“เอลซันวาดอร์” ผู้ผ่านกฎหมายห้ามทำเหมืองโลหะรายแรกของโลก
เอลซัลวาดอร์ประกาศชัยชนะเป็นประเทศแรกของโลก สำหรับการต่อสู้ทางกฎหมายกว่า 10 ปี เพื่อเอาชนะบริษัทเหมืองทองอย่าง Pacific Rim Mining เรื่องราวของชาวบ้านเอลซัลวาดอร์ หรือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ” ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ The Water Defender เพื่อเป็นการบันทึกถึงการต่อสู้ทางกฎหมายอันยิ่งใหญ่ และยาวนาน ในการห้ามทำเหมืองแร่โลหะในพื้นที่ ที่ส่งผลเสียไปในวงกว้าง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน
หนังสือ The Water Defender กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดว่า บริษัทเหมือง Pacific Rim Mining เริ่มขุดสำรวจทองในเมือง San Isidro จังหวัด Cabanas ที่อยู่ห่างจากซันซัลวาดอร์ เมืองหลวงเอลซัลวาดอร์ไป 40 ไมล์ ซึ่งในเวลานั้น ยังไม่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว และการทำเหมืองทองนั้นขึ้นอยู่กับวัฏจักรของราคาทอง แต่ที่ผ่านมา ราคาทองจะอยู่ในขาลงมากกว่าขาขึ้น บริษัทเหมืองทองในเอลซัลวาดอร์ จึงมักจะหยุดกิจการเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปี 2002 ราคาทองที่ตกต่ำก็มาถึงจุดสิ้นสุด ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการแร่โลหะของจีน และอีกส่วนมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนต้องอาศัยทองเป็นสื่อการชาร์ตไฟฟ้า การขยับตัวของราคาทองพุ่งสูงขึ้น ทำให้บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในแคนาดา ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ หันมาตรวจสอบเหมืองแร่ที่ปิดตัวไปแล้ว ทำให้ประเทศที่ยากจนอย่างเอลซัลวาดอร์มาจนถึงฟิลิปปินส์ ถูกแรงกดดันจากประเทศตะวันตก และสถาบันระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ให้แก้ไขกฎหมายเหมืองแร่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศอีกด้วย
Thomas Shrake ผู้บริหารของ Pacific Rim Mining และเป็นนักธรณีวิทยา จึงเดินทางมาเอลซาวาดอร์ แล้วต่อไปเมือง San Isidro จังหวัด Cabanas เพื่อสำรวจแร่ทองในพื้นที่ดังกล่าว ที่เดิมเคยเป็นพื้นที่ในสัมปทานการสำรวจของบริษัท El Dorado แต่บริษัทนี้ได้มารวมกิจการกับ Pacific Rim Mining
ในปี 2002 ด้วยความสามารถด้านธรณีวิทยาของ Thomas Shrake จึงแจ้งกับ Pacific Rim Mining ว่า มีแร่ทองคำจำนวนมากกว่าที่คาดคิด ที่ฝังอยู่ใต้ไร่ข้าวโพดและทุ่งเลี้ยงสัตว์ของเมือง San Isidro พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นเขตสัมปทานการสำรวจเดิมของบริษัท El Dorado ดังนั้น ในช่วงปี 2002-2008 Pacific Rim Mining จึงอาศัยใบอนุญาตการขุดสำรวจแร่ทองของ El Dorado โดยทำการขุดหลุมสำรวจทั้งหมด 670 หลุม เพื่อเจาะหาตัวอย่างแร่ทอง และส่งไปตรวจสอบที่สหรัฐฯในการเจาะหาแร่ทองคำ ทาง Pacific Rim Mining ค้นพบแหล่งสำรองทองคำคุณภาพสูงในเมือง San Isidro จังหวัด Cabanas
เมื่อ Pacific Rim Mining เริ่มขุดสำรวจหาแร่ทองคำที่เมือง San Isidro กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ” ของเมืองนี้ มีผู้นำคือสองพี่น้อง Marcelo Rivera กับ Miguel Rivera ที่เดิมยังไม่สนใจเรื่องเหมืองแร่ แต่พวกเขาสนใจเรื่องผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ที่จะมาจากนโยบายพัฒนาเมือง ที่จะให้ท้องถิ่นเป็นแหล่งฝังกลบขยะของ เทศบาลกว่า 20 แห่งในจังหวัด Cabanas แหล่งฝังกลบขยะจะตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำของจังหวัด ที่ไหลไปรวมแม่น้ำใหญ่ของเอลซัลวาดอร์คือ Lempa River หลังจากเข้าใจถึงผลกระทบของการฝังกลบขยะที่มีต่อแหล่งน้ำ กลุ่มผู้พิทักษ์แม่น้ำก็เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการฝังกลบขยะ และเผชิญหน้ากับเทศมนตรีของเมืองชื่อ Jose Bautista สังกัดพรรคฝ่ายขวา National Republican Alliance หัวหน้าพรรคคืออดีตหัวหน้าหน่วยล่าสังหารผู้มีอิทธิพล เพื่อต่อสู้เรื่องการฝังกลบขยะนี้ด้วย
