โปรดติดตามตอนต่อไป! คดี “เหมืองทองอัครา” เลื่อนตัดสินคำชี้ขาดเป็น 31 มค 65 แย้มเตรียมเปิดเหมืองทอง “ชาตรี” สิ้นปีนี้
ดูท่าจะไม่จบลงตามกำหนดการที่หลายฝ่ายวิเคราะห์เอาไว้แล้วสำหรับข้อพิพาทเหมืองทองอัคราระหว่างประเทศไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated) บริษัทแม่ของ อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุด กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม. 44 สั่งปิดการดำเนินงานเหมืองทองทำให้บริษัทได้รับความเสียหายนั้น
ล่าสุดจากการอ้างอิงของสำนักข่าวหลายค่ายในประเทศไทย ต่างยืนยันตรงกันว่ารัฐบาลไทย และบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ได้รับอนุญาตจากคณะอนุญาโตตุลาการที่พิจารณาข้อพิพาทนี้ในการเลื่อนคำตัดสินออกไปก่อนจากเดิมที่เตรียมเปิดเผยคำชี้ขาดในวันที่ 31 ตุลาคม นี้ ไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 ตามที่มีการรายงานของการเจรจาประนอมข้อพิพาทเพิ่มเติมของทั้งสองฝ่ายก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกทั้งในรูปแบบอนุญาโตตุลาการ หรือการประนอมข้อพิพาทนั้นจะแตกต่างออกจากระบวนการของศาล ตรงที่มีความยืดหยุ่น เป็นกระบวนการที่คู่กรณีจะเริ่มและสิ้นสุดกระบวนการเมื่อใดก็ได้ เพื่อมุ่งหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายต้องการนั้น เป็นไปได้ที่การนำเสนอคำชี้ขาดจะเลื่อนออกไปได้ หากทั้งสองฝ่ายต่างเห็นสมควรร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม จากคำแถลงของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ผ่านเว็บไซต์ของตนเองเกี่ยวกับกรณีพิพาทดังกล่าวนั้น มีรายละเอียด และความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีพิพาทดังกล่าวว่า ทางบริษัทฯและรัฐบาลไทยได้ร่วมกันร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการถือคำชี้ขาดไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายขยายเวลาในการสรุปการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทร่วมกัน รวมถึง ในเดือนธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ทางบริษัทฯ อยู่ในกระบวนการปรับปรุง เพื่อเตรียมกลับมาเปิด เหมืองทองคำ “ชาตรี” อีกครั้ง ด้วยการเปิดใช้งานการออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรม (MPL) และต่ออายุสัญญาเช่าการขุดที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานต่อไป
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดนี้อาจะสรุปได้ว่า บมจ.อัครา มีความประสงค์จะกลับมาดำเนินธุรกิจทำเหมืองแร่พื้นที่เดิมต่อ ซึ่งทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แย้มไว้ว่า ผู้ประกอบการเหมืองแร่นั้น สามารถดำเนินการธุรกิจได้ แต่กระนั้นจำต้องดำเนินการตามเงื่อนไขตาม พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ซึ่งจะมีความเข้มงวดในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น
สุดท้ายแล้วไม่ว่าคำขี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการในกรณีข้อพิพาทเหมืองทองอัครานี้จะมีผลออกมาในรูปแบบใดก็ตาม THAC เชื่อว่าประเด็นนี้จะต้องเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการเรียนรู้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำสองอีกแน่นอน
อ่านข่าวเก่าในประเด็นข้อพิพาทเหมืองทองอัคราได้ที่นี่ หรือสรุปเรื่องราวได้ที่นี่
ที่มา สำนักข่าว เดลินิวส์ และเว็บไซต์คิงส์เกต