แนะนำสถาบันอนุญาโตตุลาการยอดนิยม ตอนที่ 1
กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากความสะดวกรวดเร็วและสะดวกสบาย ไม่ยืดเยื้อดังเช่นกระบวนการพิจารณาในศาล
การอนุญาโตตุลาการนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
- Ad Hoc Arbitration หรือกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเฉพาะกิจ เป็นกรณีที่คู่พิพาทประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทด้วยตนเองโดยไม่ใช่บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ
- Institutional Arbitration หรือการอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นกรณีที่คู่พิพาทนั้นตกลงกันใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ให้บริการการอนุญาโตตุลาการ
โดยการใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นจะมีความสะดวกสบายมากกว่า Ad Hoc ทั้งนี้เนื่องมาจากสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นจะมีข้อบังคับอนุญาโตตุลาการหรือที่เรียกว่า Arbitration Rule ของตนเองอยู่แล้ว รวมไปถึงมีการกำหนดค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการของสถาบัน โดยที่สถาบันจะเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งคู่พิพาทไม่จำเป็นต้องดำเนินการเอง จึงทำให้การใช้บริการสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นมีความสะดวกสบายกว่าเป็นอย่างมาก
บทความนี้จะเป็นการแนะนำให้รู้จักกับสถาบันอนุญาโตตุลาการที่เป็นที่นิยมทั่วโลก โดยเมื่ออ้างอิงจากสถิติเมื่อปี 2018 ของ Queen Mary University of London แล้วนั้น สถานที่เพื่อการอนุญาโตตุลาการยอดนิยมทั้งหมด 5 ที่ ได้แก่ ลอนดอน ปารีส สิงคโปร์ ฮ่องกง และเจนีวา[1] และสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ได้รับความนิยมทั้งหมด 5 อันดับคือ ICC, LCIA, SIAC, HKIAC และ SCC
- สภาหอการค้านานาชาติ – International Chamber of Commerce (ICC)
ICC ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1919 หรือเมื่อ 102 ปีที่แล้ว มีชื่อเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า Chambre de commerce international โดยสภาหอการค้านานาชาตินั้นถือเป็นองค์กรทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก[2] โดยมีสมาชิกเป็นองค์กรทางธุรกิจมากกว่า 45 ล้านรายจากประเทศกว่าร้อยประเทศทั่วโลก โดยภารกิจหลักของ ICC นั้นคือให้การสนับสนุนทางการค้า รวมถึงสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ ICC ยังเป็นผู้กำหนด INCOTERMS[3] ซึ่งใช้ในการซื้อขายและส่งมอบสินค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
ข่าว/บทความ ที่เกี่ยวข้อง
ICC นั้นมีบทบาทที่สำคัญในกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยผ่านทางศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC หรือที่เรียกว่า International Court of Arbitration ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1923 และถือเป็นสถาบันทางการอนุญาโตตุลาการชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกโดยได้มีการระงับข้อพิพาทไปแล้วมากกว่า 24,000 คดีตั้งแต่ก่อตั้งมา[4] และยังคงได้รับความนิยมอย่างมากตลอดมา
จากสถิติของ Queen Mary University of London เมื่อปี 2018 ได้ระบุว่า จากผลสำรวจนั้น ICC ได้รับความนิยมมากสูงที่สุดถึง 77%[5] และถึงแม้ว่าในปี 2019 นั้นจะได้รับคะแนนโหวตที่ 71%[6] ก็ยังถือเป็นสถาบันทางการอนุญาโตตุลาการที่ได้รับความนิยมสูงสุดเช่นเดิม
สำหรับค่าใช้จ่ายในการอนุญาโตตุลาการที่ ICC International Court of Arbitration นั้นจะมีค่า ธรรมเนียมเริ่มต้น หรือ Filing Fees ที่ USD 5,000[7] และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามข้อบังคับของ ICC ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ที่พิพาท รวมไปถึงจำนวนอนุญาโตตุลาการด้วย[8]
- ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน – London Court of International Arbitration (LCIA)
