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าเป็นการถอนข้อเรียกร้อง และข้อเรียกร้องแย้ง โดยไม่ตัดสิทธิที่จะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใหม่
คณะอนุญาโตตุลาการอาจงดการพิจารณาคดีทั้งหมด หรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รับเงินประกันครบถ้วนก็ได้ และเมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ คณะอนุญาโตตุลาการอาจออกคำชี้ขาดสำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระก็ได้
ในกรณีที่มีคำสั่งงดการพิจารณาคดี คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจวางเงินประกันแทนคู่พิพาทฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องชำระก็ได้”
[4] มาตรา 45 (5) “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16”
[5] มาตรา 228 แห่งประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำของเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณา หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป”
[6] ข้อ 76 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 “คำสั่งไม่รับหรือยกคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือคู่กรณีให้เป็นที่สุด ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หรือวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา ต่อศาลปกครองสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่งศาล”
[7] มณฑล อรรถบลยุคล, พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ฉบับอ้างอิง, วิญญูชน (ตุลาคม 2564 (กรุงเทพฯ)), หน้า 48.
[8] แปลจาก Gary B. Born, International Arbitration: Law and Practice, Kluwer Law International, Page 210. “An arbitrator will seldom grant provisional relief unless satisfied that the law applicable to the arbitration allows the tribunal to do so”
[9] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 42 มาตรา 43 และมาตรา 44 คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะได้ทำขึ้นในประเทศใดให้ผูกพันคู่พิพาท และเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น”
[10] แปลจาก Emi Rowse Dutsadee Dutsadeepanich, Arbitration Guide IBA Arbitration Committee Thailand, Available on https://www.ibanet.org/MediaHandler?id=AF819767-C572-4B20-97AD-448D3CE1EFFD (accessed on 4 November 2022)
[11] Article 17 (1) “Unless otherwise agreed by the parties, the arbitral tribunal may, at the request of a party, grant interim measures”.
[12] Article 17 A. Conditions for granting interim measures
(1) The party requesting an interim measure under article 17(2)(a), (b) and (c) shall satisfy the arbitral tribunal that:
(a) Harm not adequately reparable by an award of damages is likely to result if the measure is not ordered, and such harm substantially outweighs the harm that is likely to result to the party against whom the measure is directed if the measure is granted; and
(b) There is a reasonable possibility that the requesting party will succeed on the merits of the claim. The determination on this possibility shall not affect the discretion of the arbitral tribunal in making any subsequent determination.