ในที่สุด การรณรงค์ของกลุ่มพิทักษ์แม่น้ำก็สามารถหยุดยั้งโครงการฝังกลบขยะ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์แม่น้ำคนหนึ่งบอกกับคนเขียนหนังสือ The Water Defenders ว่า “ช่วงที่เราต่อสู้เรื่องการฝังกลบขยะ เรายังไม่รู้อะไรเลยกับเหมืองแร่ เราได้พูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ในกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่า ให้สนใจเรื่องเหมืองแร่มากกว่าการฝังกลบขยะ” เพราะการทำเหมืองแร่มีสารเคมีที่ส่งกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทั้งการเกิดการเจ็บป่วยจากการได้รับสารพิษจากสินแร่ อาทิ สารเคมีจำพวกสารตะกั่วที่เป็นโลหะหนักที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ ไซยาไนด์ สารเคมีที่เหมืองทองทั่วโลกนิยมใช้ ที่มีความสามารถในการแทรกซึมสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสะสมในห่วงโซ่อาหาร ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้เมื่อเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก
สองพี่น้อง Marcelo Rivera และ Miguel Rivera ผู้เป็นสมาชิกคนสำคัญที่ต่อต้านโครงการฝังกลบขยะ พวกเขาตั้งศูนย์วัฒนธรรมและห้องสมุดของเมือง San Isidro โดยไปขอรับบริจาคหนังสือจากคนในเมือง พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เห็นถึงภัยจากการขุดสำรวจแร่ทองของเหมือง เช่น แหล่งน้ำใต้ดินแห้งลง ในปี 2004 และ 2005 ทั้งสองคนเดินทางไปดูเหมืองแร่ที่ฮอนดูรัส จึงได้เห็นภาพที่ป่าไม้ถูกทำลาย แม่น้ำแห้งลง เกิดโรคผิวหนัง เนื่องจากเหมืองแร่ใช้สารไซยาไนด์ ทำให้สองคนมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเหมืองทองในเอลซัลวาดอร์
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
กระทั้งปี 2005 เจ้าหน้าที่เอลซัลวาดอร์มีแนวคิดจะแก้กฎหมายเหมืองแร่ เพื่อให้การอนุญาตสัมปทานทำเหมืองแร่ ต้องการเอกสารน้อยลง แต่ในปี 2008 รัฐสภาปฏิเสธการแก้ไขกฎหมาย ในปี 2009 Pacific Rime Mining ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กล่าวหาว่า การห้ามการทำเหมืองของเอลซัลวาดอร์ เป็นการละเมิดกฎหมายเหมืองแร่ โดยเรียกค่าเสียหาย 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในที่สุด อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศปฏิเสธข้อเรียกร้องของ Pacific Rim Mining และยังให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางกฎหมายแก่เอลซัลวาดอร์ 8 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 13 ล้านดอลลาร์
เรื่องราวการต่อสู้ในเอลซัลวาดอร์ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ที่น้ำตามธรรมชาติสามารถดื่มกินได้ สูดอากาศและหายใจได้อย่างเต็มปอด ถือเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ และถึงแม้การต่อสู้ปกป้องแหล่งน้ำ ชาวเอลซัลวาดอร์ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย รวมทั้ง Marcelo Rivera ผู้นำของพวกเขาที่หายสาญสูญและถูกสังหารอย่างลี้ลับ การที่พวกเขามีการเมืองแบบประชาธิปไตย และมีความมั่นคงในอุดมการณ์ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อแรงกดขี่ ทำให้การต่อสู้ที่ใช้ระยะเวลายาวนานนับสิบปีในการรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่ประสบผลสำเร็จ เพราะในที่สุดรัฐสภาก็ผ่านกฎหมายโดยเอกฉันท์ ห้ามการทำเหมืองแร่ทั้งหมด นับว่าเอลซัลวาดอร์ได้รับชัยชนะเรื่องการห้ามทำเหมืองโลหะเป็นประเทศแรกของโลกก็ว่าได้
ที่มา https://thaipublica.org/2021/04/pridi242/