ไทยผงาดขึ้นอันดับ 9 เจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก “จุรินทร์” ชูระงับข้อพิพาทออนไลน์ หนึ่งในกุญแจสำคัญ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในนามตัวแทนรัฐบาลไทยผ่านคำกล่าวปราศัยในงานเปิดตัวดัชนีนวัตกรรมโลก “Global Innovation Index (GII 2021) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) โดยในปีนี้ประเทศไทยมีผลงานที่โดดเด่นหลากหลายด้าน เช่น การคว้าอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศที่มีพัฒนาการ และที่สำคัญคือการก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด
ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกได้ถึงความสำเร็จในผลผลิตด้านความรู้ ความสามารถ และการสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของแต่ละประเทศทั่วโลก โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวชี้วัดความสามารถในขีดความสามารถนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศในการก้าวผ่านกลุ่มประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง โดยดำเนินการส่งเสริม สร้างสรรค์ รวมถึงการคุ้มครอง บังคับสิทธิ์ให้กับบรรดานักนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการในทุกขนาดของธุรกิจ ตลอดจนการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกด้วย
นโยบายของการพัฒนาที่มั่นคง และยั่งยืนภายใต้การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์นั้นได้ให้ความสำคัญด้านทรัพยสินทางปัญญาเป็นอย่างมาก และได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญ 7 ด้าน ได้แก่
1. การเร่งรัดการขึ้นทะเบียนสินค้า GI จนครบทั้ง 77 จังหวัด
2. นำระบบจดทะเบียนออนไลน์ (e-Filing) มาใช้กับทุกงานบริการ
3. ออกหนังสือสำคัญสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate)
4. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบบ Fast Track จากเดิม 12 เดือน เหลือเพียง 6 เดือน
5. ลดระยะเวลาการต่ออายุเครื่องหมายการค้าจากเดิม 60 วัน เหลือ 60 นาที
6. ลดระยะเวลาการจดแจ้งลิขสิทธิ์ จาก 30 วัน เหลือเพียง 3 วัน
7. จัดทำบริการแจ้งเตือนข้อมูลด้านสิทธิบัตรที่ใกล้หมดอายุ เพื่อผู้ผลิตยาไทยจะได้เตรียมการผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วเป็นการล่วงหน้าได้
และ 8. การให้บริการประนอมข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) ซึ่งหมายถึงกลไกในการแก้ไขปัญหา หรือข้อขัดแย้งผ่านระบบดิจิทัล พร้อมเครื่องมืออำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ระบบการนัดหมายพิจารณาข้อพิพาท การแนบเอกสาร หลักฐานต่างๆ ที่รองรับในทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ซึ่งทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาผ่านการพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทออนไลน์ (ODR) โดยทางสถาบันได้มีระบบการระงับข้อพิพาทออนไลน์ที่รองรับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
1. ระบบ Talk DD ที่คู่พิพาทสามารถเริ่มดำเนินคดี และสิ้นสุดได้ผานระบบออนไลน์ ที่ใช้งานง่าย สะดวก จบข้อพิพาทได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น การเจรจาต่อรอง การประนอมข้อพิพาท หรือการอนุญาโตตุลาการ
2. ระบบ AMO 247 เป็นระบบที่ระงับข้อพิพาทออนไลน์ในกรณีของการอนุญาโตตุลาการ โดยเหมาะแก่ข้อพิพาทที่มีความซับซ้อน เช่น ในด้านการเริ่มคดี คำตอบรับ คำคัดค้าน เป็นต้น ให้เป็นไปอย่างง่าย ผ่านการส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยคู่พิพาทไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสถาบันฯ ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ การรายงานจาก GII 2021 ยังระบุว่า ขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาด้านนวัตกรรม และระบบที่ให้บริการข้อมูล และคำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเวทีดังกล่าว และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไป