ไม่มีกำหนด!? ‘ไทย-คิงส์เกต’ ขอเลื่อนแถลงคำชี้ขาดของคณะ ‘อนุญาโตฯ’ ออกไปอย่างน้อย 6 เดือน
บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เจ้าของโครงการเหมืองทองอัครา ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับบริษัท คิงส์เกต ที่อยู่ระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น มีเหตุจำเป็นที่ต้องต้องเลื่อนอ่าน และแถลงคำชี้ขาดออกไปอีกครั้ง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาในรายละเอียดอื่นๆ เพื่อหาจุดที่ลงตัวร่วมกัน
อ่านข่าวย้อนหลังคดีเหมืองทองอัครา EP1 (คลิ๊ก)
อ่านข่าวย้อนหลังคดีเหมืองทองอัครา EP2 (คลิ๊ก)
อ่านข่าวย้อนหลังคดีเหมืองทองอัครา EP3 (คลิ๊ก)
อ่านข่าวย้อนหลังคดีเหมืองทองอัครา EP4 (คลิ๊ก)
จากการรายงานของแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในข้อพิพาทระหว่างประเทศดังกล่าวว่า จากเดิมที่ทุกฝ่าย รวมถึงสำนักข่าวทั้งใน และต่างประเทศที่ติดตามความเคลื่อนไหวของประเด็นนี้ เข้าใจว่าวันที่ 31 มกราคม คือวัน “ชี้ชะตา” ถึงบทสรุปของข้อพิพาทดังกล่าว แต่ล่าสุดกลับได้ข้อสรุปว่าทั้งสองฝ่ายยังคงต้องการเวลาในการเจรจารายละเอียดต่างๆเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรือมากกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนอ่านคำชี้ขาดออกไปก่อน ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการอธิบายถึงรายละเอียดดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงร่วมกันในการขยายระยะเวลาในการแถลงคำชี้ขาดออกไปนั้น แหล่งข่าวหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นการเจรจาที่ทางรัฐบาลไทยอนุมัติให้ทางบริษัท คิงส์เกต ได้กลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีจำนวน 4 แปลง อีกครั้ง พร้อมทั้งในดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นทั้งการดำเนินงานภายในประเทศ และเป็นไปตามข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA)
รายละเอียดการเลื่อนแถลงคำชี้ขาดออกไป ยังหมายรวมถึงการที่คณะกรรมการแร่ กรมทรัพยากรธรณี ต่ออายุประทานบัตรให้กับบริษัท อัคราฯ เพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574 และต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมออกไปอีก 5 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2570
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในการขยายเวลาเจรจา เพื่อการประนอมข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัทคิงส์เกต มีหลายประเด็นที่ต้องเจรจา และสร้างข้อตกลงที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน และที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มของการเจรจาไปในทิศทางที่ดี ซึ่งการเลื่อนแถลงคำชี้ขาดนั้น จะอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ให้เงินทุนต่างๆ ให้มีเวลาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกระบวนการทางกฎหมายเพื่อระงับปัญหาจำนวนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงปฏิบัติการด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือความยืดหยุ่นของกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ที่สามารถผ่อนปรน และมอบอิสระ หรือความคล่องตัวแก่คู่พิพาททั้งสองฝ่ายว่ามีความต้องการในการดำเนินการงับข้อพิพาทกันอย่างไร และรูปแบบใด แต่กระนั้นเสียงจากภาคประชาชนในพื้นที่ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งการอนุมัติเปิดเหมืองแร่ และเหมืองทองใหม่อีกครั้งจำเป็นต้อง ให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ให้ได้ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าการแถลงคำชี้ขาดจะถูกเลื่อนออกไป แต่แน่นอนว่าข้อพิพาทเหมืองทองอัคราจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการเรียนรู้ในด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก ทั้งด้านการอนุญาโตตุลาการ หรือการประนอมข้อพิพาท ต่อไป สถาบันอนุญาโตตุลาการ จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาติดตามข้อพิพาทนี้ อย่างใกล้ชิดจนกว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดลงร่วมกัน