LCIA นั้นตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1883 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาททางการค้านานาชาติที่เกิดขึ้นภายในเมือง[9]
LCIA นั้นเป็นหนึ่งในสถาบันอนุญาโตตุลาการชั้นนำระหว่างประเทศสำหรับการระงับข้อพิพาททางการค้า ทั้งนี้นอกเหนือจากการให้บริการทางกระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว LCIA ยังให้บริการการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution – ADR) อื่น ๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพและเป็นกลางโดยไม่คำนึงถึงสถานที่เกิดกรณีพิพาท ไม่ว่าจะเป็น Common Law หรือ Civil Law ก็ตาม
ทั้งนี้ ลักษณะของความเป็น “นานาชาติ” ของ LCIA นั้นจะเห็นได้จากการที่ 80% ของคู่พิพาทฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้าใช้บริการของ LCIA นั้นไม่ได้มีสัญชาติอังกฤษ นอกจากนี้ LCIA ยังสามารถเข้าถึงอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงผู้ประนอมที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญจากทั่วโลกอีกด้วย[10]
ทั้งนี้ LCIA นั้นได้รับความนิยมรองลงมาจาก ICC โดยอ้างอิงจากสถิติของ Queen Mary University of London จะเห็นว่า LCIA ได้รับความนิยมอยู่ที่ 51% ในปี 2018[11] และ 32% ในปี 2019[12]
สำหรับค่าใช้จ่ายของ LCIA นั้นจะคิดตามระยะเวลารายชั่วโมงของกระบวนการอนุญาโตตุลาการทั้งหมด โดยค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนสำหรับการยื่นขอเริ่มดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ปัจจุบันตั้งไว้ที่ £1,950[13] และมีอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บโดยอนุญาโตตุลาการเป็นอัตราไม่เกิน £500 ต่อชม. รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย[14]
ทั้งนี้ค่าบริการของ LCIA นั้นจะไม่ได้คิดตามทุนทรัพย์ที่พิพาท เพื่อให้มั่นใจคู่พิพาทนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงมากที่สุดนั่นเอง โดยค่าบริการเฉลี่ยของ LCIA นั้นอยู่ที่ USD 97,000 และใช้เวลาโดยประมาณ 16 เดือน[15]
[1] http://www.arbitration.qmul.ac.uk/media/arbitration/docs/2018-International-Arbitration-Survey—The-Evolution-of-International-Arbitration.PDF
[2] https://iccwbo.org/about-us/
[3] Incoterms มาจากคำว่า International Commercial terms คือข้อกำหนดในการส่งสินค้า หรือเงื่อนไขในการส่งสินค้าระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทราบถึงความเขตความรับผิดชอบและความรับผิดต่าง ๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
[4] สถิติปี 2005
[5] Queen Mary University of London. 2018 International Arbitration Survey P.13
[6] Queen Mary University of London. International Arbitration Survey – Driving Efficiency in International Construction Disputes P 11
[7] https://iccwbo.org/dispute-resolution-services/arbitration/costs-and-payments/
[8] ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ https://iccwbo.org/dispute-resolution-services/arbitration/costs-and-payments/cost-calculator/ และ https://iccwbo.org/dispute-resolution-services/arbitration/costs-and-payments/
[9] https://www.lcia.org/LCIA/history.aspx
[10] https://www.lcia.org/LCIA/introduction.aspx
[11] Queen Mary University of London. 2018 International Arbitration Survey P.13
[12] Queen Mary University of London. International Arbitration Survey – Driving Efficiency in International Construction Disputes P 11
[13] https://www.lcia.org//Dispute_Resolution_Services/schedule-of-costs-lcia-arbitration-2020.aspx
[14] Ibid.
[15] https://www.international-arbitration-attorney.com/london-court-international-arbitration-lcia/