ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ได้ปรับใช้ข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการร่วมกันครบทุกข้อแล้ว
ศาลประชาชนสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Supreme People’s Court) และกระทรวงยุติธรรมฮ่องกง ได้ลงนามในข้อตกลงเพิ่มเติม (The Supplemental Arrangement) เกี่ยวกับการบังคับใช้ร่วมกันของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นการตกลงเพิ่มเติมแก้ไขและส่งเสริมข้อตกลงที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการบังคับใช้ร่วมกันของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 ทั้งนี้เนื่องมาจากเมื่อครั้งที่อังกฤษได้ส่งมอบเกาะฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนเมื่อปี 1997 นั้นรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขยายการบังคับใช้อนุสัญญานิวยอร์กไปยังฮ่องกง แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา อนุสัญญานิวยอร์กนั้นไม่สามารถบังคับใช้กับชี้ขาดระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นใหญ่อีกต่อไป ดังนั้นจึงมีการแก้ไขสถานการณ์โดยการลงนามในข้อตกลงที่มีชื่อว่า The Arrangement Concerning Mutual Enforcement of Arbitral Awards between the Mainland and the Hong Kong Special Administrative Region 1999 โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นกรอบที่สามารถบังคับใช้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำในฮ่องกงได้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนและในทางกลับกัน เพื่อให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำในสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถบังคับใช้ได้ในฮ่องกง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีการเพิ่มเติมสาระสำคัญทั้งหมด 4 ประการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญานิวยอร์กและเพื่อให้การบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับวันที่เริ่มมีผลใช้บังคับ กรณีสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นข้อบังคับเหล่านี้ทั้งหมดมีผลบังคับใช้ทันที สำหรับกรณีของฮ่องกงนั้น Article 1 และ 4 มีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 ส่วน Article 2 และ 3 นั้นเพิ่งจะบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายอนุญาโตตุลาการ
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียดโดยสังเขปของข้อตลงเพิ่มเติมนั้นมีดังต่อไปนี้
Article 1 Recognition and Enforcement: การยอมรับและการบังคับใช้
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญานิวยอร์ก Article 3 ที่บัญญัติว่า “รัฐภาคีจะยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการด้วยหลักเกณฑ์วิธีพิจารณาของรัฐที่มีการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาด”[1] นั้น มาตรา 1 จึงได้ทำการชี้แจงว่า นอกเหนือจากการบังคับใช้ (Enforcement) นั้น การบังคับใช้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ระบุไว้ภายใต้ข้อตกลงปี 1999 จะต้องตีความให้ครอบคลุมทั้งขั้นตอนสำหรับ “การรับรอง (Recognition) ด้วย ซึ่งข้อตกลงเพิ่มเติมช่วยขจัดความไม่แน่นอนว่าคำชี้ขาดที่ทำในฮ่องกงจะต้องได้รับการยอมรับก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในแผ่นดินใหญ่หรือไม่
Article 2 Removal of the restriction of awards made by certain arbitral institutions: การยกเลิกข้อจำกัดของคำชี้ขาดที่ทำโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการบางแห่ง
ภายใต้ข้อตกลงปี 1999 นั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำในสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีผลบังคับใช้โดยศาลฮ่องกงก็ต่อเมื่อหน่วยงานอนุญาโตตุลาการที่บริหารจัดการคดีอนุญาโตตุลาการนั้นปรากฏอยู่ในรายชื่อของสำนักงานกิจการนิติบัญญัติของสภาแห่งรัฐ (Legislative Affairs Office of the State Council) ว่าเป็นหน่วยงานอนุญาโตตุลาการที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น ข้อตกลงเพิ่มเติมได้ยกเลิกข้อจำกัดนี้เพื่อให้กุญแจสำคัญในการบังคับใช้คำชี้ขาดคือสถานที่ในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ[LG1] แทนที่จะเป็นสถาบัน ดังนั้นข้อตกลงเพิ่มเติมได้บัญญัติว่า ตราบใดที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้รับการดำเนินการตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น คำชี้ขาดนั้นย่อมได้รับการยอมรับและบังคับตามในฮ่องกงภายใต้กฎหมาย อย่างไรก็ตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการกำหนดให้สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องรวมคณะกรรมการหรือสถาบันอนุญาโตตุลาการที่เลือกไว้ด้วยจึงจะมีผลใช้บังคับ ดังนั้นมาตรานี้จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้กับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจหรือ Ad Hoc Arbitration ได้
Article 3 Simultaneous enforcement applications: การบังคับใช้บังคับพร้อมกัน
Article 3 นั้นเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง Article 2 (3) ของข้อตกลง 1999 ทั้งนี้เพื่อให้คู่พิพาทสามารถยื่นขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลฮ่องกงและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องมาจากข้อตกลงปี 1999 นั้น แม้ว่าผู้แพ้คดีตามคำชี้ขาดอาจมีทรัพย์สินทั้งในฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่ แต่ผู้ชนะคดีตามคำชี้ขาดสามารถเริ่มดำเนินการบังคับใช้ในเขตอำนาจศาลได้ครั้งละหนึ่งเขตอำนาจเท่านั้น แม้ว่าผู้แพ้คดีตามคำชี้ขาดจะมีทรัพย์สินอยู่ในทั้งสองเขตอำนาจศาลก็ตาม ดังนั้น หากการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นยืดเยื้อหรือไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ชนะคดีตามคำชี้ขาดก็อาจไม่สามารถยื่นขอบังคับตามคำชี้ขาดต่อศาลที่เกี่ยวข้องอีกแห่งหนึ่งได้เนื่องจากหมดอายุความในการขอบังคับ (สองปีในสาธารณรัฐประชาชนจีนและหกปีในฮ่องกง) การยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อเจ้าหนี้เพื่อที่จำได้ไม่ต้องเลือกระหว่างศาลสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือฮ่องกงอีกต่อไป
Article 4 Interim Measures throughout the arbitral proceedings: มาตรการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ
ข้อตกลงเพิ่มเติมนั้นเป็นการยืนยันอำนาจศาลของสองประเทศในการที่จะกำหนดมาตรการสงวนรักษาหรือมาตรการบังคับ (preservation or mandatory measures) ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการรับรองคำขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนอกเหนือจากข้อตกลงเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในมาตรการระหว่างกาลที่ศาลมีคำสั่งในการช่วยเหลือการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ (Arrangement Concerning Mutual Assistance in Court-ordered Interim Measures in Aid of Arbitral Proceedings) โดยศาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและของฮ่องกง ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำให้แน่ใจว่าจะมีมาตรการระหว่างกาลตลอดระยะเวลาของกระบวนอนุญาโตตุลาการรวมทั้งก่อนที่จะเริ่มดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนอีกด้วย
การแก้ไขเพิ่มเติมนี้เป็นการยกระดับฮ่องกงสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการเป็นศูนย์กลางการระงับข้อพิพาทในเอเชียและของโลก
ที่มา:
- https://globalarbitrationnews.com/hong-kong-and-mainland-china-enhance-law-on-mutual-enforcement-of-arbitral-awards/
- https://www.clydeco.com/en/insights/2021/02/enhanced-measures-on-mutual-enforcement-in-hksar
- https://www.tannerdewitt.com/supplemental-arrangement-arbitral-awards/
- https://www.hellenicshippingnews.com/recognition-and-enforcement-of-foreign-arbitration-awards-in-mainland-china/
- New York Convention 1958. Article III “Each Contracting State shall recognize arbitral awards as binding and enforce them in accordance with the rules of procedure of the territory where the award is relied upon”