อวสาน! ตำนานโฮปเวลล์ มหากาพย์คดีกว่า 30 ปี
สัปดาห์นี้คงไม่มีข่าวไหนที่มาแรงไปกว่าข่าวของ คดีโฮปเวลล์ ที่เพิ่งปิดตำนานมหากาพย์กว่า 30 ปี จนมาถึงบทสรุปกันเสียที โดยศาลปกครองสูงสุดนั้นมีคำสั่งให้ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ส่งผลให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องคืนค่าตอบแทนที่ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด ชำระ และ ใช้เงินในการก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานของคดี จนหลาย ๆ คนอาจจะเกิดไม่ทันที่มาของคดีนี้ วันนี้ สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC จึงเรียบเรียงเรื่องราว Timeline แบบกระชับ ๆ มาให้อ่านกัน
Timeline คดี โฮปเวลล์
- 16 ตุลาคม 2532 กระทรวงคมนาคมได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเสนอโครงการลงทุน ก่อสร้างทางรถไฟและทางรถยนต์ยกระดับ โดยให้ได้รับสัมปทานดำเนินการระบบรถไฟชุมชนและสัมปทานสำหรับทางรถยนต์ในเขตของทางรถไฟ ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวคือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง)
- 25 กรกฎาคม 2533 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจลงนามในสัญญาร่วมกับกระทรวงคมนาคม และให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เข้าดำเนินการก่อสร้างตลอดจนพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
- 9 พฤศจิกายน 2533 กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
รายละเอียดของสัญญา คือ
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสิทธิใช้ประโยชน์จากอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ของระบบตลอดอายุสัมปทาน/ มีสิทธิเก็บรายได้จากระบบทางด่วนยกระดับรถไฟชุมชนและทรัพย์สินเชิงพาณิชย์อื่นๆ ในระบบ โดย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดในการออกแบบก่อสร้าง ประกอบการ และดูแลบำรุงรักษาระบบ ยกเว้นทางรถไฟยกระดับของการรถไฟแห่งประเทศไทย
สัญญามีผลใช้บังคับวันที่ 6 ธันวาคม 2534 มีกำหนด 30 ปี นับแต่วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ
ระยะเวลาก่อสร้างมีกำหนด 8 ปี นับแต่วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ
ตลอดระยะเวลาการดำเนินการที่ผ่านมาก่อนการเลิกสัญญา (ตั้งแต่ปี 2533 – 2540)
ผลการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปร้อยละ 5.03 ของทั้งหมด ทั้งที่ความเป็นจริงควรมีผลความคืบหน้าประมาณร้อยละ 67.67 อาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าวกระทรวงคมนาคมจึงคาดหมายว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดไม่สามารถที่จะดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาได้ จึงเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีว่าควรบอกเลิกสัญญาสัมปทาน
- 23 ธันวาคม 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการบอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
- 27 มกราคม 2541 กระทรวงคมนาคมมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและห้ามมิให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ในพื้นที่โครงการ
- 30 มกราคม 2541 และ 2 กุมภาพันธ์ 2541 บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีหนังสือตอบกลับว่า การบอกเลิกสัญญานั้นต้องมีกระบวนการและปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญา กระทรวงคมนาคมจึงปฏิบัติผิดสัญญาต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้ง บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีสิทธิในการครอบครองพื้นที่สัมปทานต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
- 25 กุมภาพันธ์ 2541 กระทรวงคมนาคมแจ้งยืนยันการบอกเลิกสัญญา และห้ามมิให้ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใดๆ ในเขตสัมปทาน และให้ขนย้ายเครื่องมือ เครื่องจักร ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปให้พ้นจากพื้นที่เขตสัมปทานภายใน 15 วันนับจากได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา
- 24 พฤศจิกายน 2547 ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทเข้าสู่ กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
- 30 กันยายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าตอบแทนให้ บริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด จำนวนประมาณ 11,800 ล้านบาท
- 13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
- 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
- 18 กรกฎาคม 2562 กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบอำนาจให้อัยการสำนักงานคดีปกครอง ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
- 23 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
- 18 ตุลาคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ต่อศาลปกครองกลาง กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดต่อกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งทำให้บริษัทโฮปเวลล์ฯ ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าทำสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ (แต่เนื่องจากจะมีการเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ฯ อีกครั้ง จึงได้ยุติเรื่องที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเอาไว้ก่อน)
- กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผุ้ร้องทั้งสอง) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง
- 3 กรกฎาคม 2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา
โดยประเด็นนี้ ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ถือว่าถึงที่สุดแล้วโดยจุดยืนของกระทรวงคมนาคม แม้จะน้อมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขณะเดียวกันก็จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาคดีเรื่องนี้ต่อไป ส่วนการบังคับคดีที่จะมีขึ้นในอนาคตทางกระทรวงคมนาคมก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่