“เชฟรอน” ยื่นอนุญาโตตุลาการ หาข้อยุติรื้อแท่นเอราวัณ
เชฟรอนฯ ล้มเจรจารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ยันไม่ยอมวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อ กว่า 4 หมื่นล้านบาท
เหมือนเรื่องราวจะไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา บริษัทแม่ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน โดยแจ้งให้กรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ ให้ทราบว่าเชฟรอนฯ ได้แจ้งเรื่องไปยังอนุญาโตตุลาการ เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อพิพาทในการหาผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นขุดเจาะที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณ หลังจากที่ได้มีการระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการชั่วคราว ไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา กลับมาสู่กระบวนการอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน
โดยการเจรจาครั้งล่าสุดมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้กำหนดระยะเวลาเจรจาเพื่อหาข้อยุติภายใน 180 วัน หรือราวสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งการเจรจาก็ดูเหมือนว่าจะมีความคืบหน้าในบางเรื่อง เช่น จำนวนแท่นปิโตรเลียมของแปล่งเอราวัณ เมื่อสิ้นสุดสัมปทานปี 2565 รัฐจะมีการเก็บไว้ใช้งานต่อจำนวน 142 แท่น และจะต้องรื้อถอน จำนวน 49 แท่น (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว 7 แท่น)
ในส่วนของการเจรจากรณีที่รัฐต้องการให้ทางเชฟรอนรับผิชอบค่ารื้อถอน รวมทั้งการวางหลักประกันค่ารื้อถอน สำหรับแท่นที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองสูงสุด ดังนั้นจึงต้องอาศัยคนกลางหรือบุคคลที่สาม เป็นผู้ไกล่เกลี่ยต่อไป
เชฟรอนไม่รับข้อเสนอ
ข้อมูลจาก “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการเจจาค่ารื้อถอน และวางหลักประกันค่ารื้อถอนที่คืนให้กับรัฐ แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ แม้ว่ากรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ จะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขในการวางหลักประกันค่ารื้อถอน แต่ทางเชฟรอนฯ ไม่รับเงื่อนไขนี้ และเห็นว่าค่าใช้จ่าย และหลักประกันการรื้อถอนที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมปี 2559 เป็นการออกกฎหมายภายหลัง จังไม่มีผลบังคับย้อนหลัง และทางรัฐไม่เคยขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม และเมื่อรัฐจะมีการนำแท่นปิโตรเลียมไปใช้ประโยชน์ต่อ ก็ควรที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐหรือผู้รับสัมปทานรายใหม่ ที่ต้องรับผิดชอบ
ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มองว่า การดำเนินการรื้อถอนแท่นที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งมีการระบุไว้ชัดเจนในกฎกระทรวง ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปีโตรเลียม
ไม่ยอมเสีย 4 หมื่นล้าน
เมื่อเวลาล่วงเลยมา และมีแนวโน้มว่าการเจรจาจะไม่ได้ข้อยุติ ทางเชฟรอน จึงตัดสินใจที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งข้อสรุปอาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ทั้งนี้หากทางเชฟรอนจะต้องใช้เงินกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท สำหรับการรื้อถอนและวางเงินลหักประกันในส่วนของแท่นปิโตรเลียมที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อจำนวน 142 แท่น เป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งถือว่าเป็นภาระทางการเงิน และไม่เป็นธรรมกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางเชฟรอนจะนำข้อพิพาท กลับเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่ก็ยังมีการเปิดช่องให้มีการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายระหว่างที่อนุญาโตตุลาการพิจารณา
ส่วนบริษัทโททาล ยักษ์ใหญ่น้ำมันฝรั่งเศสผู้ถือหุ้นในแหล่งก๊าซลงกช 33.3% ซึ่งต้องว่าหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นที่ส่งคืนรัฐ 46 แท่น ตามสัดส่วนการถือหุ้น ได้นำข้อพิพาทนี้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการและได้ระงับกระบวนการไปเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และยังไม่มีการแจ้งเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมงบที่จะใช้ต่อสู้คดีราว 450 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ
ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/451454?fb=&fbclid=IwAR1H3lVrmGBtuHJpbzES3iCkKvRWnsE_c0z0ey7Hih0HYEMAIB8n5d9H4dY