การใช้ประโยชน์ความตกลงและกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียน
ในปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น โดยได้มีการลงนามในความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งระดับภูมิภาคหรือระดับระหว่างประเทศอันรวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่บัญญัติ โดยองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะ เช่น องค์กรศุลกากรโลก หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เป็นต้น
โดยในส่วนขององค์การการค้าโลกก็มีกฎเกณฑ์เฉพาะ คือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า(TFA) อันเป็นที่มาของกรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (ATFF)
ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้นซึ่งบ่งชี้ได้จากการถูกกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์และมีการกำหนดนโยบายด้านนี้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีการปรับปรุงนโยบายและกฎเกณฑ์สำคัญให้สอดคล้องกับหลักการที่ความตกลงระหว่างประเทศที่ได้มีการกำหนดขึ้นใหม่และเป็นไปตามหลักการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้จากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายศุลกากรที่นำหลักการในสนธิสัญญาเกียวโตมาใช้หรือการออกกฎเกณฑ์เพื่อมารับรองเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน เป็นต้น
แต่กฎหมายบางเรื่องยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขของการใช้กฎหมายนั้นเพื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้จะมีกฎหมายรับรองแต่ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง โดยแต่ละประเทศมีการปรับปรุงกระบวนการร่างกฎหมายให้เกิดความโปร่งใสด้วยการเพิ่มขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎหมาย โดยการกำหนดให้มีการทำประชาพิจารณ์เป็นไปตามหลักการสากลที่ดี ประกอบกับมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่กฎหมายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเป็นไปตามกรอบความตกลงของอาเซีย
โดยการระงับข้อพิพาทก็ถือเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากการระงับข้อพิพาทจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาการประเมินปัญหาต่างๆ ทางการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้น รวมถึงเสนอกลไกการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชน และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรมและความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง การยึดหลักธรรมาภิบาลการส่งเสริมให้มีกฎระเบียบและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคเพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐนั้น “อาเซียนได้มีการวางกฎเกณฑ์ในเรื่องของการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจอย่างสันติวิธีไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสอดรับกับกฎบัตรของสหประชาชาติโดยอ้างอิงจากหลักการระงับข้อพิพาทตามกรอบขององค์การการค้าโลก แต่ยังไม่ปรากฏการปรับใช้จริงให้เห็นเป็นรูปธรรมในส่วนการระงับข้อพิพาทของเอกชน การระงับข้อพิพาทจึงขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายในของแต่ละประเทศ”
ทั้งนี้ ข้อริเริ่มด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าซึ่งเน้นทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออกการลดผลกระทบจาก ข้อจำกัดทางการค้าและต้นทุนที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีและการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ
ที่มา : https://www.posttoday.com/aec/scoop/662788